ผู้ว่าฯ กทม.แถลงขอโทษเข้าไม่ถึงจุดพบสัญญาณชีพผู้ติดค้างได้ยินเสียงตอบกลับ เจออุปสรรคทั้งเหล็ก-โพรงแคบ หลังจากนี้ ปรับแผนรื้อขนย้ายซากอาคารควบคู่ไปกับการค้นหา
วันนี้ (4 เม.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. น.ส.ภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร และนายสุริยชัย รวิวรรณ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมแถลงความคืบหน้าการค้นหาผู้สูญหายในตึกก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เเห่งใหม่ถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าถึงจุดที่คาดว่า จะมีสัญญาณต้องสงสัยที่เชื่อว่ามีผู้ติดค้างอยู่ได้ เพราะแม้จะขุดลึกไปมากเพียงใด ก็ยังคงเจออุปสรรคเป็นเหล็กและโพรงแคบ ซึ่งตลอดทั้งวันของเมื่อวานที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้นำเอาเศษซากปูนตรงจุดที่พบสัญญาณต้องสงสัย ออกไปถึง 20 ตัน โดยถือว่าเป็นน้ำหนักที่มากจากซากทั้งหมด ทั้งนี้ ต้องขอโทษประชาชนด้วย เพราะไม่สามารถเข้าถึงจุดที่คาดว่า จะมีผู้สูญหายติดอยู่ หลังจากได้ยินสัญญาณเสียงตะโกน และเคาะตอบ บริเวณโซน บี
โดยปฏิบัติการค้นหาต่อเนื่องมาตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการยกแผ่นคอนกรีตออก อาสาสมัครนับร้อยคน สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันลงไป จนกระทั่งเมื่อคืนนี้ เวลาประมาณเที่ยงคืน ได้สรุปกันว่า เข้าไปไม่ถึงแน่นอน
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า จากการประเมิน โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ซากปรักหักพังที่มีอยู่จากเหตุตึก สตง.พังถล่ม จะมีน้ำหนักกว่า 40,000 ตัน ซึ่งการรื้อขนย้ายโครงสร้างอาจจะต้องใช้เวลา 30-60 วัน สาเหตุที่ต้องใช้เวลานาน เพราะการรื้อย้ายโครงสร้างดังกล่าวต้องควบคู่ไปกับการค้นหาผู้ที่คิดค้างภายใน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวัง มากกว่าปกติ
โดยการทำงานจะใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น แบ็กโฮ และตัวตัดเข้ารื้อถอนชิ้นส่วนโครงสร้าง แต่จะมีทีมกู้ภัยกู้ชีพ คอยเตรียมความพร้อมกรณีพบสัญญาณต้องสงสัย เพื่อทำการตรวจสอบ ขณะเดียวกัน จะมีทีมตำรวจและสำนักงานตรวจพิสูจน์หลักฐาน เข้าเก็บชิ้นส่วนต้องสงสัยต่างๆ เพื่อนำไปตรวจสอบ
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ค้นพบโพรงขนาดใหญ่ที่บริเวณโซน ซี ด้านขวาหลัง ซึ่งเป็นโพรงที่คาดว่าจะเป็นโถงลิฟต์ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ส่งทีมเข้าไป จึงทำให้พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 2 ร่าง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถนำออกมาได้ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถนำออกมาได้เพิ่มเติม เพราะอุปสรรคคือพบโครงสร้างทับบริเวณร่างของผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ การทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เพราะโครงสร้างที่กีดขวาง มีลักษณะที่ไม่เสถียร ยืนยันทุกคนไม่เสียกำลังใจ แม้จะยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ติดค้างได้เพิ่มเติม เพราะทุกคนทำดีที่สุดแล้ว และมีการปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มที่ ซึ่งกำลังใจมาจากการที่ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนภาคภูมิใจ
ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เข้ามาพูดคุยเรื่องเทคโนโลยีเพื่อแนะนำทีมเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ซึ่งการทำงานไม่สามารถกำหนดรูปแบบได้ เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และถือว่าเป็นครั้งแรกของโลก และส่วนตัวเชื่อว่า ไม่มีตำราเล่มไหนบอกว่าต้องทำอย่างไร
ส่วนที่เมื่อเวลาประมาณ 03.30 น.ที่ผ่านมา ปรากฏภาพการส่งสุนัข K-9 เข้าไปตรวจสอบ นายชัชชาติ ระบุว่า เบื้องต้นเป็นรูปแบบการทำงานของทีม K-9 อยู่แล้ว เมื่อใช้เครื่องจักรหนักเสร็จ จะส่งทีมค้นหาและกู้ภัยเข้าไป หากใช้เครื่องมือขนาดเล็กเจาะเข้าไปไม่ได้ ก็จะส่งทีม K-9 เข้าไปสำรวจ เพื่อตรวจสอบหาสัญญาณชีพหรือผู้เสียชีวิตภายในซาก ก่อนจะสลับหมุนเวียนกำลังในการปฏิบัติงาน
ด้าน นางวันทนีย์ ระบุว่า อยากขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ไม่นำเสนอข้อมูลที่อาจสร้างความสับสน หลังปรากฏข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่ามีการใช้ภาพจากประเทศเมียนมา มาอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ตึก สตง.พังถล่ม
ขณะที่ รศ.ทวิดา กล่าวว่า ขณะนี้การทำงานของทีมจิตแพทย์แบ่งเป็น 2 ทีม ในการพูดคุยกับญาติผู้ติดค้าง และมีทีมแพทย์ให้ความช่วยเหลือดูแลผู้บาดเจ็บจากการปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งพบว่าขณะนี้ญาติของผู้สูญหาย มีความเครียด เนื่องจากบางครั้งได้พบเห็นข้อมูลข่าวปลอมจากสื่อโซเชียลมีเดีย ประกอบกับเมื่อได้ยินเสียงเครื่องจักรหนักกลับมาทำงานอีกครั้ง ทำให้หลายคนมีความหวัง แต่เมื่อเวลาผ่านมาไปหลายชั่วโมง เครื่องจักรหนักกลับมาทำงานอีกครั้ง ญาติก็เริ่มทำใจในส่วนหนึ่ง และเริ่มเปลี่ยนคำถาม ถ้าเสียชีวิตออกมา เขาต้องทำอย่างไร จึงทำให้ญาติ มีความรู้สึกมีความหวังสลับกับผิดหวัง