ผอ.สำนักป้องกันฯ เผยล่าสุดนำร่างผู้ประสบภัยตึก สตง.ถล่ม ออกมาได้อีก 4 ราย เป้าหมายหลังจากนี้ลดความสูงซากตึกให้เหลือแค่ชั้นที่ 1 ภายในสิ้นเดือนนี้
นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าภารกิจกู้ซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตวง.) แห่งใหม่ถล่ม ว่า ตั้งแต่ช่วงเย็นเมื่อวานที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กู้ภัยพบร่างผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นกลุ่มคนงานที่ทำงานอยู่ที่ชั้น 19 ติดอยู่ใต้ซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 4 ราย เป็นเพศชาย 2 ราย ตรงกับข้อมูลของทางบริษัท อีก 2 ราย ยังไม่สามารถระบุเพศได้ ส่วนชิ้นส่วนพบ 6 ชิ้น ทางทีมกู้ภัยได้ส่งให้กับสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งหมด 207 ชิ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องดำเนินการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์อัตลักษณ์ก่อนส่งกลับคืนให้กับญาติ
ส่วนการดำเนินงานบริเวณหน้างานเจ้าหน้าที่ได้พบเศษหินปูนและเศษเหล็กออกจากที่เกิดเหตุ ทั้งหมด 281 เที่ยว นำไปไว้ในพื้นที่จัดเก็บของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้มีการปรับพื้นที่หน้างานไว้สำหรับนำเศษซากของตัวอาคารไปเก็บไว้
ส่วนความสูงของตัวซากอาคาร โซน A และ D จาก 11.51 เมตร เหลือ 10.52 เมตร ส่วนโซน B และ C จาก 9.81 เมตร เหลือ 9.36 เมตร ขณะที่การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในนการปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ 5,400 ลิตร ส่วนทีมตัดแก๊สจากทหารบก จำนวน 3 ชุด ทหารเรือ 1 ชุด ปฏิบัติหน้าที่กันตั้งแต่ช่วงเที่ยงเมื่อวานนี้ จนถึง 07.00 น. ของวันนี้ (21 เม.ย.) ทำให้รถเครื่องจักรหนักสามารถทำงานได้ต่อเนื่องและเร็วขึ้นกว่าเดิม แต่เกิดปัญหาขึ้นคือ รถเครื่องจักรหนัก ประสบปัญหาอ่อนล้าของเครื่องจักรจนเสีย ซึ่งพบทั้งหมด 12 เคส ส่วนหัวเครื่องจักรที่เป็นตัวเจาะแล้วเสียนั้น ต้องรอให้ทางบริษัทของรถเครื่องจักรเข้ามาดูแลหรือเปลี่ยนหัว แต่ตัวนี้ก็ได้รถเครื่องจักรเบอร์ 10 เข้ามาช่วยทุนแรงอีกทางหนึ่ง
ส่วนการดำเนินการยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางโซน C1-C5 เปิดทางเชื่อมได้แล้ว ซึ่งเป็นที่พบร่างผู้ประสบภัยทั้ง 4 ราย โซน B ยังคงดำเนินการอยู่ระหว่าง B1 และ B4 เพื่อที่จะให้เชื่อมกันซึ่งเหลือประมาณ 3 เมตร ก็จะเชื่อมกัน ส่วนโซน A และ D ยังคงเป็นการนำเศษหินเศษปูนและเส้นเหล็กออกจากบริเวณดังกล่าว เป็นการลดความสูงออกและสกัดด้านข้างให้เป็นวงแคบลง
เป้าหมายหลังจากนี้ จะลดความสูงของตัวซากอาคาร สตง.ให้เหลือถึงชั้นที่ 1 ภายในสิ้นเดือนนี้และค่อยปรับแผนใหม่ เพราะการทำงานที่ชั้นใต้ดินจะมีรูปแบบการทำงานไม่เหมือนที่ผ่านมา จากการเจาะจะเป็นการขุดแทน ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องมีการประชุมอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เจาะถึงชั้นที่ 1 แล้ว
ทั้งนี้ ภาพรวมการทำงานของทางทีมกู้ภัย จะต้องดำเนินการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าปฏิบัติหน้าที่กันไป โดยได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ หน่วยงาน หลังจากนี้จะมีรถขนาดใหญ่เข้ามาสนับสนุนด้วยอีก 1 คัน