ศาลอนุญาตฝากขัง "เปรมชัย" ผู้บริหารอิตาเลี่ยนไทย กับ วิศวกร รวม 15 ราย ด้านรองผบช.น.ค้านประกัน "เปรมชัย" เหตุโทษสูง กลัวหลบหนี และไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ล่าสุดศาลไม่ให้ประกัน ส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
วันนี้ (16 พ.ย.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พ.ต.ท.อำนาจ นาควิจิตร พนักงานสอบสวนสน.บางซื่อ ได้นำตัว 1.นายสุชาติ ชุติปภากร อายุ 64 ปี 2.นายพิมล เจริญยิ่ง อายุ 85 ปี 3.นายธีระ วรรธนะทรัพย์ อายุ 59 ปี 4.นายสุพล อัครอารีสุข อายุ 51 ปี 5.นายชัยณรงค์ เสียงไพรพันธ์ อายุ 43 ปี 6.นายอภิชาต รักษา อายุ 38 ปี 7.นายเปรมชัย กรรณสูต หรือ "เสี่ยเปรมชัย" ผู้บริหารบริษัทอิตาเลี่ยนไทย จำกัด อายุ 71 ปี 8.นายเกรียงศักดิ์ กอวัฒนา อายุ 65 ปี 9.นายชวน หลิงจาง อายุ 42 ปี 10.นายอนุวัต คันสร อายุ 53 ปี 11.นายธิปัตย์ รัตนวงศา อายุ 42 ปี 12.นายปฏิวัติ ศิริไทย อายุ 53 ปี 13.นายกฤตภัฏ ปล่องกระโทก อายุ 51 ปี 14.นายสมชาย ทรัพย์เย็น วิศกรผู้ควบคุมงาน และ 15.เป็นนิติบุคคล ซึ่งผู้ต้องหาที่เป็นผู้บริหารบริษัทและวิศวกร มาฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
คำร้องระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 เวลาประมาณ 13.20 น.ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวโดย มีจุดศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมาร์ แรงสั่นสะเทือนถึงประเทศไทยและในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลทำให้อาคารก่อสร้าง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่).บริเวณถนนกำแพงเพชร.2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีความสูง 31 ชั้นทรุดตัวถล่มลงมา เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และ เสียชีวิตจำนวนมาก กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งที่ 192/2568 ลงวันที่ เม.ย. 2568 ทำการสอบสวนในคดีดังกล่าว จึงได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ตลอดมาเมื่อพิจารณาแล้วในคดีนี้ มีกลุ่มผู้ต้องหาที่เป็นผู้กระทำความผิดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบควบคุมหรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแชมหรือรื้อถอน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือ วิธีการอันพึงกระทำ มีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้กระทำความผิด ดังนี้
กลุ่มบริษัทผู้ออกแบบ กลุ่มที่ 1. บริษัท ฟอรัม อาร์คิเทค จำกัด โดย นายสุชาติ ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล ปรากฏตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เป็นกลุ่มร่วมค้า บริษัท ฟอรัมอาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) เป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างออกแบบ ตามสัญญาที่ /2562 ในฐานะผู้ให้บริการ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 จึงเป็นผู้ลงนามในสัญญาด้วยตนเอง จึงเป็นการกระทำความผิดทั้งในฐานะนิติบุคคล และ ในฐานะส่วนตัว
2 .บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัดกลุ่มผู้ลงนามใบแบบแปลน ซึ่งเป็นวิศวกรโครงสร้าง มีรายชื่อดังนี้
นายพิมล ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นที่ปรึกษาของบริษัท ไมนฮาร์ท ระดับวุฒิวิศวกรไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบโดยตรง แต่ได้ตรวจสอบแบบวิศวกรรมโครงสร้างที่ทีมงานทำเสร็จแล้วเห็นว่าถูกต้องตามหลักวิศวกรรม จึงได้ลงลายมือชื่อในแบบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และลงลายมือชื่อจริงในรายการคำนวณร่วมกับทีมงาน การออกแบบวิศวกรรมโครงสร้างโครงการนี้ทำขึ้นระหว่างเดือน ต.ค. 2561 ถึง ก.ย. 2562 ที่บริษัท ไมนฮาร์ท ได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นที่ปรึกษาประมาณ 150,000 บาท จากบริษัทไมนฮาร์ท
นายธีระ ผู้ต้องหาที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลปรากฏตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นวิศวกรโครงสร้างผู้ดำเนินการเขียนแบบแปลนฉบับสมบูรณ์ ตามสัญญาจ้างออกแบบ จึงเป็นการกระทำความผิดทั้งในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว
นายสุพล ผู้ต้องหาที่ 4 เป็นวิศวกรโครงสร้างผู้ดำเนินการเขียนแบบแปลนฉบับสมบูรณ์ ตามสัญญาจ้างออกแบบ
นายชัยณรงค์ ผู้ต้องหาที่ 5 เป็นวิศวกรโครงสร้างผู้ดำเนินการเขียนแบบแปลนฉบับสมบูรณ์ ตามสัญญาจ้างออกแบบ
นายอภิชาติ ผู้ต้องหาที่ 6 เป็นวิศวกรโครงสร้างผู้ดำเนินการเขียนแบบแปลนฉบับสมบูรณ์ตามสัญญาจ้างออกแบบ มีพฤติการณ์กล่าวคือ บริษัทผู้ออกแบบ.ต้องปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงในการควบคุมงานโดยมีลำดับขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนที่ระบุไว้ในสัญญาจะต้องปฏิบัติตาม TOR ต้องตรวจเงื่อนไขการออกแบบ เช่น ใช้น้ำหนักที่กระทำ กับตัวอาคารที่จะใช้ในการออกแบบถูกต้องหรือไม่ เช่น การคิดแรงลมที่กระทำกับตัวอาคารถูกต้องหรือไม่ การคิดแรงแผ่นดินไหวที่กระทำกับตัวอาคารถูกต้องหรือไม่ ซึ่งอาจใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ รายการคำนวณถูกต้องหรือไม่ และเป็นไปตามกฎกระทรวงหรือไม่ ซึ่งถ้าดูใน TOR และข้อกำหนดจะต้องระบุการออกแบบอาคารให้สามารถรับแรง แผ่นดินไหวและแรงลมที่จะมากระทำต่อตัวอาคารได้ปริมาณเท่าใด แต่ปรากฏว่าผลการตรวจแบบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตรวจสอบ ผลการตรวจสอบเบื้องต้นปรากฏว่ามีการคำนวณต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้นการออกแบบจึงไม่ได้มาตรฐาน กลุ่มที่ กลุ่มบริษัทผู้รับจ้างควบคุมการก่อสร้าง บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด โดย นายปฏิวัติ ผู้ต้องหาที่ 12 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจสมาชิกลำดับที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้นำกลุ่มนิติบุคคลร่วมค้า เป็นผู้รับผิดชอบหลัก นิติบุคคลร่วมค้า PKW ทั้ง 3 บริษัท ตกลงรับผิดชอบร่วมกันต่อผู้ว่าจ้างทุกกรณี.ได้มอบอำนาจให้ นายปฏิวัติ ศิริไทย เป็นผู้ลงนามแทน ในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการ และ ผู้รับมอบอำนาจ จึงเป็นการกระทำความผิดทั้งในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว
2.บริษัท เคพี.คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด โดย นายกฤตภัฏ ผู้ต้องหาที่ 13 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจผูกพัน มอบอำนาจให้นายปฏิวัติ เป็นผู้ลงนามแทนในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง พบรายชื่อผู้มีอำนาจแทน กลุ่มนิติบุคคลร่วมค้า จำนวน 3 ราย คือ 1 นายปฏิวัติ 2 นายพลเดช 3 นายกฤตภัฏ ทำหน้าที่เป็น ผู้ประสานงานโครงการ ออกให้เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 และผู้รับมอบอำนาจฯ จึงเป็นการกระทำความผิดในฐานะนิติบุคคล และความผิดส่วนตัว
บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนซ์ จำกัด โดยนายพลเดช และนางประณีต เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน บริษัท ว.และสหายได้ลงรับผิดรวบกันมอบอำนาจให้นายปฏิวัติเป็นผู้ลงนามแทนในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง โดยพบหนังสือข้อตกลงนิติบุคคลร่วมค้า มีรายชื่อผู้มีอำนาจแทน 3 ราย คือ 1 นายปฏิวัติ 2 นายพลเดช 3 นายกฤตภัฏ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงสร้างและผู้รับมอบอำนาขจ จึงเป็นการกระทำผิดในฐานะนิติบุคคลและส่วนตัว และได้ลงชื่อในฐานะนิติบุคคลของบริษัท ว. และสหาย ในหนังสือข้อตกลงกลุ่มนิติบุคคลการค้า ให้นายพลเดชมีชื่อเป็นผู้มีอำนาจแทนกลุ่มนิติบุคคลร่วมค้า PKW จึงเป็นการกระทำผิดในฐานะนิติบุคคล และกิจการร่วมค้า PKW นายสมชายเป็นผู้จัดการโครงการในฐานะส่วนตัว ก่อนเกิดเหตุนายกฤตภัฏ จึงเป็นหนึ่งในกิจการร่วมค้า pkw ได้ชวนนายสมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกรผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นทีมงานควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุ นายสมเกียรติจึงได้มอบเอกสารรับรองวุฒิวิศวกรของตนให้นายกฤตภัฏ เพื่อนำเสนอรับงานในนามกิจการร่วมค้า PKW หลังจากได้รับคัดเลือก ให้เป็นผู้ควบคุมงานแล้ว กิจการร่วมค้า PKW ได้แจ้งชื่อนายสมเกียรติเป็นบุคลากรที่จะเข้าปฏิบัติงานควบคุมตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาว่าจ้าง แต่เมื่อเข้าปฏิบัติงานจริง ไม่ได้มีนายสมเกียรติเข้าควบคุมงานอย่างใด และระหว่างก่อสร้างเมื่อต้องปรับแบบ เพื่อการก่อสร้าง แล้วจำเป็นต้องมีวิศวกรทีมีวุฒิระดับวุฒิวิศวกร ลงนาม ได้ใช้ชื่อของนายสมเกียรติโดยไม่ถูกต้อง การปลอมลายมือชื่อของกลุ่มวิศวกรควบคุมงานนั้นไม่เป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการอันพึงกระทำ เป็นความผิดตามกฎหมาย
กลุ่มบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง 1.บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด โดยมีนายเปรมชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจผูกพัน ได้ทำสัญญาจ้างก่อสร้าง ระหว่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินโดยนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น เป็นผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้า Itd-crec ซึ่งอิตาเลียนไทย และไชน่า เรลเวย์ ได้ทำสัญญากิจการร่วมค้า ก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และมอบหมายให้บริษัท อิตาเลียนไทย เป็นบริษัทหลัก มีอำนาจกระทำการแทนกิจการร่วมค้า โดยมอบหมายให้นายเกรียงศักดิ์ เป็นผู้มีอำนาจแทนบริษัทหลัก นายเปรมชัย ตัวแทนผู้มีอำนาจ บริษัท อิตาเลียนไทย และนาย ชวน หลิงจาง ตัวแทนไชน่าเรลเวย์ ได้มอบหมายให้นายเกรียงศักดิ์ ทำหน้าที่แทนกิจการร่วม Itd-crec เป็นการกระทำผิดในฐานะนิติบุคคล และความผิดส่วนตัว
บริษัท ไชน่า เรลเวย์ no 10 โดยนายชวน หลิงจาง ผู้ต้องหาที่ 9 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจผูกพันบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ได้มอบอำนาจให้นายเกรียงศักดิ์กระทำการแทนในกิจการร่วมค้า จึงเป็นการกระทำผิดในฐานะนิติบุคคล และความผิดส่วนตัว
กิจการร่วมค้า Itd-crec โดยนายเกรียงศักดิ์ ผู้ต้องหาที่ 8 เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท อิตาเลียนไทย และ ไชน่าเรลเวย์ สำหรับการจ้างก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยนายเกรียงศักดิ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทหลักจึงเป็นความผิดในฐานะนิติบุคคล และความผิดส่วนตัว
กลุ่มวิศวกรโครงสร้าง นายอนุวัติ ผู้ต้องหาที่ 10 เป็นวิศวกร Structure Engineer ของไชน่าเรลเวย์ เริ่มเป็นผู้จัดการโครงการเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 มีหน้าที่ลงนามเอกสารต่าง ๆ รายงานความคืบหน้าและขออนุมัติวัสดุอุปกรณ์และงานธุรการที่เกี่ยวข้อง แต่นายอนุวัติได้ลาออกจากบริษัทไชน่าเรลเวย์ สิ้นสุดการเป็นผู้จัดการเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2567 เนื่องจากมีอาการปวดหลังขณะที่การก่อสร้างถึงชั้นดาดฟ้าแล้ว แต่พบปัญหาระหว่างก่อสร้างคืออาคารรับน้ำหนักดินไม่เพียงพอ ลบดขนาดปล่องลิฟต์ และยกระดับคานดังกล่าวให้สูงจากพื้น แต่ก็ได้ทำการทักท้วง แต่ก็ได้ทำการก่อสร้างต่อไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้น
นายธิปัตย์ผู้ต้องหาที่ 11 เป็นวิศวกร ตำแหน่ง Structure engineerทำงานที่ บริษัท ไซน่าฯ ได้ลงชื่อในแบบ
การที่ บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้พบความผิดปกติในการก่อสร้าง แต่ก็ยังคงทำการถ่อสร้างต่อไปโดยไม่ได้ทักท้วง ตามวิชาชีพประกอบกับการก่อสร้างได้ใช้วัสดุ เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น ที่มีค่าต่ำกว่ามาตรฐาน จนเป็นเหตุให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพังถล่ม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมากซึ่งผู้ควบคุมงานและผู้ก่อสร้าง ต้องรับผิดร่วมกัน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ฯ มิได้จำกัดเฉพาะผู้ควบคุมงานเท่านั้น แต่หมายถึงผู้ใดก็ตามที่จัดให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารผิดไปจากแผนผัง บริเวณแบบแปลน ผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดตามมาตรานี้ด้วย ส่วนตามบทบัญญัติของวรรคสอง มาตราเดียวกันนี้หมายถึงว่า ผู้ควบคุมงานก็มีความผิดด้วย และเป็นตัวการ ร่วมกันกันผู้จัดให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ผู้กระทำความผิดตามมาตรา นี้เพียงแต่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระบุไว้เพียงประการเดียวก็เป็นความผิดแล้ว คือ.กระทำการดังกล่าวให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ ผิดไปจากแบบแปลน ผิดไปจากรายงานประกอบแปลนที่ได้รับอนุญาต ผิดไปจากวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต
จึงสรุปได้ว่ากลุ่มผู้ต้องหาทั้งฐานะนิติบุคคลและฐานะส่วนตัว ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีวิชาชีพมีความรู้ความชำนาญด้านการก่อสร้างมาอย่างดี ย่อมรู้ดีว่าในการก่อสร้างอาคารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรงและเกิดความปลอดภัยแก่ผู้ที่จะต้องมาใช้สอยอาคารที่ก่อสร้างนั้น อาคารจะต้องสร้างจากแบบแปลนที่ถูกต้องมีการคำนวณการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนตลอดจนลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานตามหลักวิศวกรรม และกฎหมายที่กำหนดไว้ และเมื่อถึงขั้นตอนการก่อสร้าง ผู้ดำเนินการ ก่อสร้างต้องดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบแปลนอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการดำเนินการ วัสดุที่ใช้ก็จะต้องเป็นชนิด และคุณสมบัติ ตามที่กำหนดไว้ในแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลน ซึ่งหากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด อาคารก็จะเกิดความไม่มั่นคงแข็งแรงเนื่องจากไม่ได้มาตรฐานตามแบบแปลน ขั้นตอนการดำเนินการจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จึงกำหนดไว้ว่าในการก่อสร้างจะต้องมีผู้ควบคุมงานมาเป็นผู้รับผิดชอบในการอำนวยการหรือควบคุมดูแลการก่อสร้างเพื่อให้เป็นไปตามแบบแปลน ซึ่งหากการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบแปลน ให้ถือว่าเป็นการกระทำของผู้ควบคุมงานด้วย
จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของคณะพนักงานสอบสวน แล้วพบว่า ในการออกแบบ แปลนอาคารที่เกิดเหตุ ไม่เป็นไปตามหลักมาตรฐาน (ปรากฏตามผลการตรวจของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) การดำเนินการก่อสร้างก็พบว่ามีการใช้วัสดุที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ในแบบแปลน (ปรากฏตามผลการตรวจของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) ซึ่งการดำเนินการที่ต่ำกว่ามาตรฐานของผู้ดำเนินการก่อสร้างได้นั้นต้องเกิดจากการทำหน้าที่ของผู้ควบคุมงานที่ไม่ควบคุมดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบแปลน โดยพบว่ามีการแอบอ้างชื่อบุคคลากรผู้ควบคุมงานที่เป็นวิศวกร มาเป็นผู้ควบคุมงานโดยผู้นั้นมิได้มาทำหน้าที่ควบคุมงานจริง แม้ว่าเหตุปัจจัยเพียงเหตุเดียวอาจไม่เป็นเหตุให้อาคารที่เกิดเหตุพังถล่มได้ แต่เมื่อเหตุปัจจัยทั้งสามเหตุมารวมอยู่ในสถานการณ์เดียวกันในวันเกิดเหตุ จึงเป็นสาเหตุให้อาคารที่เกิดเหตุพังกล่มจนเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและสูญหาย จำนวนมาก การกระทำของกลุ่มผู้ต้องหา จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ ในวิชาชีพของตนในเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ค้นพบแล้ว จำนวน 89 ศพ ได้รับ
บาดเจ็บสาหัส จำนวน 1 ราย ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย สูญหาย 11 ราย ผู้กล่าวหา จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับ ผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนี้ให้ได้รับโทษจนถึงที่สุดตามกฎหมายต่อไป
การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1-11 เป็นเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุม หรือ ทำการก่อสร้าง ซ่อมแชมหรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย" อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227/23 ส่วนผู้ต้องหาที่ 12-14 เป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบควบคุมหรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแชมหรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย และร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสาร ราชการปลอม" อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 238 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 24, 286, 83
และท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนค้านประกันตัวเนื่องจากกอัตราโทษสูง และเกรงว่าหากได้รับการประกันตัว ผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งกับพยานหลักฐาน
ศาลพิจารณาคำร้องฝากขังแล้ว อนุญาตให้ฝากขังได้
ภายหลังทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์วงเงินคนละ 600,000-800,000 บาท เพื่อขอประกันตัวระหว่างสู้คดีขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
ต่อมาเมื่อเวลา 19.00 น.ศาลอาญามีคำสั่ง ในส่วนของ นายสมชาย ทรัพย์เย็น อายุ 56 ปี ผู้ต้องหาที่ถูกแยกฝากขังมาอีก 1 สำนวน โดยศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราว ประกอบกับยังต้องรอสอบสวนพยานอีก 15 ปาก ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง ขณะที่ผู้ต้องหารายอื่นยังอยู่ในระหว่างรอฟังคำสั่งประกัน
ล่าสุดเวลา 20.00 น. ศาลอาญาพิเคราะห์แล้วผู้ต้องหาถูกกล่าวหาเข้าเกี่ยวข้องกับคดีนี้จนเกิดความเสียหายใหญ่หลวงน่าสะพรึงกลัว กระทบต่อสังคมอย่างยิ่ง ทั้งพนักงานสอบสวนและผู้เสียหายก็คัดค้าน เกรงจะหลบหนียากแก่การติดตามตัว ซึ่งคดีต้องสอบสวนพยานอีก 15 ปาก กรณีมีเหตุผลอันสมควรจะรอผลการสอบสวนให้เสร็จสิ้นก่อน ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว แล้วค่อยพิจารณามีคำสั่งโดยละเอียดรอบคอบต่อไป ยกคำร้อง
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงได้นำตัวผู้ต้องหาไปคุมขังระหว่างฝากขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร