MGR Online - ดีเอสไอส่งพยานหลักฐานคดีฮั้ว สว.ให้ กกต.พิจารณาเพิกถอนสิทธิ หลังพบ 138 สว.ตัวจริง และ 2 สำรอง เข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.ฯ ส่วนความผิดฐานฟอกเงิน-อั้งยี่ยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
วันนี้ (5 พ.ค.) แหล่งข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าคดีฮั้ว สว. หลังรับเป็นคดีพิเศษ "ฐานฟอกเงิน-อั้งยี่" ว่า ภายหลังทำการสอบสวนปากคำพยานสำคัญร่วมกับ กกต. จำนวนมากกว่า 30 ราย รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวของกลุ่มคณะบุคคล , การตรวจสอบเส้นทางการเงินที่สะพัดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ตั้งแต่การเลือก สว. ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ , การกาคะแนน การนับผลคะแนนที่มีการเลือกหมายเลขเดียวกัน ซ้ำ ๆ กันหลายชุด เป็นต้น เมื่อได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์แล้วพบการกระทำที่เข้าข่ายมีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปด้วยสุจริตหรือเที่ยงธรรม พบการกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 จึงส่งหลักฐานและข้อมูลทั้งหมดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบการพิจารณาตามกฏหมายเลือกตั้ง อาทิ การพิจารณาเพิกถอนสิทธิ สว.
แหล่งข่าวดีเอสไอ เผยว่า ในส่วนนี้หากมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รายใดก็ตามที่ กกต.ตรวจสอบแล้วเห็นว่ามีการกระทำผิดจริง ก็ให้ กกต.เป็นผู้พิจารณาร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลนั้นกับพนักงานสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือดีเอสไอก็ตาม และในเรื่องของการดำรงตำแหน่งของ สว.ก็ให้ กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คาดว่าการดำเนินการของ กกต.อาจจะอยู่ในช่วงกรอบสัปดาห์หน้า
แหล่งข่าวดีเอสไอ เผยอีกว่า ส่วนเรื่องคดีอาญาที่ดีเอสไอรับผิดชอบ คือ ความผิดฐานฟอกเงินและอั้งยี่ คณะพนักงานสอบสวนยังคงอยู่ระหว่างการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน เนื่องจากการสอบสวนปากคำพยานทั่วประเทศยังคงดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อจำแนกกลุ่มคนว่าใครมีพฤติการณ์จับกลุ่ม ตั้งเป็นคณะบุคคลอย่างไรบ้าง มีความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกันมากน้อยอย่างไร ซึ่งในการดำเนินคดีแจ้งความผิดฟอกเงินและอั้งยี่ มีความเป็นไปได้ว่าบางคนอาจมีความผิดทั้งสองข้อกล่าวหา ขณะที่บางคนอาจมีความผิดแค่ฐานเดียว ซึ่งดีเอสไอจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐาน แต่ก็คาดว่าจะอยู่ในกรอบเดือน พ.ค. เช่นเดียวกัน เพราะมีพยานหลักฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชุดที่ดีเอสไอไปร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ กับ กกต. หรือดีเอสไอเป็นหัวเรือหลักเองในคดีอาญา ก็สามารถใช้พยานหลักฐานชุดเดียวกันพิจารณาได้
"หากทาง กกต.พบ สว.ที่กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง และมีพฤติการณ์เป็นไปตามการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สุจริต หรือมีการฮั้วเกิดขึ้นจริง ทั้ง สว.ตัวจริง 138 ราย และสำรอง 2 ราย ก็จะถูก กกต.แจ้งดำเนินคดี ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า สว.เหล่านี้ก็จะมีความผิดในคดีอาญาของดีเอสไอเช่นกัน ซึ่งต้องพิจารณาทั้งความผิดฐานฟอกเงินและความผิดฐานอั้งยี่ โดยเฉพาะความผิดฐานฟอกเงินก็ต้องดูว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินจำนวนกี่บาท มีการจ่ายรับโอนจ่ายช่วงวันเวลาใดบ้าง เพราะความผิดฐานฟอกเงิน พิจารณาเป็นรายกรรม อีกทั้งการฮั้ว เกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือการฮั้วแบบใช้เงินและไม่ใช้เงิน ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นการฮั้วในรูปแบบลักษณะใดก็ตาม และโดยผู้ใดก็ตาม หากเป็นหนึ่งในขบวนการย่อมมีความผิด" แหล่งข่าวดีเอสไอ ระบุ