xs
xsm
sm
md
lg

ศาลไม่อนุญาต “ทักษิณ” ไปการ์ต้าตามคำเชิญเจ้านครรัฐ ชี้เป็นหมายนัดส่วนตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายทักษิณ ขืนวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“ทักษิณ”อดีตนายกฯ ยื่นคำร้องศาลอาญา ขอออกนอกประเทศอีกครั้ง ศาลเปิดบัลลังก์ไต่สวนคำร้อง ล่าสุดศาลอาญาไม่อนุญาตให้“ทักษิณ” เดินทางไปประเทศกาตาร์ ตามคำเชิญของเจ้าผู้ครองนครรัฐกาตาร์ ชี้เป็นหมายนัดส่วนตัว

เมื่อช่วงเช้า วันนี้ ( 8 พ.ค.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยในคดีหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้เดินทางมายื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เเต่ยังไม่ทรายรายละเอียดเกี่ยวกับประเทศปลายทาง เเละเหตุในการขอออกนอกประเทศ

โดยมีรายงานว่าวันนี้ นายทักษิณเดินทางมาด้วยรถยนต์โรลส์-รอยซ์ สีดำ

รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ ศาลอาญาเปิดบัลลังก์ไต่สวนคำร้องของนายทักษิณ โดยมีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางมาด้วย

จากนั้นนายทักษิณได้เดินทางกลับ โดยใช้เวลาไม่นาน ซึ่งคาดว่าศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่ในช่วงบ่ายวันนี้

โดยในช่วงบ่ายมีรายงานว่า นาย วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีเดินทางมาศาลอาญา เเต่ยังไม่ทราบว่าเกี่ยวกับเรื่องนายทักษิณยื่นคำร้องเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่

ต่อมาเวลา 14.28 น.นายวิษณุ เครืองาม เดินทางออกจากศาลอาญา โดยกล่าวสั้นว่าที่เดินทางมาศาลวันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องนายทักษิณขอเดินทางออกนอกประเทศ มายื่นคำร้องธรรมดาจากนั้นได้เดินทางกลับ

ล่าสุด ศาลอาญาไม่อนุญาตให้“ทักษิณ” เดินทางไปกาตาร์ ตามคำเชิญของเจ้าผู้ครองนครรัฐกาตาร์

โดยศาลอาญาไต่สวนบุคคลและคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง พิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนแล้วเห็นว่าจำเลยได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากสำนักบริหารผู้รับเชิญพระราชวังลูเซล ไปร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ประเทศการ์ตา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ อันมีลักษณะเป็นหนังสือเชิญส่วนตัว มิได้เชิญจำเลยในฐานะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนประจำปี 2568 ทั้งไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดการที่แน่ชัด เพียงแต่คาดหมายว่าหากประธานาธิบดีโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ มางานเลี้ยงดังกล่าว จำเลยจะมีโอกาสพบปะหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ และทีมเศรษฐกิจเท่านั้น ประกอบกับช่วงที่ขอเดินทางไปอยู่ใกล้วันนัดพิจารณาคดีที่ศาลฎีกาและคดีนี้ อาจกระทบต่อกระบวนพิจารณาของศาลได้ กรณียังไม่มีเหตุผลอันจำเป็นที่หนักแน่นเพียงพอที่จะให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร จึงไม่อนุญาต

ภายหลังฟังคำสั่ง นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายทักษิณ เผยว่า จากเมื่อวานที่ได้ยื่นคำร้องขอออกประเทศ เเละศาลมีคำสั่งในวันนี้ คือเรายื่นคำร้องขอไปประเทศกาตาร์เนื่องจากว่า เจ้าผู้ครองนครรัฐกาตาร์ มีหนังสือเชิญมายังนายทักษิณ ชินวัตรในฐานะที่เป็นประธานที่ปรึกษาของประธานอาเซียน

ซึ่งวันนี้นายทักษิณก็ได้ให้การต่อศาลว่า การที่ยื่นขอไปต่างประเทศครั้งนี้ไม่ได้เป็นการไปงานเลี้ยง แต่ไปเพื่อทำคุณประโยชน์ ใช้ประสบการณ์และความรู้ความสามารถเพื่อประเทศชาติสังคมและประชาชน

สังคมคงเห็นอยู่ว่าเหตุผลที่นายทักษิณขอไป ซึ่งหลายคนก็เห็นอยู่ว่ามาตรการและนโยบายของสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในเรื่องของการจัดเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศผู้ค้าและ การค้าหลายประเทศ โดยเป็นการเรียกเก็บภาษีศุลกากรที่ได้รับผลกระทบกันทั่วโลก ประเทศไทยก็เป็น1 ในประเทศที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นนายทักษิณที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและมีความเป็นห่วงใยประเทศชาติและเห็นผลประโยชน์ประเทศชาติอันสำคัญ โดยนายทักษิณหวังทำเพื่อชาติบ้านเมือง จึงเป็นเหตุผลในการยื่นขอศาลในวันนี้ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศาลได้ไต่สวนและพิจารณาแล้วเห็นว่าการเชิญลักษณะนี้เป็นการเชิญแบบส่วนตัวและยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน อาจจะเป็นเพียงการคาดหมายว่าไปแล้วจะได้พบกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นี่คือสิ่งที่ศาลเห็นเราก็น้อมรับดุลพินิจศาล ที่เห็นว่าระยะเวลาในการยื่นขอซึ่งเราขอ เดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 14 มิ.ย.ซึ่งใกล้กับกำหนดการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯนักการเมือง ในเรื่องการบังคับโทษชั้น 14 ซึ่งมีวันนัดพร้อมตรงกับวันที่ 13 มิ.ย. เมื่อศาลอาญาเห็นว่าวันนัดใกล้กันเราก็ยอมรับดุลพินิจ

นี่คือเหตุผลที่ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยังไม่อนุญาตให้ออกนอกประเทศ โดยทราบว่างานที่จัดที่กาตาร์ตนเข้าใจว่าเป็นเหตุที่จะได้มีโอกาสพบประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งมีกำหนดการที่จะเดินทางไปที่การตาร์ โอกาสการได้พบไม่ใช่โอกาสของนายทักษิณคนเดียวแต่เป็นโอกาสของประเทศชาติ

เพราะหลายคนกำลังเฝ้าดูว่า จะมีโอกาสได้เข้าไปคุยหรือไม่ และหลายประเทศก็หวังว่าจะได้มีโอกาสเข้าไปเจรจากับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แล้วไทยไม่อยากจะได้เข้าไปเจรจาหรืออย่างไร

ส่วนที่นักข่าวถามว่า การที่ไม่ได้ออกไปเป็นอุปสรรคในการเจรจาเรื่องเศรษฐกิจและภาษีหรือไม่

นายวิญญัติระบุว่า คำถามนี้เป็นคำถามที่ตนอยากจะตั้งคำถามกลับไปอยู่ว่าการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าในประเทศจะมีเรื่องภาษีที่เป็นปัญหา เราจำเป็นต้องหาข้อตกลง เพื่อที่จะลดเรื่องอัตราภาษีหรือกำแพงภาษีนี้ให้ได้ อันนี้เป็นแนวทางหนึ่งของการเจรจาทางการค้าที่ถามว่าจะเป็นอุปสรรคหรือไม่ อยากให้สังคมคิดเอา ว่าการที่มีบุคคลหนึ่งที่อยากจะทำเพื่อประเทศชาติและบุคคลหลายคนที่อยากจะทำเพื่อประเทศชาติ เราถือว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองประชาชนคนไทยหรือไม่ส่วนเป็นอุปสรรคหรือไม่ตนไม่มีความเห็น แต่เห็นว่าถ้าเรามีโอกาสแล้วเราไม่ใช้โอกาส เราจะเสียโอกาสหรือไม่
ในส่วนเรื่องจะยื่นคำร้องหลังจากนี้อีกหรือไม่นั้นเป็นเรื่องอนาคตว่าจะยื่นคำร้องหรือจะใช้กระบวนการใดทางศาล ตามสิทธิ์ของจำเลยในคดี

เมื่อถามถึงรายละเอียดจากหมายของศาลฎีกานักการเมือง

นายวิญญัติตอบว่าได้รับหมายแล้วตนเองในฐานะทนายความก็อยู่ระหว่างดู แต่ยอมรับว่ายังไม่ได้ดูในรายละเอียดมาก แต่ก็มีประเด็นที่ได้อ่านแบบเร็วๆ คือมีการคาดหมายว่านายทักษิณไม่ได้ป่วยจริง หรือมีเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ ดังนั้นจึงมีคำถามกลับไปว่า ถ้าหากป่วยจริงแล้วจะทำอย่างไร คนที่ไม่มีหน้าที่รักษา จะทำให้คนป่วยหายป่วยได้หรือไม่ เมื่อป่วยแล้วก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการหรือกลไกของรัฐ

ดังนั้นการป่วยผมยืนยันมาตลอดไม่ต้องเชื่อตนก็ได้แต่ ขอให้เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นและมีหลักฐานจริง ใครจะคิดว่าไม่ป่วยจริงก็เรื่องของเขา สิ่งที่เราจะพิสูจน์ต่อศาลคือการพิสูจน์ตามสิทธิ์ศาลให้ชี้แจงเราก็ยินดีชี้แจงแล้วมั่นใจว่าสามารถชี้แจงได้

นายวิญญัติระบุต่อว่า หลักๆในหมายคือศาลมีคำถามว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องที่กล่าวอ้างเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ดังนั้นก็เป็นคำถามของตนในฐานะทนายความ ว่าในเมื่อศาลยกคำร้องของนายชาญชัย คำร้องดังกล่าวย่อมจะต้องตกไป แต่ถ้าศาลเห็นว่าเนื้อความในคำร้องยังอยู่แล้วศาลใช้อำนาจหรือกฎหมายใด อันนี้เป็นคำถาม

ซึ่งตนก็จะเขียนถามไปว่าการที่อ้างว่าใช้อำนาจตามมาตรา6 หรือ มาตรา 246 ก็ดี ขอถามว่ามันเขียนไว้ชัดเจนตรงไหน อันนี้คือข้อโต้แย้งในฐานะนักกฎหมายตนมีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วย

แต่ที่ศาลถามว่าข้อเท็จจริงนั้นเกิดขึ้นหรือไม่ก็หมายถึงข้อเท็จจริงของนายชาญชัยที่ยกมา ในเมื่อศาลไม่รับแล้วตีตกไปแล้ว เนื้อหามันควรจะตกไปด้วย เเละอำนาจในการบริหารโทษ ซึ่งปรากฏเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมวิชาการของนักกฎหมายหลายคนว่าศาลใช้อำนาจเข้ามาก้าวก่ายหรือหรือศาลพยามที่จะมาล้วงลูกหรือไม่ ผมใช้คำถามนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นข้อตกลงถกเถียงทางวิชาการตนไม่ได้ไปก้าวล่วงต่อศาล

เมื่อเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการหรือทางนิติศาสตร์จึงเป็นข้อถกเถียงใหญ่ๆของคนในสังคมเอง ในบรรดานักกฎหมายเองก็ดีหรือผู้ที่ใคร่รู้ก็ดีว่าเราจะต้องดูว่าอำนาจนั้นจะต้องถูกตรวจสอบได้หรือไม่

อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่าถ้าศาลมีคำสั่งให้ไต่สวน แล้วมีคนหนึ่งที่ไม่พอใจจำเลย หรือหน่วยงานอื่นที่ไม่เห็นด้วยหากศาลมีคำสั่งเราจะอุทธรณ์คำสั่งของศาลไปที่ใดได้เพราะคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ แล้วมีกฎหมายใดที่ให้สิทธิเเก่ผู้อุทธรณ์ได้หรือไม่ ไม่มีกฎหมายมาเขียน ตนขอตั้งคำถามเรื่องการมาตรวจสอบคดีที่ถึงที่สิ้นสุดแล้วซึ่งเป็นเรื่องการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ อย่างไรก็ดีเราก็ยอมรับอำนาจของศาล ว่าศาลมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบ แต่สิ่งเรานั้นเรานักกฎหมายและนักวิชาการก็จะต้องหาคำตอบ ข้อยุติในทางวิชาการและทางกฎหมายให้ชัดเจน

ส่วนประเด็นเรื่องแพทยสภามีมติลงโทษหมอ ตนเข้าใจว่าเรื่องนี้ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการของแพทย์สภาจะต้องเสนอต่อสภาที่ปรึกษาพิเศษที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน

ตนขอถามไปยังแพทย์สภาว่าจะมีมติอะไรเป็นความเห็นตนไม่ขอก้าวล่วงแต่มีแพทย์คนใดคนหนึ่งกล้าออกมาบอกหรือไม่ว่านายทักษิณไม่ได้ป่วยถ้ามีคนกล้าขอให้ออกมาแถลงข่าวต่อสังคมได้เลย ถ้ายืนยันว่านายทักษิณไม่ได้ป่วยจริงกรุณาออกมาบอกได้เลย

ดังนั้นการที่ถ้าสภามีมติจะลงโทษพักใบอนุญาตในเรื่องการแถลงข่าวหรือให้ข่าวไม่ตรงความเป็นจริงดุลพินิจที่จะตรวจสอบแพทย์ด้วยกัน แต่ที่ตนถามว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นมันสมเหตุสมผลหรือไม่ ความเห็นของแพทย์เป็นไปตามมาตรฐานของวิชาชีพหรือไม่ สิ่งเหล่านั้นคือกระบวนการตรวจสอบทางวิชาชีพ แต่ข้อเท็จจริงคือป่วยจริง ถ้าใครบอกไม่ป่วยจริง ขอคนที่เป็นแพทย์ออกมาบอก เพราะคนอื่นออกมาบอกอาจจะไม่รู้ หลายคนเคยมาออกทีวีพูดว่าไม่ป่วยจริง เเล้วที่ผ่านมาตนไม่ฟ้องเพราะหลายคนอาจจะไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ถ้าแพทย์ยืนยันว่าไม่ป่วยจริงก็อยากให้ออกมายืนยันเชิญเลยตนไม่ได้ท้า

ส่วนที่ว่าจะเอาประเด็นนี้ยื่นไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ก็ มีนักกฎหมายหลายท่านแสดงข้อคิดเห็นต่อสาธารณะในเรื่องของเขตอำนาจศาลซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักกฎหมายต้องศึกษาตอนเรียนกฎหมายอยู่เเล้ว

เรื่องการขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องเขตอำนาจศาลเรายังไม่มีเเนวทางชัดเจน ว่าจะทำหรือไม่แต่อย่างน้อยเราก็จะต้องชี้แจงต่อศาลและมีเหตุผลโต้แย้งคำร้องของนายชาญชัย

ส่วนประเด็นที่ว่านายทักษิณอาจจะต้องกลับไปติดคุกหรือไม่นั้น ตนไม่ขอมีความเห็นว่าจะต้องกลับไปติดคุกอีกหรือไม่ คดีเราต้องไปดูว่ามันเริ่มต้นจากอะไร สิ้นสุดไปถึงส่วนไหน และมีการปฏิบัติอย่างไร เมื่อเริ่มต้นฃจากคำพิพากษา นั่นถือว่าเป็นกระบวนการรับโทษ

ต่อไปถือว่าเป็นกระบวนการของการบริหารโทษมีกฎหมายใดที่บอกว่าบุคคลใด ผ่านกระบวนการเหล่านั้นแล้ว จะต้องกลับมารับโทษอีก ตรงนี้มันผิดหรือไม่

ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความเห็น ตนขอเชิญ ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมายหรือคนที่อวดรู้ ตนเป็นนักกฎหมายคนหนึ่งที่ไม่ได้เก่งกว่าใคร แต่การวิพากษ์วิจารณ์ใครควรอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและไม่มีอคติ

ตนเชื่อว่าการที่ศาลอาญายกคำร้องศาลท่านก็ใช้อำนาจของท่านในการตรวจสอบ พิจารณาและเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่สมควร เราก็ยอมรับแต่เราจะใช้กระบวนการในการโต้แย้งอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งในอนาคตทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมาย

ส่วนที่จะขอไปสหรัฐอเมริกาโดยตรงหรือไม่ตนทราบ ยังตอบไม่ได้ส่วนการทำคำชี้แจงตนเพิ่งได้รับหมายเดี๋ยวก็ต้องดำเนินการให้ทันตามคำสั่งศาล

เมื่อถามว่าทักษิณมีโอกาสจะเดินทางไปไต่สวนวันที่ 13 มิ.ย.นี้หรือไม่ ตนบอกเลยว่ามีโอกาสการไปศาลไม่ใช่เรื่องที่นายทักษิณปฏิเสธ ท่านกลับมาประเทศ ก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการรับโทษอยู่แล้ว หมายที่ส่งมาคือหมายนัดให้ส่งคำชี้แจงภายใน 30 วัน อย่างที่บอกถ้าหากชี้แจงไปแล้วศาลยังเห็นว่าควรจะต้องมีหมายเรียกให้ไปไต่สวนก็ยินดี ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธ ส่วนวันที่ 13 มิ.ย.นี้นายทักษิณจะต้องไปหรือไม่ตนไม่ขอตอบ เป็นอำนาจของศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น