MGR Online - ดีเอสไอ แจงคดี "หมูเถื่อน" ส่ง ป.ป.ช. แล้ว 11 สำนวน ยังเหลืออีก 1 สำนวน เอาผิด "จนท.รัฐ-นายทุน" กว่า 30 ราย ยืนยันไม่ได้ล่าช้า
วันนี้ (24 เม.ย.) เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคและโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ร่วมแถลงกรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ช่วงปี 2563-65
นายสมบูรณ์ เผยว่า สืบเนื่องจาก สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แหลมฉบัง มีผู้ร้องได้ยื่นร้องเรียนต่อดีเอสไอ ดำเนินคดีอาญากับ เจ้าหน้าที่รัฐ นายทุน บริษัทชิปปิ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร จากการรวบรวมพยานหลักฐานสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ซึ่งได้เปิดสำรวจและพบสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ มีมูลค่าของรวมภาษีอากร รวมเป็นจำนวนเงิน 460,105,947 บาท ในความผิดฐาน
"นำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565"
พ.ต.ต.ณฐพล เผยว่า ดีเอสไอได้ทำการสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 (สินค้าอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ณ ด่านศุลกากรแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้) มี 10 สำนวน เกี่ยวข้อง 10 บริษัทเอกชน มีความผิดต่างกรรมต่างวาระ พบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องทุกสำนวน ได้แก่ (1) คดีพิเศษที่ 59/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท เดอะ คิวบ์ โลจิสติก์ จำกัด กับพวกรวม 3 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 24 พ.ย. 2566 (2) คดีพิเศษที่ 101/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท กู๊ด วอเตอร์ อิควิปเม้น จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 17 ม.ค. 2567
(3) คดีพิเศษที่ 102/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช กับพวกรวม 5 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 6 ส.ค. 2567 (4) คดีพิเศษที่ 103/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด กับพวกรวม 5 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 17 ก.ย. 2567
(5) คดีพิเศษที่ 104/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท อาร์ ที เอ็น โอเวอร์ซี จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 17 ม.ค. 2567 (6) คดีพิเศษที่ 105/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 23 เม.ย. 2567 (7) คดีพิเศษที่ 106/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท สหัสวรรษ จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 29 พ.ค. 2567
(8) คดีพิเศษที่ 107/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท ซีเวิร์ล โฟรเซ่น ฟูด จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 11 เม.ย. 2567 (9) คดีพิเศษที่ 108/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท ศิขัณทิน จำกัด กับพวกรวม 4 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 26 ก.ค. 2567 และ (10) คดีพิเศษที่ 109/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้ต้องหาคือ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กับพวกรวม 4 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 26 ก.ค. 2567
พ.ต.ต.ณฐพล เผยอีกว่า กลุ่มที่ 2 สินค้านำออกสู่ท้องตลาดแล้ว จากการตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติม พบมีกลุ่มนิติบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับคดีพิเศษ 10 สำนวน และมีการนำสินค้าดังกล่าวออกไปจำหน่ายตามท้องตลาดแล้ว ผลการตรวจสอบข้อมูลในระบบของกรมศุลกากร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 - 31 ก.ค.66 พบว่า มีใบขนสินค้ารวมทั้งหมด 2,385 ใบขน มีมูลค่าสินค้านำเข้า จำนวน 1,566,760,187 บาท จึงรับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 126/2566 อยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ จำนวน 7 ประเทศ อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์กบราซิล ฮ่องกง สิงคโปร์ ที่มีการส่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร
"กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการไม่ได้ล่าช้าแต่มีกระบวนการที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องและต้องมีการประสานงานกับต่างประเทศ โดยพนักงานสอบสวนเดินทางต้องเดินไปประเทศต้นทางว่ามีการสำแดงสินค้าส่งมาในตู้ว่าเป็นอย่างไรเพราะเข้ามาสำแดงเป็นเนื้อสุกร ซึ่งพบว่าประเทศอิตาลีและบราซิล ยืนยันชัดเจนว่าไม่มีการส่งปลาแซลมอนมายังประเทศไทย แต่กลับมีการสำแดงนำเข้าเป็นปลาแซลมอนจากประเทศดังกล่าว"
พ.ต.ต.ณฐพล เผยต่อว่า กลุ่มที่ 3 กลุ่มขบวนการสวมสิทธิถิ่นกำเนิด จากการตรวจสอบขยายผล ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้มีขบวนการร่วมกันปลอมแปลงเอกสาร โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกสินค้าซากสัตว์ประเภทต่างๆ เพื่อสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าผลิตและส่งออกจากราชอาณาจักรไปยังต่างประเทศ ได้รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 127/2566 ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว มีผู้ต้องหาจำนวน 14 ราย ประกอบด้วย นายทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยทั้งข้าราชการประจำและฝ่ายการเมือง ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ส่งสำนวนไป ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 9 ก.ย.67
"สรุปจากการรับคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าและส่งออกซึ่งซากสัตว์ รับไว้ทำการสอบสวนทั้งหมด จำนวน 12 คดี ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 11 คดี ส่งสำนวนให้กับ ป.ป.ช. แล้ว มีทั้งนายทุนชาวไทย ชาวจีน ข้าราชการประจำ และข้าราชการฝ่ายการเมือง รวมประมาณ 30 ราย โดยข้าราชการมีการระบุชื่อและพฤติการณ์ชัดเจน แต่จะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและฝ่ายการเมืองนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งอยู่ระหว่าง ป.ป.ช. ขยายผลอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังคงเหลืออีก 1 เรื่อง (คดีพิเศษ 126/2567) ที่อยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือทางอาญากับอีก 7 ประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป"