xs
xsm
sm
md
lg

ศาลประทับฟ้องคดี “ผู้การแต้ม” ฟ้องกลับ ”บิ๊กโจ๊ก“ หมิ่นประมาท ให้สัมภาษณ์เหน็บรับราชการตำรวจไม่ประสบความสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


พล.ต.ต.ตรี วิชัย สังข์ประไพ หรือผู้การแต้ม
ศาลอาญาประทับฟ้องคดี “ผู้การเเต้ม” ฟ้องกลับ ”บิ๊กโจ๊ก“ ฐานหมิ่นประมาท ให้สัมภาษณ์เหน็บ "กูรูทางกฎหมายรู้จริงบ้าง ไม่รู้จริงบ้าง รับราชการตํารวจก็ไม่ประสบความสําเร็จศาลนัดสอบคำให้การ 19 พ.ค.นี้

วันนี้ (10 ก.พ.) ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องคดี ที่ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือ"ผู้การแต้ม"ฟ้อง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา

คำฟ้องระบุสรุปว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 จําเลยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ด้วยถ้อยคําว่า “กูรูทางกฎหมายรู้จริงบ้าง ไม่รู้จริงบ้าง” ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวหมายถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย ปัจจุบันโจทก์ให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านสื่อสาธารณะอยู่เป็นประจํา ซึ่งคําว่า “กูรูทางกฎหมาย” นั้น ประชาชนทั่วไปรับรู้ได้ว่าหมายถึงตัวโจทก์ เพราะในช่วงระยะเวลาที่จําเลยได้ให้สัมภาษณ์นั้น เป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับที่โจทก์ได้รับการติดต่อจากรายการทีวี ให้ไปเผยแพร่ความรู้ ความเห็นกรณีของจําเลยต่อสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่สื่อมวลชน และประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทําให้ประชาชนทั่วไป ที่ได้รับชมหรืออ่าน การให้สัมภาษณ์ของจําเลย ในคําว่า “กูรูทางกฎหมาย” ย่อมเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นโจทก์

ต่อมาวันที่ 28 มิ.ย.2567 จําเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์ในคดีอาญาฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงเป็นการยืนยันว่าในการให้สัมภาษณ์ความเห็นทางด้านกฎหมายของโจทก์ต่อประชาชนที่ได้รับชมหรือ ของจําเลยต่อสื่อมวลชนหลายสํานัก เป็นการจงใจใส่ความโจทก์อันเป็นเท็จต่อบุคคลที่สามจริง และถ้อยคําว่า “รับราชการตํารวจก็ไม่ประสบความสําเร็จ” ถ้อยคําดังกล่าวมีลักษณะ เป็นการใส่ความโจทก์ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการตํารวจ ยศพลตํารวจตรี มีชื่อเล่นว่า “แต้ม” ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนทั่วไปรู้จักโจทก์ในนาม “พลตํารวจตรีวิชัย” หรือ “ผู้การแต้ม” หรือ “รองแต้ม” หรือ “มือปราบหูดํา” ทําให้ประชาชนเข้าใจว่า โจทก์ไม่ประสบความสําเร็จทางราชการตํารวจ โดยโจทก์เคย รับราชการตํารวจมาเป็นเวลากว่า 30 ปี เคยดํารงตําแหน่งรองผู้บัญชาการตํารวจนครบาล ได้รับรางวัล สืบสวนดีเด่นของกรมตํารวจ ปี 2539 รางวัลข้าราชการดีเด่นของสมาคมวิชาชีพผู้สื่อข่าวแห่งประเทศ ไทย ปี 2543 รางวัลปราบปรามยาเสพติดดีเด่นของ ป.ป.ส. จากสํานักนายกรัฐมนตรี ปี2545-2546 เป็นต้น

การที่จําเลยใส่ความว่าโจทก์รับราชการตํารวจก็ไม่ประสบความสําเร็จดังกล่าว แม้จําเลยจะไม่ได้เอ่ยชื่อโจทก์โดยตรง แต่ข้อความดังกล่าวมีลักษณะชี้เฉพาะเจาะจงทําให้ประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ทันทีว่าเป็นโจทก์

นอกจากนี้จำเลยยังให้สัมภาษณ์ มีถ้อยคําว่า “เดี๋ยวภายในวันศุกร์ เดี๋ยวฟ้องแน่นอน” “ก็หมิ่นประมาทไง พูดเยอะไง” และจําเลยได้ยืนยันกับว่าบุคคลที่จะยื่นฟ้องมีอดีตตํารวจด้วย และถ้อยคําว่า “เดี๋ยวจะสอนมวย พวกกูรูหน่อย พวก ๆ กูรูที่ ๆ อะไรเค้าเรียกว่า รู้เยอะอ่ะ พูดจนชาวบ้านงงไปหมดแล้ว” ถ้อยคําดังกล่าว มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการตํารวจยศพลตํารวจตรี เป็นเจ้าของกิจการค่าย มวย ชื่อว่า “ว.สังข์ประไพ” และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย โจทก์เคยเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ จังหวัดกรุงเทพมหานคร (ข้าราชการการเมือง) และเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยโจทก์ได้รับหน้าที่ดูแลหลายด้าน รวมถึงด้านกฎหมาย

ถ้อยคําดังกล่าวของจําเลยมีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ ทําให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แม้จําเลยจะไม่ได้เอ่ยชื่อโจทก์โดยตรง เป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย

พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า โจทก์เบิกความ
ยืนยันข้อความตามคำฟ้องที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนและมีการนำไปเผยแพร่ทางโทรทัศน์และสื่อออนไลน์อาทิ แอปพลิเคชันยูทูปสู่สาธารณะชนนั้น แม้จำเลยไม่ได้กล่าวถึงโจทก์โดยตรง แต่เมื่อนำถ้อยคำที่จำเลยกล่าวถึงมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วทำให้บุคคลที่ได้รับชมอาจเข้าใจได้ว่าหมายถึงตัวโจทก์

อันมีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดคดีจึงมีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา หมายเรียกจำเลยมาให้การตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยาน วันที่ 19 พ.ค.2568

กำลังโหลดความคิดเห็น