xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยธ. เปิดงาน "2 ปี พ.ร.บ.อุ้มหาย" ปราบปรามการทรมาน-ช่วยเหลือผู้เสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เป็นประธานพิธี “2 ปี พ.ร.บ.ทรมานฯ : กุญแจสู่ความเป็นธรรม” กฎหมายต้องช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง

วันนี้ (24 ก.พ.) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 10-09 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมพร้อมปาฐกถาพิเศษ “2 ปี พ.ร.บ.ทรมานฯ : กุญแจสู่ความเป็นธรรม” โดยมี น.ส.เอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก คุณซินเทียร์ เวลิโก้ ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรยายเกี่ยวกับมุมมอง และความคาดหวังต่อ พ.ร.บ.ทรมานฯ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “อุโมงค์แห่งความยุติธรรม : Key of Juctice” ซึ่งมี ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

พ.ต.อ.ทวี เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ให้ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การปราบปราม และการเยียวยา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง และภายในงานยังมีการนำเสนอผลงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว

โดย รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ กล่าวว่า ในเรื่องของการป้องกันการกระทำความผิด ว่าเป็นส่วนที่ความสำคัญมากที่สุด โดยที่ผ่านมาได้เร่งสร้างความตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ มีการปรับรูปแบบการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกฎหมายที่กำหนดไว้ มากยิ่งขึ้น การปราบปรามผู้กระทำความผิด ซึ่งตาม พ.ร.บ.ฯ ที่มีการกำหนดให้หลายหน่วยงานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และปัจจุบันมีคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาล จำนวน 2 คดีแล้ว

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า โดยทั้ง 2 คดีหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนได้บูรณาการกันทำคดีกันอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังไม่ลดละต่อการติดตามและตรวจสอบกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหายในบัญชี UN ซึ่งสูญหายไปตั้งแต่ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ที่ผ่านมา ได้คลี่คลายคดีแล้วจำนวน 15 ราย รวมทั้ง มีการติดตามตรวจสอบกรณีการสูญหายของคนไทยในต่างประเทศจำนวน 9 รายด้วย และในส่วนของการเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวนั้น ก็ได้มีการเร่งรัดติดตามร่างระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังเพื่อให้ความเห็นชอบอย่างเร่งด่วน หากระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็จะถือได้ว่าเป็นระเบียบที่มีการเยียวยาตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล


พ.ต.อ.ทวี กล่าวเสริมว่า สำหรับแนวทางในอนาคต กระทรวงยุติธรรม ก็จะให้ความสำคัญกับ 1.การป้องกัน โดยให้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บฯ ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสร้างการรับรู้กับภาคประชาชนและภาคประชาสังคม , 2.การปราบปราม โดยเร่งรัดติดตามการสืบสวนสอบสวนให้มีความรวดเร็ว และโปร่งใสมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และ 3.การเยียวยา ต้องมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างรวดเร็วเป็นธรรม โดยคำนึงถึงการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเท่าที่จะเป็นไปได้

“เป้าประสงค์ของการมี พ.ร.บฯ ฉบับนี้ นอกจากจะบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมุ่งประสงค์ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมาย และรักษาความยุติธรรมให้ประชาชนด้วย จากนี้ไปจะต้องไม่มีใครต้องถูกทรมานและอุ้มหาย และยังเชื่อว่า ก้าวต่อไปของ พ.ร.บฯ คณะกรรมการฯ และทุกภาคส่วนจะสามารถสานพลังให้มีการดำเนินงานที่เข้มแข็ง และมีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ เป็นเกราะป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ส่งเสริมหลักนิติธรรม และเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฎิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบมากขึ้น” รมว.ยธ. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น