เจ้าหน้าที่ DSI ส่งมอบโทรศัพท์มือถือของ "แตงโม นิดา" ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบและกู้ข้อมูล หลังได้รับคืนจาก "บังแจ็ค" ผ่านอดีตศัลยแพทย์ชื่อดัง ผู้เชี่ยวชาญเผย งานนี้ซับซ้อนกว่าปกติ เนื่องจากเวลาผ่านไปนานกว่า 3 ปี อาจมีข้อมูลเสียหายหรือถูกลบ ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนสรุปผล
วันนี้ (7 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI นำพยานหลักฐานที่เป็นโทรศัพท์มือถือพร้อมเคส ของนางสาวนิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม นักแสดงหญิงชื่อดัง หลังจากที่พันเอก นายแพทย์ ธวัชชัย กาญจนรินทร์ อดีตศัลยแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ไปเอาโทรศัพท์มือถือของแตงโมกลับมาจาก นาย ซาคาเนียน ราชา ไฮเดอร์ หรือ บังแจ็ค ที่พักอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา มาให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบหาพยานหลักฐานที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า หลังจากที่รับโทรศัพท์มือถือมา ก็จะรีบส่งต่อให้เจ้าหน้าที่กองตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจสอบในทันที โดยจะมีการเก็บพยานหลักฐานทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บหลักฐานลายนิ้วมือ หรือแม้แต่กระทั่งการกู้ข้อมูลที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานมากกว่าปกติ เพราะระยะเวลาผ่านมานานแล้วกว่า 3 ปี ถ้าหากเป็นกรณีปกติจะใช้เวลาไม่เกิน 10 วันเท่านั้น
สำหรับการกู้ข้อมูลที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถกู้ข้อมูลมาได้ทุกอย่างหรือไม่ เพราะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบก่อนว่าข้อมูลมีความเสียหายมากน้อยเพียงใด มีข้อมูลใดที่มีการดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมทั้งบางข้อมูลที่มีการลบถาวรก็ต้องมานั่งตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่าสามารถกู้คืนมาได้หรือไม่ ซึ่งหลังจากเก็บพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว จะรีบส่งต่อให้พนักงานสอบสวนในทันที
ต่อมาเมื่อเวลา 11.20 น. ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม / เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 2 นาย นำหลักฐานเป็นโทรศัพท์มือถือของนางสาวนิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ “แตงโม” ที่บรรจุในซองเอกสารสีน้ำตาล มาส่งมอบให้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวแทนรับมอบหลักฐานในวันนี้ นำไปตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานในคดีแตงโม
โดยรองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุขณะรับมอบว่า “หลังจากนี้เราจะให้เจ้าหน้าที่ไปส่งของกลางที่ห้องรับส่งวัตถุพยาน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องครอบครองวัตถุพยาน พร้อมกับมีเอกสารหนังสือนำส่งวัตถุพยานไปด้วย // ส่วนจำนวนวัตถุพยานคาดว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือของคุณแตงโม 1 เครื่องและหลักฐานอื่นๆ ที่บรรจุอยู่ในซองสีน้ำตาล โดยทางสถาบันฯ จะรับไปตรวจพิสูจน์ เพื่อนำไปประกอบการสอบสวน ซึ่งจะเน้นตรวจสอบในสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องการอยากรู้ในวัตถุพยานชิ้นนี้“
รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยังระบุอีกว่า ”เมื่อวานนี้เรายังได้ส่งทีมไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอด้วยเช่นกัน เพื่อไปร่วมกันรับวัตถุพยานและเพื่อให้การเก็บวัตถุพยานส่งเข้าห้องปฏิบัติการเป็นไปตามระบบมาตรฐานสากล / โดยเราจะส่งให้กองตรวจพิสูจน์ต่อไป ส่วนกรอบระยะเวลาจะแจ้งให้ทางพนักงานสอบสวนอีกครั้งว่าจะใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่ เพราะจะต้องดูสภาพของวัตถุพยานด้วย ยืนยันว่าจะเร่งทำให้เร็วที่สุด เพื่อให้พนักงานสอบสวนทำคดีต่อไปได้“
นักข่าวถามว่าการตรวจพิสูจน์ครั้งนี้ยากหรือไม่ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตอบว่า “เรายังไม่ได้เห็นวัตถุพยาน แต่ยอมรับว่าน่าจะยากพอสมควร เพราะเป็นวัตถุพยานที่นานแล้ว แต่อย่างไรก็ตามขอให้ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินก่อนในวันนี้ โดยปกติเราจะใช้ระยะเวลา 10 วันในการตรวจสอบและดึงข้อมูล แต่ถ้าข้อมูลมันมีความเสียหายมาก อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่านั้น เพราะต้องค่อยๆ ทำ ไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำ”
ส่วนจะเริ่มต้นการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการไหนนั้น “ขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบพิสูจน์อิเล็กทรอนิกส์ได้เห็นวัตถุพยานก่อนและดูในเรื่องของความต้องการเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ว่าพนักงานสอบสวนต้องการรู้อะไรบ้าง เขาก็จะมีการวางแผนหรืออาจจะมีการตรวจไอคาวน์ หรืออาจจะตรวจเฉพาะเมมโมรี่การ์ด หรืออาจจะตรวจในเรื่องของตัวซิมการ์ดต่างๆ ก็เป็นไปได้”
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์ครั้งนี้ จะต้องประเมินโดยใช้เครื่องมือพิเศษ เพื่อที่จะดูว่าข้อมูลยังมีอยู่แค่ไหนและมีการเข้ารหัสอย่างไร หรือข้อมูลมีความเสียหายอย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อรู้ข้อมูลแล้ว ก็จะต้องดูข้อมูลอีกว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือยังเป็นข้อมูลเดิม โดยเป็นไปตามหลักการในการตรวจพิสูจน์ พร้อมยืนยันว่าผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลไหนเป็นข้อมูลเดิม หรือข้อมูลไหนมีการดัดแปลง เพราะข้อมูลมีอัตลักษณ์ของมันอยู่
ส่วนถ้ามีการลบข้อมูลนั้น รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ บอกว่า “การลบมีหลายระดับ ถ้าเป็นการลบระดับที่ไม่ถาวร ก็จะสามารถกู้คืนได้บางส่วน แต่ถ้าลบในระดับพื้นฐาน ก็สามารถกู้ได้เกือบทั้งหมด แต่ก็ต้องเข้าไปดูในเรื่องของลักษณะข้อมูลก่อน”
อย่างไรก็ตามรองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยังให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ”บางเคสที่คล้ายแบบนี้อาจใช้ระยะเวลานานเกือบ 3 เดือนในการตรวจสอบ หากว่าวัตถุพยานมีปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเคสลักษณะเดียวกันแบบนี้อยู่ บางครั้งก็สามารถไขปริศนาได้ แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเสียหาย ถ้าหากนานแต่ไม่ได้เสียหาย ก็สามารถหาคำตอบได้ แต่ถ้าความเสียหายมากก็กู้คืนได้ลำบาก“