“ผมเองเติบโตจากกรมบังคับคดีเลยก็ว่าได้เพราะมาที่นี้ครั้งแรก ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาฝึกงานรุ่นแรกที่ได้รับคัดเลือกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง (รุ่น 15) ก่อนเรียนจบในปี 2532 จากนั้นเข้าทำงานในหน่วยงานรัฐแห่งนี้ ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองบังคับคดีล้มละลาย 2”
นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี เล่าถึงความหลังวัยเด็ก ว่า ครอบครัวเป็นชาว จ.สงขลา มีพี่น้อง 2 คน คุณพ่อรับราชการเป็นผู้อำนวยการศาล (อดีต เรียกว่า “จ่าศาล”) หน้าที่บริหารงานภายในศาล ด้วยภาระหน้าที่ทำให้ต้องย้ายไปยังจังหวัดต่างๆ ซึ่งตัวเราก็ตามไปด้วย ส่วนคุณแม่อาชีพค้าขาย แต่ช่วงมัธยมศึกษาได้กลับมาเรียนที่บ้าน โรงเรียนวิเชียรชม และ โรงเรียนมหาวชิราวุธ กระทั่งจบ ม.6
ตอนเด็กคิดอยากเป็นนักโบราณคดีเพราะชอบอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์ ชอบค้นคว้าเกี่ยวกับของเก่าในอดีต โบราณสถาน โบราณวัตถุ ส่วนตัวเคยเข้าสอบคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร 2-3 ครั้งก็ไม่ได้เนื่องจากสมัยก่อนรับจำนวนน้อยมาก ประมาณ 20 คนต่อปี แต่ไปสอบติดคณะฯ อื่นที่ไม่ชอบ เลยมาลงเรียน ม.รามคำแหง คณะนิติศาสตร์ โดยคุณพ่ออยากให้เป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ จึงเรียนมาเรื่อยๆ และใช้เวลาเพียง 3 ปีครึ่งเท่านั้น
นายเสกสรร กล่าวว่า หากนับการสอบบรรจุเข้ารับราชการจริงๆ ที่กรมบังคับคดี คือปี 2534 เริ่มต้นมาอยู่สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 2 ทำงานตามได้รับมอบหมาย แต่มีเหตุการณ์ระทึกครั้งหนึ่งลงพื้นที่ร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีฟ้องขับไล่ ย่านบางนา เจ้าของที่ดินแจ้งว่ามีชาวบ้านเข้ามาบุกรุกสร้างบ้านไม้หรือสังกะสีกว่า 100 หลัง เมื่อเจ้าพนักงานไปถึงกลับโดนชาวบ้านปิดล้อมออกไม่ได้แต่ไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย จนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเจรจาช่วยออกไป หลังจากนั้นเมื่อถึงขั้นศาลก็สามารถขับไล่ได้สำเร็จ
ต่อมา มีการขยับขยายลงภาคใต้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดสตูล และย้ายเป็นผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ต ช่วงเกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ “สึนามิ” การทำงานตอนนั้นถือว่าค่อนข้างหนักเพราะลงพื้นที่ตลอดร่วมกับกระทรวงยุติธรรม รวมถึงมีโอกาสรับทุนของกรมฯ เดินทางไปศึกษาต่างประเทศ ณ เมืองออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เวลา 1 ปี โดยเป็นการศึกษาด้านประกาศนียบัตรทางด้านกฎหมาย ในปี 2550
“เมื่อปี 2553 กลับมาเป็นผู้อำนวยการกองบังคับคดีล้มละลาย 6 รับผิดชอบทำคดีสัมพันธ์ประกันภัย ซึ่งบริษัทล้มละลาย เพราะบริษัทขาดสภาพคล่อง มีลูกหนี้มากกว่าหลายหมื่นรายแต่ได้คืนชดเชยเพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนทรัพย์มีการยักย้ายถ่ายเทจนเกือบหมดจึงตามทรัพย์มาขายทอดตลาดเอาเงินมาคืนผู้เสียหายได้บางส่วน”
นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายการบังคับคดีแพ่ง กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เชี่ยวชาญในการดำเนินการยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ การขายทอดตลาด การวางทรัพย์ (ลูกหนี้มีทรัพย์นำมาขายฝากและจะครบกำหนดจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้แต่อ้างไม่อยู่บ้านไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ถ้าไม่ชำระหนี้ในวันนั้นก็จะถือเป็นผู้ผิดนัด ทรัพย์ที่ขายฝากจะตกเป็นของเจ้าหนี้ทันที ดังนั้น กฎหมายกำหนดว่า ถ้ามาวางทรัพย์ที่กรมบังคับคดีให้ถือเสมือนว่าลูกหนี้ไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้) การบังคับคดีแบบกลุ่มและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คดีที่เป็นคดีสำคัญ เช่น คดีฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ คดีแบบกลุ่ม (Class Action) โรงงานรีไซเคิล จ.ราชบุรี เป็นคดีด้านสิ่งแวดล้อมและฟ้องแบบกลุ่มคดีแรกของประเทศไทย นายทุนนำสารเคมีมาทิ้งไว้ในบ่อที่ขุดเตรียมเอาไว้แต่เกิดรั่วไหล ลงแม่น้ำเข้าไปในหมู่บ้าน ต.น้ำพุ อ.เมือง ราชบุรี ซึ่งใช้เพื่ออุปโภคบริโภคจนชาวบ้านเกือบทั้งหมด ประมาณ 300 กว่าคน เสี่ยงเป็นมะเร็ง มีการฟ้องร้องบริษัท ปัจจุบันนำทรัพย์สินขายทอดตลาดได้แล้วและทยอยจ่ายค่าชดเชยผู้เสียหาย
ส่วนการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อยู่ในชั้นบังคับคดีประมาณ 2 แสนกว่าราย มีการยึดทรัพย์แล้ว 5 หมื่นกว่าราย เมื่อ กยศ. ปรับเปลี่ยนโครงสร้างมีกฎหมายใหม่ออกมาแล้วก็เปลี่ยนวิธีการชำระหนี้ ยกตัวอย่าง เดิมผ่อน 5,000 บาท แต่ตัดต้นเพียง 500 บาท มีเบี้ยปรับเงินเพิ่ม แต่ตอนนี้จะต้องตัดต้นก่อนทำให้ยอดค้างเปลี่ยนไปมากและให้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ทำสัญญา ดังนั้น คนที่เข้ามาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทำให้บางรายมีเงินเหลือเก็บ และคนมาปรับโครงสร้างหนี้ผู้ค้ำประกัน เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ก็จะพ้นจากความรับผิดชอบทันที ซึ่งพยายามประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้ กยศ. เข้ามารับโครงสร้างหนี้ แต่พบว่าตลอด 1 ปี คนมาทำสัญญากันไม่เยอะ ประมาณ 7,000 กว่ารายต่อปี จาก 2 แสนกว่าราย สำหรับปัญหาพบว่าบางรายที่อยู่ไม่ตรงกับปัจจุบัน บางรายไม่สนใจเพราะกลัวจะถูกยึดอายัดทรัพย์
จนเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ นายเสกสรร สุขแสง พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “อธิบดีกรมบังคับคดี” ซึ่งขณะนี้อายุราชการอีก 3 ปี พร้อมมอบนโยบายเรื่องสำคัญ คือ ช่วยเหลือ ลดหนี้ นำความยุติธรรมเข้าหาประชาชนอย่างทั่วถึงและก้าวหน้า เป็นต้น รวมทั้ง หลักการ “Driving towards Justice with LED 7 Gs” ประกอบด้วย 1. Good Management ยกระดับการบริหารการบังคับคดี 2. Good Equality สร้างความเท่าเทียมทางกฎหมาย 3. Good Communication เน้นการสื่อสารเชิงรุก สร้างความรับรู้ 4. Good Collaboration ประสานความความร่วมมือและส่งเสริมการมีส่วนร่วม 5. Good Service ยกระดับคุณภาพการให้บริการประชาชน 6. Growth Mindset พัฒนากรอบความคิด เพิ่มศักยภาพบุคลากร และ 7. Great Digital Organization พัฒนาสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัล
โดยชีวิตครอบครัวมี นางดวงจันทร์ สุขแสง ผู้อำนวยการสำนักงานกรมบังคับคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดูแลหลังบ้าน และบุตรชาย 2 คนเรียนจบมหาวิทยาลัยกันหมดแล้ว ส่วนงานอดิเรกชอบออกกำลังกายหลากหลายอาจตีแบดมินตันบ้างกับเพื่อนพี่น้องในองค์กร ยังมีสะสมพระเครื่องอีกจำนวนหนึ่งเพราะอดีตสมัยลงพื้นที่การทำงานต้องไปยึดทรัพย์ตามบ้านคนอาจเกิดความไม่พอใจกระทบกระทั่งกัน บางบ้านก็มีอาวุธด้วยถือว่าเป็นงานที่เสี่ยงมาก เลยห้อยพระไว้ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัย
บทบาทสำคัญอีกประการ “กรมบังคับคดี” มีการจัดงาน "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน" ทั่วประเทศตลอดทั้งปี สามารถติดตามข่าวสารได้เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน แก้ปัญหาหนี้สินของพี่น้องประชาชนให้สามารถกลับมามีชีวิตที่ดีขึ้นและยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง
"จิบชาตราชั่ง"