xs
xsm
sm
md
lg

อสส.ตั้ง “อัยการวัชรินทร์” กำกับสอบสวนคดี 7 ตร.จราจร กระทืบผิดตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีสำนักงานการสอบสวน
อสส.ตั้ง “วัชรินทร์ ภาณุรัตน์” รอง อธ.อัยการสอบสวน นั่งหัวหน้าคณะทำงานกำกับสอบสวนคดี 7 อดีตตำรวจจราจรกระทืบผิดตัว ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย

จากกรณีปรากฏข่าว 7 ตำรวจจราจร สังกัดกองกำกับ 1 บก.จร. ก่อเหตุทำร้ายร่างกายคนขับรถมาสด้าสีแดง นายธนานพ เกิดศรีอายุ 34 ปี ลูกชาย พ.ต.ท.ธนชัย อายุ 62 ปี อดีต สว.กก.2 บก.ปทส. เกษียณอายุราชการ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นคนร้ายที่ขับรถแหกด่านตรวจ เหตุเกิดเมื่อเดือน ก.ย. 2567 บริเวณใกล้ด่านตรวจบริเวณซอยประเสริฐมนูกิจ 21 แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กทม. แต่ปรากฏว่า เป็นการจับกุมผิดตัว โดยเหตุเกิดเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2567 ซึ่งมีรายงานว่าได้มีคำสั่งให้ตำรวจทั้ง 7 นาย ออกราชการพร้อมตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายเเรง

โดยในส่วนคดีอาญาได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ ตร.ทั้ง 7 นาย ความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตำรวจทั้ง 7 นาย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ในส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ (พ.ร.บ.อุ้มหาย) ได้มีหนังสือแจ้งพนักงานอัยการเพื่อทราบและพิจารณาข้อเท็จจริงว่าเป็นความผิดหรือไม่

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา นายโชคชัย สิทธิผล อธิบดีอัยการสำนักงานสอบสวน ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังดีเอสไอ แจ้งรายชื่อพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุด มีคำสั่งตั้งคณะทำงานผู้เข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ในคดีดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีสำนักงานการสอบสวน อัยการมือสอบสวนชื่อดัง เป็นหัวหน้าคณะทำงาน, น.ส.วณี เกษตรธรรม อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 5 เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน

โดยคณะทำงานประกอบด้วย น.ส.ทักษอร สุวรรณสายะ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด, น.ส.บุษยภา เมณฑกา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด, นายธีรัช ลิมปยารยะ อัยการจังหวัดประจำสำสำสำนักงานอัยการสูงสุด และมี น.ส.ศรัณย์ตา พงศ์หมายเกื้อ เจ้าพนักงานคดีชำนาญการพิเศษ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนในทันที เพื่อให้เป็นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ เเละระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯและแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ โดยเคร่งครัด

โดยจะเข้าร่วมการประชุมกับดีเอสไอวันที่ 12 มี.ค. 2568 ที่ห้องประชุม 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ซึ่งถือว่าเป็นการจับกุมควบคุมตัวและมีการทำร้ายร่างกาย ไม่ต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 31 บัญญัติไว้เพียงแค่แจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบเท่านั้น เพราะเมื่ออัยการสูงสุดชี้ขาดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบแทนพนักงานสอบสวนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลก็เป็นอำนาจหน้าที่ อสส.สั่งชี้ขาดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสอบสวนได้ แต่การสอบสวนดังกล่าวต้องมีอัยการเข้าไปตรวจสอบและกำกับการสอบสวนซึ่งเป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบแล้วถือว่าคดีนี้เป็นคดีพิเศษ เทียบเคียงกับคดีที่เกิดขึ้นคือคดีลุงเปี๊ยกที่ถูกตำรวจ สภ.อรัญประเทศจังหวัดสระแก้ว มีการซ้อมทรมาน ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนและมีอัยการเข้ามาตรวจสอบกำกับการสอบสวน
กำลังโหลดความคิดเห็น