xs
xsm
sm
md
lg

"ดีเอสไอ" รับเพิ่ม "คดีอั้งยี่" ปมเลือก สว. 2567 เป็นคดีพิเศษ เตรียมจำลองเหตุการณ์จริง พรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "ดีเอสไอ" รับคดี "อั้งยี่" กรณีฮั้ว สว. เป็นคดีพิเศษเพิ่ม หลังรับ "ฟอกเงิน" ก่อนหน้านี้ เดินหน้าสอบพยาน เส้นเงิน ส่อโยงการเมือง

วันนี้ (24 เม.ย.) เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคและโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ร่วมแถลงกรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในคดีพิเศษที่ 24/2568

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า การเลือก สว.ได้มีผู้มาร้องขอให้ดีเอสไอดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตาม พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แล้วความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อมีการสืบสวนแล้วคณะกรรมการคดีพิเศษได้ชี้ขาดให้รับคดีฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.68 ขณะนี้ได้มีการสอบสวนและประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างต่อเนื่อง ทั้งการสอบพยาน มีการตั้งในส่วนของดีเอสไอเป็นอนุกรรมการ รวมถึงตรวจสอบภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว และข้อมูลทางด้านไอทีต่างๆ

"อีกทั้ง เมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) สภ.รัตนาธิเบศร์ และสภ.โกสุมพิสัย ได้ส่งเรื่องความผิดอาญาฐานอั้งยี่ที่ได้มีการรับเรื่องไว้มายังดีเอสไอ ซึ่งได้มีการพิจารณาแล้วก็มีการรับเป็นเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวพันกับคดีพิเศษฐานฟอกเงินที่ได้รับไว้ ซึ่งเป็นอำนาจตาม พ.ร.บ.คดีพิเศษ มาตรา 21 วรรคสอง ถือว่าเป็นการกระทำความผิดหลายบท หรือเกี่ยวพันกันกับคดีพิเศษ ให้ถือว่าคดีที่เกี่ยวพันกันนั้นเป็นคดีพิเศษด้วย จึงถือว่าขณะนี้ได้รับคดีอั้งยี่เป็นคดีพิเศษแล้ว ก็จะมีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในขั้นตอนต่อไป" พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว

ด้าน พ.ต.ท.อนุรักษ์ เผยว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 ราย ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เป็นคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนให้มีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนและไต่สวนเรื่องคัดค้านการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในทุกพื้นที่ตามที่ได้รับมอบหมาย มีคำสั่งแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 19 มี.ค.68 โดยได้บูรณาการร่วมกันในการทำงานคู่ขนานไปกับคดีพิเศษของดีเอสไอ ฐานฟอกเงิน โดยการทำงานมีการส่งต่อข้อมูลและช่วยเหลือสนับสนุนข้อมูลซึ่งกันและกัน

พ.ต.ท.อนุรักษ์ เผยอีกว่า โดยปัจจุบันมีการสอบสวนไปแล้วจำนวน 30 ปาก ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อหาความเชื่อมโยงทางการเงิน และจะนำเอไอ (AI) มาใช้เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมบุคคลที่ได้เข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีการเลือก สว.ระดับประเทศ ที่อิมแพค เมืองทองธานี รวมถึงมีการวิเคราะห์พฤติกรรมในการลงคะแนน ซึ่งจะต้องรอผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวิเคราะห์อีกครั้ง

ส่วนทาง นายสมบูรณ์ กล่าวว่า มีคนเข้ามาร้องกับดีเอสไอเป็นจำนวนมากว่าได้รับผลกระทบ และมองว่าการเลือก สว.ไม่ถูกต้อง วันนี้ผู้ที่จะมาประสงค์เป็นพยานให้ข้อเท็จจริงในเรื่องการเลือก สว. ตั้งแต่การเลือกตั้งระดับอำเภอ 9 มิ.ย.67 ระดับจังหวัด 16 มิ.ย.67 และ ระดับประเทศ 26 มิ.ย.67 ทั้งนี้ หากบุคคลใดติดต่อเข้ามให้ข้อมูลกับพนักงานสืบสวนดีเอสไอ พร้อมบันทึกปากคำเป็นพยานในคดีทั้งฟอกเงิน และอั้งยี่

เมื่อถามว่าหลังจากนี้ทางดีเอสไอ และกกต.จะยังสอบสวนร่วม หรือแยกสอบสวนในแต่ละคดี พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า ดีเอสไอกับ กกต. แยกกันสอบสวนเพราะพิสูจน์ความผิดกันคนละกฎหมาย กกต.จะพิสูจน์ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง ดีเอสไอก็จะพิสูจน์ความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินและอั้งยี่ ซึ่งความผิดอาจจะซ้อนกันบ้างแต่คนละสำนวน

เมื่อถามอีกว่าได้มีการแจ้งข้อหาอั้งยี่กับใครแล้วหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า เมื่อวาน (23 เม.ย.) ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหาอั้งยี่ เพียงแต่ได้มีการรับคดีไว้เท่านั้น สภ.ท้องที่ได้มีการรับคำกล่าวโทษ เนื่องจากมีบุคคลเข้าไปกล่าวโทษในความผิดฐานอั้งยี่ และมีพฤติการณ์ว่าใครเกี่ยวข้องอะไรอย่างไร ซึ่งสภ.ท้องที่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับคดีพิเศษที่ดีเอสไอได้สอบสวนอยู่และส่งเรื่องมา ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกัน จึงรับเข้ามาสอบสวน มีบุคคลต้องสงสัยแล้วเป็นจำนวนมาก

นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ด้าน นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ในการหาพยานหลักฐานของดีเอสไอ โดยเฉพาะคดีอั้งยี่จะต้องประกอบด้วยพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานสถานที่ พยานวัตถุ และพยานวิทยาศาสตร์ซึ่งทุกอย่างประกอบกัน ซึ่งเมื่อมีการเลือก สว.ในระดับประเทศ ที่เมืองทองธานี จะต้องไปดูสถานที่ว่ากล้องวงจรปิดเป็นอย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวพยานหลักฐานกรอบกว้างมาก

"ระยะเวลาที่ทำมา มีเสียงที่บอกกล่าวกันว่าดีเอสไอ รีบเร่งดำเนินการ จริงๆไม่ใช่รีบเร่ง เพราะมีการรับสืบสวนตั้งแต่เดือน ก.ย.67 หลังจากมีผู้มาร้องเรียน เราใช้เวลาสืบสวนจนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 ก.พ.68 ผ่านมา 5 เดือนจึงจะเข้าคณะกรรมการคดีพิเศษในการประชุมครั้งแรก และวันที่ 6 มี.ค.68 จึงรับเป็นคดีพิเศษ เพราะฉะนั้นระยะเวลา 5-6 เดือน ดีเอสไอสืบสวนรวบรวมพยานไว้ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุไว้พอสมควร"

เมื่อถามเพิ่มเติมว่า เส้นทางการเงินที่เราพบในฐานความผิดคดีฟอกเงินพอจะไปเชื่อมโยงถึงพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเลือก สว.ได้หรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ปรากฏ กำลังติดตามข้อมูลอยู่ ซึ่งทางสถาบันการเงินทยอยส่งข้อมูล

ด้าน พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่าในวันพรุ่งนี้ (25 เม.ย.) เวลา 14.00 น. ตนได้รับมอบหมายแต่ทีมแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศดีเอสไอ เราได้ประสานไปยังเมืองทองธานีเพื่อไปเก็บทำแผนที่ที่เกิดเหตุที่มีการเลือกสว.ระดับประเทศทั้งหมด รวมถึงใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ในการเก็บแผนที่ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างในวันเลือกสว. โดยจะใช้เครื่องมือพิเศษทั้งหมดในการเก็บข้อมูล

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ
กำลังโหลดความคิดเห็น