xs
xsm
sm
md
lg

"ดีเอสไอ" ประชุมร่วมอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน ฐานคดีฟอกเงิน ฮั้วสว. ครั้งแรก 21 มี.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "ดีเอสไอ" ประชุมนัดแรก อสส. มอบอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 ร่วมหารือแนวทางคดีอาญาฐานสมคบฟอกเงิน ฮั้วสว. วันที่ 21 มี.ค.นี้

สืบเนื่องจาก คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติเห็นชอบให้รับคดีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ในคดีฮั้ว สว.67 ไว้เป็นคดีพิเศษ ด้วยมติชี้ขาด 11 เสียง จากทั้งหมด 18 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง โดยอำนาจของ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการเซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 41 รายชื่อ เพื่อสืบสวนและสอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 11 มี.ค.68

วันนี้ (20 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า วานนึ้ (19 มี.ค.) อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับเอกสารจาก สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เลขที่ อส 0033.1/198 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2568 เรื่อง แจ้งชื่อพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายให้สอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อ้างถึง หนังสือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด่วนที่สุด ที่ ยธ 0824/0845 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2568 สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาคำสั่งสำนักงานการสอบสวน ที่ 6/2568 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2568

"ตามหนังสือที่อ้างถึง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณามอบหมาย พนักงานอัยการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อนุมัติ ให้ทำการสอบสวน กรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการกระทำความผิดตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตาม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ ข้อ 7 คดีความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) (ข) (ค) (ง) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยลักษณะของการกระทำความผิดดังกล่าวผู้กระทำความผิดเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน อันเป็นลักษณะของความผิดตามพระราชบัญญัติ การสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ง) ซึ่งตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสอบสวนร่วมกันหรือการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน ในคดีพิเศษระหว่างพนักงานสอบสวนคดีพิเศษกับพนักงานอัยการหรืออัยการทหาร พ.ศ.2547 กำหนดให้คดีพิเศษดังกล่าวต้องมีพนักงานอัยการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานอัยการคนหนึ่งคนใดในสำนักงาน การสอบสวน ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในคดีดังกล่าว สำนักงานการสอบสวน มอบหมายให้ พนักงานอัยการตามคำสั่งสำนักงานการสอบสวนที่ 6/2568 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานพนักงานอัยการร่วมสอบสวนคดีพิเศษคนหนึ่งคนใด ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และขอให้ท่านประสานกับพนักงานอัยการเพื่อกำหนดวันเวลาในการร่วมสอบสวนต่อไป"

ร.ต.อ.โชคชัย สิทธิผลกุล อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี รักษาการในตำแหน่ง อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นผู้ลงนาม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมนัดประชุมร่วมกันครั้งแรก หลังได้รับเอกสาร สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เรียบร้อยแล้ว โดยมอบหมายคณะพนักงานสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 เข้าร่วม ซึ่งรับเป็นคดีพิเศษที่ 24/2568 เพื่อสอบสวนพิจารณาแนวทางการทำคดีประเด็นการฟอกเงิน ในวันศุกร์ที่ 21 มี.ค.68 ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น