ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกฟ้อง "แอมมี่- ไชยอมร"นักร้องดังวง The Bottom Blues ปราศรัยร้องเพลง หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อปี 2564 เรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกจับกุม คดีหมิ่นมาตรา 112 เนื่องจากยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ส่วน "ฟ้า-พรหมศร"โดนจำคุก 2 ปี ปรับ 100 บาท
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ศาลนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีเป็นโจทก์ฟ้อง นายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” และ นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์” หรือ “แอมมี่ – The Bottom Blues” เป็นจำเลยที่ 1-2 ในคดีหมิ่นเบื้องสูง มาตรา 112 จากการปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกจับกุมกลางดึกตามหมายจับในคดีหมิ่นเบื้องสูง มาตรา 112
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายพรหมศร จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติค่วบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2483 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี ฐานร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับจำเลยทั้งสองคนคนละ 200 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100 บาท รวมจำคุก 2 ปี ปรับ 100 บาท และจำเลยที่ 2 ปรับเงินจำนวน 200 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกคดีอื่นนั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ จึงนับโทษต่อไม่ได้ และคดีนี้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เท่านั้น
ต่อมา จำเลยยื่นอุทธรณ์
ในช่วงเช้านัดฟังคำพิพากษา นายพรหมศร และ นายไชยอมร จำเลยที่ 1-2 เดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด หลังจากมีข่าวลือว่าอาจจะหลบหนี
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของนายพรหมศร จำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุลงโทษสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 เหมาะสมแก่พฤติการณ์ในการกระทำความผิดแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค1 จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเป็นการแสดงออกถึงทัศนคติที่เป็นปรปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของปวงชนชาวไทยและสังคมไทย การกระทำของจำเลยที่ 1 นับเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีเหตุอื่น ตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์หรือไม่ก็ตาม กรณียังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกนายพรหมศร จำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทรณ์ของโจกท์ว่า นายไชยอมร จำเลยที่ 2 กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีข้อสงสัยควรว่า นายไชยอมร จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหานี้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดข้อหาร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ปรับจำเลยทั้งสองเป็นพินัยคนละ 200 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ให้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 มาตรา 30, 31 โทษในความผิดฐานอื่นและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ภายหลังนายพรหมศร จำเลยที่ 1 ได้ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวระหว่างฎีกา ซึ่งศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว วงเงิน 300,000 บาท