ผบ.ตร.ลงนามคำสั่งไล่ออก "บิ๊กโจ๊ก" กับพวก 5 คน ปมพัวพันเว็บพนันออนไลน์ ตามคณะกรรมการพิจารณาโทษเสนอ เจ้าตัวมีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อก.พ.ค.ตร.ภายใน 30 วัน
วันนี้ (11 มี.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ลงนามคำสั่ง ตร.ที่ 157/2568 ลงวันที่ 11 มี.ค. เรื่องลงโทษไล่ข้าราชการตำรวจออกจากราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.2567 เป็นต้นไป โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้ 1.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. 2.พ.ต.อ.กิตติชัย สังขถาวร รองผบก.ภ.จว.สงขลา 3.พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ รองผกก.สส.สภ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ 4.ส.ต.อ.ณัฐวุฒิ หวัดแวว ผบ.หมู่ (ทำหน้าที่จราจร) งานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กก.6 บก.จร. 5.ส.ต.อ.ณัฐนันท์ ชูจักร ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร.
เนื่องจากมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับเว็บ พนันออนไลน์ชื่อ BNKMASTER และถูกดำเนินคดีอาญา ตามคดีอาญาที่ 391/2566 ของ สน.เตาปูน พร้อมทั้งถูกศาลอาญาออกหมายจับในความผิดฐาน สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ม.112 (6)(9) ประกอบม.111 (1) (2) (15) และ (16)
โดยกรณีนี้ได้ผ่านกระบวนการสอบสวนทางวินัยตามขั้นตอนของกฎหมาย คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของข้าราชการตำรวจทั้ง 5 นาย เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงมีมติเห็นควรลงโทษไล่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล กับพวกรวม 5 นายออกจากราชการ และคณะกรรมการพิจารณาเพื่อเสนอแนะการลงโทษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2568 แล้วมีมติเห็นควรลงโทษไล่ พล.ต.อ.สรเชษฐ์ กับพวกรวม 5 นาย ออกจากราชการ เช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ กับพวกไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ
ทั้งนี้ ผู้ถูกลงโทษสามารถอุทธรณ์คำสั่งนี้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ สามารถทำคำฟ้องเป็นหนังสือยืนต่อศาลปกครองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 90 วัน นับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อไป
ทั้งนี้ หากก.พ.ค.ตร.ยืนตามคณะกรรมการวินัย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังสามารถใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดยืนตามก.พ.ค.ตร. ก็จะทำให้คดีวินัยถึงที่สุดก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณาถอดยศตำรวจต่อไป
อนึ่ง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่มีพล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานได้สรุปสำนวนการสอบสวนก่อนส่งให้กองวินัยตรวจสอบก่อนเสนอพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) พิจารณาสั่งลงโทษ ซึ่งตามขั้นตอนผบ.ตร.จะต้องมีคำสั่งตามมติของคณะกรรมการพิจารณาโทษที่รอง ผบ.ตร.ทุกคนเป็นกรรมการ
ต่อมาวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รอง ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาโทษที่มีรอง ผบ.ตร.ทุกคน เป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาโทษวินัยร้ายแรงของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.กรณีพัวพันเว็บพนันผิดกฎหมาย โดย พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมเนื่องจากเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนวินัย ส่วนพล.ต.อ.นิรันดร เหลื่อมศรี รอง ผบ.ตร.และพล.ต.อ.ธนา ชูวงษ์ รอง ผบ.ตร. ติดภารกิจจึงไม่ได้เข้าร่วมประชุมเช่นเดียวกัน ที่ประชุมจึงมีเพียงพล.ต.อ.ไกรบุญ พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข และพล.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รอง ผบ.ตร.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 125 บัญญัติไว้ว่าข้าราชการตำรวจที่กระทำผิดวินัยร้ายแรงเมื่อผู้มีอำนาจในที่นี้ คือ ผบ.ตร.จะสั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรง ซึ่งมี 2 สถานคือ ปลดออก ไล่ออก
ทั้งนี้ ตามขั้นตอน ผบ.ตร.จะสั่งเลยทันทีไม่ได้ จะต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษ เพื่อเสนอแนะว่าต้องลงโทษสถานใด ระหว่างปลดออก ไล่ออก เมื่อพิจารณาแล้วได้ความว่าอย่างไรจะต้องเสนอแนะ ผบ.ตร.ในฐานะผู้มีคำสั่งแต่งตั้ง จากนั้น ผบ.ตร.จะต้องออกคำสั่งตามที่คณะกรรมการพิจารณาได้เสนอ
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ สามารถอุทธรณ์คำสั่ง ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ได้ หาก ก.พ.ค.ตร.ยืนตามคณะกรรมการวินัย พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ก็ยังสามารถใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป แต่หากศาลปกครองสูงสุดยืนตาม ก.พ.ค.ตร. ก็จะทำให้คดีวินัยถึงที่สุด จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณาถอดยศตำรวจต่อไป