xs
xsm
sm
md
lg

"ดีเอสไอ" ค้น 4 เป้าหมาย บริษัทกิจการร่วมค้า PKW ยึดเอกสารโยง สตง.ถล่ม ขยายผลคดีนอมินี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "ดีเอสไอ" เข้าค้น 4 เป้าหมาย "สำนักงานใหญ่ บินลิง วู - บริษัทในนามกิจการร่วมค้า PKW" เก็บหลักฐานขยายผลผู้ควบคุมงานตึก สตง.ถล่ม

วันนี้ (17 เม.ย.) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีพิเศษเลขที่ 32/2568 กรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ว่า ในส่วนเรื่องสัญญา 4 ฉบับที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง อันประกอบด้วย 1.สัญญาการออกแบบโครงสร้าง (ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ แต่มีบริษัทเอกชนเป็นผู้ออกแบบ) 2.สัญญาควบคุมงาน 3.สัญญาการก่อสร้าง และ 4.สัญญาการเปลี่ยนแบบ หรือสัญญาขอแก้ไขเพิ่มเติมแบบ ซึ่งมันคือส่วนควบของสัญญาก่อสร้าง และสัญญาการออกแบบโครงสร้างก็ได้ เนื่องจากมีการแก้แบบระหว่างทาง เพราะการแก้ไขแบบก็ต้องให้คนออกแบบเป็นผู้อนุมัติ

"ดังนั้น บริษัทที่เกี่ยวข้องจะเป็นบริษัทผู้ออกแบบ คือ บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว มันต้องเริ่มตั้งแต่ผู้รับเหมา เสนอไปที่ผู้ควบคุมงาน จากนั้นหากผู้ควบคุมงานเห็นด้วย ก็เสนอไปยังผู้ออกแบบว่าอนุมัติหรือไม่ หากผู้ออกแบบอนุมัติว่าทำแล้วไม่กระทบกับโครงสร้างก็เสนอไปยังคณะกรรมการเพื่อตรวจการจ้างฯ ทั้งนี้ ส่วนการออกแบบและการแก้ไขแบบจะต้องมีผู้แทนของ สตง. อนุมัติหรือไม่นั้น ทราบว่าจะมีคณะกรรมการบริหารเรื่องสัญญาจ้างอยู่ แต่ตามหลักการแล้ว อะไรที่รัฐเซ็นไปแล้ว รัฐต้องได้ประโยชน์"

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ส่วนเรื่องฝุ่นแดง ยังอยู่ระหว่างกระบวนการของดีเอสไอในการออกเลขสืบสวนคดีพิเศษ เพราะทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ขอความอนุเคราะห์ดีเอสไอร่วมสืบสวนด้วย ขณะที่เรื่องเหล็กตกมาตรฐาน ทราบว่าทางสำนักงานผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) นำเหล็กไปตรวจสอบแล้ว หากพบความผิดใด ทาง สมอ. จะเป็นผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอต่อไป

พ.ต.ต.วรณัน เผยด้วยว่า สำหรับประเด็นบทบาทของนายพิมล เจริญยิ่ง อายุ 85 ปี ทราบว่าเจ้าตัวมีชื่อเป็นผู้ออกแบบ ขณะที่นายสมเกียรติ ชูแสงสุข เป็นคนที่มีชื่อเป็นคนขอแก้ไขแบบในฐานะผู้ควบคุมงาน ซึ่งทั้งคู่เป็นคนละขั้นตอนกัน ดังนั้น คนที่ไปปลอมลายเซ็นชื่อ แอบอ้างชื่อนายสมเกียรติ คือใครนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างการขยายผล

พ.ต.ต.วรณัน เผยด้วยว่า วานนี้ (16 เม.ย.) ทางดีเอสไอได้ประสานไปยังนายพิมล เจริญยิ่ง เพื่อขอความร่วมมือเข้าให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ให้ข้อเท็จจริง ส่วนเจ้าตัวจะตอบรับอย่างไรนั้น จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าเพราะเรื่องนี้ประเทศชาติเสียหาย ดังนั้น รายละเอียดที่จะใช้ในการสอบถามจะต้องเป็นประเด็นสำคัญ เพราะจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่มาใช้ต่อกับภาพอื่นในคดีได้ด้วย นอกจากนี้ หากดีเอสไอรวบรวมพยานหลักฐานจนเห็นความเกี่ยวข้องว่าใครเข้ามาเกี่ยวข้องช่วงใดของงานบ้าง เกี่ยวข้องอย่างไร จึงจะเริ่มมีการออกหมายเรียกพยานนิติบุคคลต่างๆ เข้าให้ข้อมูลคดี

ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมจากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษว่า วันนี้ดีเอสไอได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลาอาญารัชดาภิเษกออกหมายค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 จุด ได้แก่ 1.สำนักงานใหญ่ของนายบินลิง วู 2.บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด 3.บริษัท ว. และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และ 4.บริษัท เคพี คอลซัลแทนส์ จำกัด เพื่อตรวจค้นและตรวจยึดพยานเอกสาร พยานวัตถุที่เกี่ยวข้องในคดีที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ คือ คดีพิเศษที่ 32/2568 หรือคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด


ขณะที่การจัดลำดับกลุ่มหมายเรียกพยานของดีเอสไอ ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.68 - 15 พ.ค.68 มีรายงานว่า แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้รับงานก่อสร้างและผู้เกี่ยวข้อง 7 ราย คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด , นายเวนจี้ ลู , นายบินลิง วู , นายโสภณ มีชัย , นายประจวบ ศิริเขตร , นายมานัส ศรีอนันท์

2.กลุ่มผู้ทำบัญชีและตรวจสอบบัญชี 6 ราย คือ น.ส.ศุทธวีร์ (สงวนนามสกุล) , น.ส.ธีรดา (สงวนนามสกุล) , น.ส.มณีรัตน์ (สงวนนามสกุล) , นายนครินทร์ (สงวนนามสกุล) , นายวรพจน์ (สงวนนามสกุล) , น.ส.พิชญพร (สงวนนามสกุล) และ

3.กลุ่มผู้เสนอราคา (ไม่รวมกิจการร่วมค้า ITD) 6 ราย คือ บริษัท อาคาร 33 จำกัด , บริษัท กิจการร่วมค้า ยูเวิร์คนีโอแอนด์มาร์ชเทน จำกัด , บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) , บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (จำกัด) มหาชน , บริษัท เอ็นเเอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ กิจการร่วมค้าวรเรียล


กำลังโหลดความคิดเห็น