ตำรวจ ปคบ. ร่วม อย. บุกทลายโรงงานผลิตสำลีไม่ได้มาตรฐานส่งโรงพยาบาลกว่า 12 แห่ง ยึดของกลางมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท เผยนายทุนหัวใสใช้แอลกอฮอล์ผสมน้ำเพื่อลดต้นทุน ทำผู้ป่วยเสี่ยงติดเชื้อ
วันนี้ ( 10 ก.พ. ) ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รรท.ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการทลายโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ สำลีเถื่อน ในพื้นที่ จ.นนทบุรี ยึดของกลาง ได้ 22 รายการ มูลค่ารวมกว่า 2,000,000 บาท
พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการลักลอบผลิต สำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับ ฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ ซึ่งสำลีเถื่อนเหล่านี้ หากผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานแล้วมีการนำไปใช้ทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ หรือใช้ในการรักษาผู้ป่วยตามสถานพยาบาล อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยได้ จากนั้นได้จัดกำลังลงพื้นที่สืบหาเบาะแส กระทั่งทราบแหล่งที่ผลิตและจัดเก็บสินค้า ที่โกดังแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.คลองข่อย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ยึดของกลางเป็นสำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ยี่ห้อดาราพลัส จำนวน 2,830 แผง สำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ยี่ห้อ เช็ดดี้ 70% จำนวน 6,400 ชิ้น สำลีก้อน 89 ถุง สำลีชุบแอลกอฮอล์ ที่รอการบรรจุแพ๊คใส่ถุง จำนวน 1 ถัง รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องจักร และ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต กล่องบรรจุภัณฑ์ และ ฉลาก อีกเป็นจำนวนมาก
ด้าน พ.ต.อ.วีระพงษ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า สถานที่ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแต่อย่างใด ดังนั้นเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตออกมาจึงจัดว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ปลอม โดยสำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ ยี่ห้อดังกล่าว ระบุฉลากให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจว่ามีความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์ 70% แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีการนำเอทิลแอลกอฮอล์ 70% ผสมกับน้ำเปล่าในถังตามสัดส่วนเพื่อเจือจางและลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคและเกิดการปนเปื้อนได้
พ.ต.อ.วีระพงษ์ กล่าวต่อว่าในการเข้าตรวจค้นครั้งนี้ สามารถจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดได้ทั้งหมด 10 คน อยู่ระหว่างขยายผลถึงตัวการใหญ่ คาดว่าจะได้ตัวเร็ว ๆ นี้ โดยทาง อย. จะส่งตัวอย่างของกลางทั้งหมดเพื่อตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานของเครื่องมือแพทย์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืนยันอีกครั้งหากตรวจพบการปนเปื้อน หรือคุณภาพไม่ได้มาตรฐานจะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป
พ.ต.อ.วีระพงษ์ กล่าวอีกว่า จากการสืบสวนขยายผลพบว่าหลังโรงงานดังกล่าวผลิตสำลีชุบแอลกกอฮอลล์ เสร็จแล้ว จะกระจายสินค้าไปตามโรงพยาบาล สถานพยาบาล และประชาชนโดยทั่วไป โดย ระหว่างเดือนตุลาคม 2567- มกราคม 2568 มีการผลิตและกระจายสู่สถานพยาบาลต่าง ๆ จำนวนกว่า 12 แห่งเป็นจำนวนกว่า 88,000 แผง รวมมูลค่ากว่า 240,000 บาท เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ 2551 ในฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ ผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยไม่ได้รับใบรับแจ้งรายละเอียด ผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม โดยรวมให้เข้าใจผิดเรื่องเครื่องหมายรับรองคุณภาพ