xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยธ. เปิดเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งศูนย์ระหว่างพิจารณาคดีแยกผู้ต้องขังเด็ดขาดตามหลักสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ติธรรม เปิดเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) แยกการควบคุมผู้ต้องขัง หนุนเปลี่ยนราชทัณฑ์ให้เป็นพื้นที่สร้างความปลอดภัย

วันนี้ (9 เม.ย.) ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) เป็นศูนย์แยกการควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี และผู้ต้องขังเด็ดขาดของกลุ่มเรือนจำในกรุงเทพมหานคร โดยมี นายสหการณ์ เพ็ชรนริทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมให้การต้อนรับ

ภายในงาน มีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ข้อมูล แนวคิดในการจัดตั้งเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี มีการเสวนา Mini Talk การสื่อสารสาธารณะ : อิสรภาพที่หายไป ก่อนการตัดสิน สิทธิและโอกาส ในการพิสูจน์ตนเองของชีวิตหลังกำแพง โดย นายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช (เบนซ์ เรซซิ่ง), นายพัฒนพล มินทะขิน (ดีเจแมน), นายนพนันท์ ทองเคลือ (เอิร์น วัดใหญ่) ฯลฯ เป็นต้น รวมถึง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่มาร่วมเสวนา การสื่อสารสาธารณะ Exclusive Talk การจัดตั้งเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี ด้วย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวระหว่างการเสวนา การสื่อสารสาธารณะ Exclusive Talk การจัดตั้งเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี ว่า การจะนำพาประเทศไปให้เจริญรุ่งเรืองจะวัดจากคุณภาพของคน ไม่ได้วัดกันที่ขนาดของประเทศ เราต้องให้ความสำคัญกับคน คนทุกคนมีคุณค่าในประเทศไทย ซึ่งวันนี้ถ้าเราตรวจสอบอัตราประชากรแสนคน เรามีผู้ต้องราชทัณฑ์มากที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก โดยประชากรจีนแสนคนมีผู้ต้องราชทัณฑ์ประมาณร้อยกว่าคน , ญี่ปุ่น มีประมาณ 40 คนเศษ , เกาหลีใต้ ประมาณ 60 คน , อินโดนีเซีย ประมาณ 100 คน แต่ของไทยเรามีประมาณ 450 กว่าคน ซึ่งถูกมองว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่พิกลพิการ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายเชิงอำนาจนิยมเกินไป อะไรก็ผิด นักอาชญวิทยาก็รู้ว่าเราไปห้ามแบบ ห้ามอะไรก็ผิด อย่างไรก็ตาม อดีตเราแก้ไขไม่ได้เป็นบทเรียน อนาคตคือความรับผิดชอบ ตนคิดว่าคนที่ก้าวพลาด ทุกคนมีสิทธิ์ทำผิดพลาด แต่อยากให้นึกถึงโอกาส บางคนทำผิดพลาดเพราะอยากให้สังคมดีขึ้น วันนี้ตนต้องการให้คนที่อยากได้โอกาสมากที่สุด คือคนที่อยู่หลังกำแพงและผู้ต้องราชทัณฑ์ คนกลุ่มนี้ไม่ต้องการความสงสาร แต่เขาต้องการโอกาส ซึ่งโอกาสเป็นสิทธิ์ของเขา กฎหมายและรัฐธรรมนูญใจกว้างมาก แต่คนมาบริหารกฎหมายบางครั้งใจแคบ แค่ในรัฐธรรมนูญ คดีอาญา ถ้าศาลยังไม่ได้ตัดสินถึงที่สุด ก็ถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อเราไปยอมรับกฎหมายนี้แต่เมื่อทุกคนไปอภิปรายฯ ก็ไม่กล่าวถึงอันนี้เลย

“ก่อนที่จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เราจะไปกระทำต่อเขาเหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ นี่เกิดกับผู้ต้องราชทัณฑ์ ทำไมเราถึงปล่อยให้เป็นเช่นนี้” รมว.ยุติธรรม กล่าว


พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ผู้สูงอายุรวมถึงคนหนุ่มสาวของเรา เหล่านี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมหมด นอกจากโอกาสแล้ว อยากให้เรือนจำต้องเปลี่ยน นอกจากให้โอกาสเป็นสถานที่ฟื้นฟู ให้เป็นคนใหม่และมีชีวิตใหม่ พระราชบัญญัติฯราชทัณฑ์ที่เขียนมาไม่มีเพื่อนักโทษระหว่างเลย ไม่มีประโยคไหนเพื่อนักโทษระหว่าง เป็นนักโทษเด็ดขาดหมด นักโทษระหว่างนี้เป็นคนที่ถูกฝาก เป็นการฝากมา เป็นคนที่ถูกไม่ได้ประกันเกือบ 70,000 คน แล้วนักโทษเด็ดขาด เขาถูกเนรเทศไปดินแดนต้องห้ามแล้ว ถูกฝึกอาชีพบ้าง แต่นักโทษระหว่าง เราจะต้องไปฝึกอาชีพเขาหรือ เพราะเขายังคิดว่า เขามีโอกาสชนะคดีที่ศาล

”วันนี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่คิดว่า เราจะต้องเปลี่ยน
ผมอยากจะเปลี่ยนให้ราชทัณฑ์ให้เป็นพื้นที่สร้างความปลอดภัยและความมั่นคงและความเจริญให้กับประเทศ“ รมว.ยุติธรรม กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีเด็ดขาดต้องทำอย่างที่ผมพูดคือการฟื้นฟูเพื่อให้เขาเป็นคนใหม่ มีชีวิตใหม่ มีอาชีพใหม่ เชื่อว่าเขาจะได้ใช้สติปัญญา ศักยภาพ ตัวอย่างเช่น ผู้ต้องราชทัณฑ์ ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือ Drop Out ถึงร้อยละ 77 หรือสองแสนกว่าคน ซึ่งไม่อยากให้คนเหล่านี้หมุนเวียนไปกับเรือนจำกับยาเสพติด หากมีความประพฤติดี มีความก้าวหน้าด้านการศึกษา สามารถพักโทษได้ วันนี้เราเลยมีโครงการว่า อ่านหนังสือเล่มหนึ่งจะพักโทษกี่วัน เรื่องความก้าวหน้าด้านการศึกษาจะสร้างความปลอดภัยและความมั่นคง เฉลี่ยคนไทยทั้งประเทศ อ่านหนังสือปีละ 7 บรรทัด ถ้าเราให้คนในราชทัณฑ์ อ่านหนังสือมากกว่าค่าเฉลี่ยคนไทย สัก 10 เท่า จะเป็นการสร้างคน เพราะมนุษย์เป็นเชลยของความคิดและปัญญา

"ดังนั้น ผมคิดว่าการอ่านหนังสือ เป็นการให้ปัญญาเช่นกัน ในกฎหมายราชทัณฑ์ เราไม่เคยพูดถึงคดีระหว่างเลย เพราะเขียนว่าคนฝาก มาฝากไว้ในนิยาม ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายที่สูงที่สุดและเป็นกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม เราก็อยากจะทำให้มีเรือนจำระหว่าง ซึ่งจริง ๆ ต้องมีเรือนจำระหว่างทุกแห่ง ไม่ใช่ระหว่างที่นี่ที่เดียว การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม บางครั้งก็ยาก เพราะสิ่งที่ดีที่สุด บ้างครั้งต้องเผชิญกับความเชื่อ ความฝังใจมันมีอยู่ ก็เลยอยากจะฝากไว้"

รมว.ยุติธรรม กล่าวเสริมว่า ขอบคุณเรือนจำพิเศษมีนบุรี ที่ผู้ต้องขังระหว่างไม่ต้องใส่ชุดลูกวัว และโซ่ตรวนขึ้นศาล ซึ่งศาลท่านยังบอกเลยให้แต่งตัวธรรมดา คนได้ประกันใส่สูท คนไม่ได้ประกันต้องใส่ชุดลูกวัว เราต้องให้สิทธิ์เขาเป็นต้น เราต้องให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้ต้องราชทัณฑ์ก็เป็นคน ต้องขอขอบคุณอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขอขอบคุณคณะกรรมการราชทัณฑ์ และผู้บัญชาการเรือนจำ และข้าราชการกรมราชทัณฑ์ทุกท่าน

"วันนี้เราอาจจะมีที่คุมขังอื่น เดิมเรามีกฎกระทรวง เมื่อปี 2563 ไม่เช่นนั้น เราจะไม่มีเงินไปสร้างเรือนจำ ที่คุมขังอื่น เป็นที่จำกัดสิทธิ์เขาเหมือนกัน ทำอย่างไรจะให้เรือนจำลดการแออัด เพราะเรือนจำมีไว้ออก ไม่ได้มีไว้เข้า ไม่ให้อยากเกิดการกระทำผิดซ้ำ นี่เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจ ว่าอย่างน้อย เราได้เริ่มต้น เมื่อเราเริ่มต้น ก็จะถูกท้าทาย ถูกเสียดทาน ผมก็จะคิดเสมอ ว่า อะไรที่ทำไม่มีไม่ประสบความผิดหวัง คนที่ไม่ประสบความผิดหวัง คือ คนไม่ทำอะไรเลย โดยเฉพาะการไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง" รมว.ยุติธรรม กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) เป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติงานควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี แยกการควบคุมจากผู้ต้องขังเด็ดขาด ตามข้อกำหนดของกรมราชทัณฑ์ ที่เริ่มจาก การจัดตั้งศูนย์แยกการควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี และผู้ต้องขังเด็ดขาด ให้ทำหน้าที่เป็น Hub ให้กับเรือนจำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดเดียวกัน ซึ่งกรมราชทัณฑ์กำหนดไว้ 8 กลุ่มจังหวัดได้แก่ จังหวัดลำปาง, พิษณุโลก, พระนครศรีอยุธยา, ขอนแก่น, นครศรีธรรมราช, สงขลา, ปทุมธานี และกรุงเทพฯ

กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม มีการนำร่องเพื่อสร้างแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ให้การควบคุมผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล สำหรับเรือนจำอื่น ๆ ให้ดำเนินการแยกการควบคุมผู้ต้องขังฯ ตามความเหมาะสมของลักษณะกายภาพของเรือนจำแต่ละแห่ง เนื่องจากในบางเรือนจำมีพื้นที่แดนเดียว จึงต้องแบ่งแยก หรือ Block Zone กั้นพื้นที่ อย่างน้อยต้องแยกห้องนอนผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีกับนักโทษเด็ดขาด ออกจากกันชัดเจน พร้อมการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปตามมาตรฐาน ด้านการควบคุมตัว ตามระเบียบของราชการซึ่งมีการจัดจุดบริการ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องสมุด ห้องพยาบาล การบริการเยี่ยมญาติ และการพบทนายความ รวมถึงกิจกรรมที่ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีจะได้รับ บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน


กำลังโหลดความคิดเห็น