ผอ.สำนักป้องกันฯ เผยคืบหน้ากู้ซากตึก สตง.ถล่ม พบผู้สูญหายเพิ่มอีก 6 ร่าง ส่งพิสูจน์อัตลักษณ์ ส่วนกรณีเครื่องจักรทำงานตลอดเวลา ไม่ทำให้หลักฐานเสียหาย
วันนี้ (18 เม.ย.) นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงความคืบหน้ากรณีการกู้ซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม และค้นหาผู้สูญหาย ว่า วันนี้ยอดความสูงของอาคาร สตง.ที่มีความสูงเมื่อวานอยู่ที่ 13.05 เมตร ตอนนี้ยอดความสูงตรวจสอบเมื่อเวลา 09:00 น.ที่ผ่านมา ลดลงมาเหลืออยู่ที่ 12.45 เมตร ซึ่งเป็นยอดบริเวณด้านหน้าติดกับโซน B
ส่วนบริเวณด้านหลังโซน C เจ้าหน้าที่ได้มีการขุดลึกเพิ่มลงไปประมาณ 3 เมตร ซึ่งพบร่างผู้เสียชีวิตตั้งแต่เมื่อวานนี้ (17 เม.ย.) ช่วงเย็น 2 ร่างครึ่ง รวมทั้งหมดเป็นประมาณ 6 ร่าง ร่วมถึงชิ้นส่วนมนุษย์อีกประมาณ 14 ชิ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการรอสถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจยืนยันอัตลักษณ์บุคคล อีกครั้ง
โดยเมื่้อเวลา 00.20 น. ที่ผ่านมา บริเวรโซน C และ โซน B เจ้าหน้าที่พบบริเวณปล่องบันไดข้างลิฟต์ ตรงนั้นมีป้ายบอกเลขชั้น 17,18 และราวบันไดกันตก พบกลุ่มร่างผู้เสียชีวิตติดค้างอยู่ จึงคาดว่าเป็นปล่องบันไดหนีไฟอย่างแน่นอน ส่วนเมื่อ 2 วันก่อนที่ไม่เจอร่างผู้ติดค้างเลย เป็นเพราะเราเน้นการทำงานไปบริเวณจุด E ซึ่งคือยอดของอาคาร จึงต้องค่อยๆ กู้ซาก หากให้เครื่องจักรเร่งทำงานอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับอันตราย ส่วนบัตรประชาชนที่เจอภายในอาคารสตง. ยืนยันแล้วว่าเป็นบัตรของคนงานที่รอดชีวิต
ขณะที่การนำเครื่องตัดแก๊ส มาใช้ตัดเหล็กเส้นได้เยอะหรือไม่นั้น นายสุริยชัย ระบุว่าวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา รถขนเศษเหล็กสามารถขนได้ 176 รอบ ส่วนเมื่อวานนี้ขนได้ประมาณ 300 รอบ โดยในการทำงานได้มีการเพิ่มรอบในการเข้ามาขนเศษเหล็กเพิ่ม และมีการเพิ่มจำนวนทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาตัดเหล็กทำให้ปริมาณการตัดเหล็กนั้นมีความคืบหน้าไปมาก รวมถึงปริมาณในการขนออกมานั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของโพรงที่จะอยู่บริเวณด้านล่างของซากอาคารยังมีความหวังที่จะเจอคนที่งานรอดชีวิตหรือไม่นั้น คาดว่า ไม่น่าจะมีโพรงขนาดใหญ่แล้ว เพราะ จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญจากหลายส่วน มองว่าอาอาคารมีทั้งหมด 30 ชั้น มีความสูง 90 เมตร รวมถึงมีน้ำหนักที่มากพอถล่มก็ทับถมกันลงมาพร้อมกันในทีเดียวจนไปถึงชั้นใต้ดิน ขนาดหมวกนิรภัยของคนงาน ที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ 400 กิโลกรัมก็ถูกทับจนแบน
โดยตอนนี้ยังคงใช้แผนเดิมต่อไปยังไม่มีการปรับแผนคาดว่าจะถึงบริเวณชั้นหนึ่งได้ คือสิ้นเดือนเมษายนนี้ และอุปสรรคที่มีอยู่ตอนนี้ คือเศษเหล็ก เศษปูนที่นำออกมาแล้วไปไว้ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเริ่มมีพื้นที่ไม่พอ จึงจะทำการประสานกับผู้ว่าการรถไฟ เพื่อขอใช้พื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้จะต้องเก็บเศษปูนเหล็กทั้งหมดไว้ในครอบครองของรัฐก่อน ส่วนในอนาคตหากคดีจบลงแล้วตัวเจ้าของทรัพย์สินจะเป็นผู้ดำเนินการ
ส่วนการที่เครื่องจักรทำงานตลอดเวลาจะทำให้หลักฐานได้รับความเสียหายหรือไม่ นายสุริยชัย ระบุว่า ชุดคณะกรรมการที่รัฐบาลมีการตั้งขึ้น และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องนี้ ได้ทำงานเป็นทีมเดียวกัน ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาภายในไซด์งานและจะตรวจสอบหลักฐานผ่านกล้องโดรน พอเห็นจุดไหนที่คาดว่าเป็นหลักฐานก็จะมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเครื่องจักรในพื้นที่ ให้เครื่องจักรหยุดทำงาน และเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปเก็บหลักฐาน ซึ่งตอนนี้เราให้ความสำคัญกับผู้ที่ติดค้างอยู่ภายในอาคาร ถ้าจะให้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บหลักฐาน ก็จะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการค้นหาร่างผู้ติดค้างเรายังคงเน้นค้นหาร่างผู้สูญหาย
ลดยอดตึกถล่มเหลือ 12 เมตร เครื่องจักรทำงานสลับกับทีมค้นหา คาดว่าจากชั้น 18 ลงมาจะพบร่างผู้ติดค้างมากขึ้น
เมื่อวันที่ 18 เม.ย.68 เวลา 16.00 น. นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหว ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร ว่า ความคืบหน้าวันนี้ ณ เวลา 16.00 น. ผู้ประสบภัย 103 ราย เสียชีวิต 42 ราย บาดเจ็บ 9 ราย ติดค้าง 50 ราย รอพิสูจน์อัตลักษณ์ 2 ราย
สำหรับสถานการณ์จากการปฏิบัติงาน ทีมเจ้าหน้าที่สามารถลดความสูงของยอดซากตึกเหลืออยู่ที่ 12 เมตร โดยในโซน C,D เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ทหารเข้าปฏิบัติงาน ส่วนโซน A,B เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเข้าปฏิบัติงาน เครื่องจักรเน้นการทำงานโซนอิสราเอล คาดว่าจากชั้น 18 ลงมาจะพบร่างผู้ติดค้างมากขึ้น
ส่วนการทำงานเน้นเครื่องจักรหนักสลับกับทีมค้นหา ขนย้ายเศษปูนและเศษเหล็กจำนวน 307 เที่ยว ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ประมาณ 4,400 ลิตร ทีม DVI รวบรวมร่างผู้เสียชีวิต 2 ราย และชิ้นส่วนอวัยวะ 14 ชิ้น รอพิสูจน์หลักฐานยืนยัน ด้านสำนักการระบายน้ำเข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำชั้นใต้ดินและป้องกันน้ำท่วมขัง
การดูแลช่วยเหลือประชาชนและการเยียวยา กทม.ได้ เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว ได้แก่ ศูนย์พักพิง กทม. 3 แห่ง คือ การขอที่พักอาศัยผ่าน Airbnb ศูนย์พักพิงโรงเรียนวัดเสมียนนารี และศูนย์พักคอยญาติผู้ประสบภัย เขตจตุจักร โดยศูนย์พักพิงของผู้ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเข้าพักในอาคารเดิมได้ และขอที่พักอาศัยผ่าน Airbnb มียอดรวมที่ดำเนินการลงทะเบียนกับ Airbnb แล้ว จำนวน 613 ครัวเรือน ศูนย์พักพิง โรงเรียนวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร ยังสามารถรองรับได้ 150 คน ส่วนศูนย์พักคอยญาติ เขตจตุจักร รองรับได้ 82 คน เข้าพัก 75 คน ว่าง 7 ที่ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เม.ย.68 เวลา 10.00 น.)