xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ศึกสามเส้าท้องถิ่น 'ส้ม-แดง-น้ำเงิน' ผลแพ้ชนะกำหนดอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 29 มกราคม 2568 ตอน ศึกสามเส้าท้องถิ่น 'ส้ม-แดง-น้ำเงิน' ผลแพ้ชนะกำหนดอนาคต



ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 47 แห่ง ซึ่งจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศความพร้อมเตรียมกำหนดกติกาเข้มเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโดยสุจริตและยุติธรรมมากที่สุด เช่นเดียวกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำภารกิจของกกต.ในแง่ของการรักษาความสงบ ก็ยืนยันยุทธการกวาดล้างผู้มีอิทธิพล และเจ้าของซุ้มมือปืน เพื่อไม่ให้ 'ไข้โป้ง' ระบาดเหมือนในอดีต

นอกเหนือไปจากการประกาศความพร้อมของกกต. ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองก็เป็นภาพใหญ่ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจอย่างเห็นได้ชัด เพราะบรรดาพรรคการเมืองใหญ่ที่มี ส.ส.อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมาก ต่างขนตัวพ่อและตัวแม่ลงสู้ในสนามท้องถิ่นอย่างเต็มที่ในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเพราะภายหลังภูมิทัศน์ทางการเมืองระดับประเทศไม่ได้เหมือนเดิม โดยมีสาเหตุหนึ่ง คือ การกลับมาของ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี และ การแพร่ขยายอิทธิพลของพรรคประชาชน ที่จะเข้ามาเป็นตัวแปรให้การเมืองท้องถิ่นไม่ได้ผูกขาดและไม่ยึดติดกับบ้านใหญ่

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ภาพรวมของการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการสู้กันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน โดยต่างฝ่ายต่างมีตัวชูโรงไม่ว่าจะเป็น 'ทักษิณ' ผู้นำแห่งจิตวิญญาณฝ่ายสีแดง 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมไปถึง 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้นำแห่งจิตวิญญาณฝ่ายส้ม

ตลอดการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา จะมีจุดเชื่อมโยงไปถึงนโยบายรัฐบาลของ 'แพทองธาร ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี อย่างชัดเจน แม้ว่ากกต.จะแอบมองอยู่หลังเสาไฟฟ้าจ้องมองแบบตาไม่กระพริบว่าหมิ่นเหมาต่อการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็ตาม แน่นอนว่าการนำกลยุทธ์นี้มาใช้ 'ทักษิณ' เองก็หวังยิงกระสุนนัดเดียวหวังได้พญาอินทรีหลายตัว เพราะทักษิณรู้ดีว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะเป็นรากฐานสำคัญและสะท้อนให้เห็นว่าผลงานของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเข้าถึงประชาชนหรือไม่ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าการเมืองไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงรสนิยมในการลงคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นก็อาจจะเปลี่ยนไปบ้างไม่มากก็น้อยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของพรรคเพื่อไทยในการประกาศว่าจะขอชนะทุกที่นั่งในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อเป็นฐานทางการเมืองที่เข้มแข็งให้กับพรรคเพื่อไทยไว้สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การประกาศเช่นนั้นด้านหนึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินไป เพราะนอกจากพรรคเพื่อไทยจะมีพรรคประชาชนเป็นศัตรูตัวฉกาจในเวทีท้องถิ่นแล้ว จะเห็นได้ว่า 'พรรคภูมิใจไทย' ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่อยู่ตรงกลางระหว่างการโรมรันของ 'เพื่อไทย-ประชาชน'

อย่างที่ทราบกันดีว่าพรรคภูมิใจไทยประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะไม่ลงพื้นที่หาเสียง ส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้มีรถทัวร์มาจอดที่หน้าพรรค เนื่องจาก 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รองนายกฯ และเจ้ากระทรวงมหาดไทย ยังเป็นหัวหน้าพรรคอีกด้วย หากทำอะไรลงไปจะทำให้กลายเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องขึ้นมาแทน แต่ในทางลึกแต่ไม่ลับนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคภูมิใจไทยขอประกาศปักธงให้กับนายกอบจ.ถึง 7 คน ประกอบด้วย กฤษฏ์ เพ็ญสุภา จังหวัดพิจิตร อรพิน จิระพันธุ์วาณิช จังหวัดลพบุรี ภูษิต เล็กอุดากร จังหวัดบุรีรัมย์ แว่นฟ้า ทองศรี จังหวัดบีงกาฬ พนัส พันธุ์วรรณ จังหวัดอำนาจ เจริญ สมศักดิ์ กิตติธรกุล จังหวัดกระบี่ และ 7. สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ จังหวัดสตูล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่พรรคภูมิใจไทยมีส.ส.เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ง

ศึกนี้พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ตั้งความหวังไว้มาก ขอแค่ประคองตัวและรักษาฐานที่มั่นให้แข็งแกร่ง แต่สำหรับพื้นที่อื่น เช่น เชียงราย หรือ ศรีสะเกษ ซึ่งแข่งดุกับพรรคเพื่อไทย พื้นที่ถ้าได้ก็ดีแต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะการแข่งกับพรรคเพื่อไทยที่มี 'ทักษิณ' เป็นผู้นำ และยังเป็นสนามที่พรรคภูมิใจไทยไม่ได้หลงหลักปักฐานมากนักอีก หากพรรคภูมิใจไทยจะต้องแพ้จริงๆ ก็ยังยอมรับได้

ขณะที่ 'พรรคประชาชน' แม้ที่ผ่านมาจะแพ้สนามเลือกตั้งนายกอบจ.มาตลอด 100% แต่ครั้งนี้ก็ตั้งความหวังว่าจะได้มีนักการเมืองท้องถิ่นมาประดับให้กับพรรคบ้าง โดยเวลานี้ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายเอาไว้ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ระยอง ตราด นครนายก

การลงชิงชัยในสนามท้องถิ่นของพรรคประชาชน ไม่ได้เน้นปริมาณเหมือนในอดีต แต่ขอเน้นเฉพาะพื้นที่ที่คิดว่าตัวเองมีศักยภาพเท่านั้น จึงส่งผู้สมัครลงเพียง 17 จังหวัด พร้อมกับกำหนดพื้นที่ปักธง 5 จังหวัดข้างต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นจังหวัดที่พรรคประชาชนมีส.ส.ยกจังหวัด จะมีเพียงจังหวัดนครนายกเท่านั้นที่พรรคประชาชนไม่ได้มีส.ส. แต่ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นในนักการเมืองระดับบอสในพื้นที่มาสวมเสื้อส้มอย่าง ' จักรพันธ์ จินตนาพากานนท์' อดีตนายกอบจ.นครนายก มาร่วมงาน

อย่างไรก็ตาม หากให้เลือกจังหวัดที่พรรคประชาชนอยากได้มากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นจังหวัดสมุทรปราการ เพราะเป็นจังหวัดที่มีขนาดของเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่และมีสัดส่วนต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากสามารถปักธงได้ขึ้นจังหวัดปากแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ จะกลายเป็นพื้นที่ทดลองนโยบายของพรรคประชาชน ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการเลือกตั้งระดับประเทศในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ ถึงที่สุดแล้วการสมรภูมิเลือกตั้งท้องถิ่นที่เป็นเหมือนการช่วงชิงของสามฝ่าย อาจจะไม่ได้มีผลต่อการอยู่หรือไปของรัฐบาล หรือจะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ผลแพ้ชนะที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวชี้วัดอนาคตในทางการเมืองว่าพรรคการเมืองใดจะมีที่ยืนในหัวใจของประชาชนได้มากกว่ากันเป็นสำคัญ

------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android

**ขอแนะนำ ThaiTimes โซเชียลมีเดียของคนไทย
ไม่ปิดกั้นเนื้อหา - แชร์รูปภาพและวิดีโอ - ติดตามข่าวสารล่าสุด ได้อย่างอิสระ
มีให้ Download ได้แล้วทั้งในระบบ iOS และใน Android
iOS :https://apps.apple.com/th/app/thaitimes-social/id6502225132
Android :https://play.google.com/store/apps/details...
และhttps://thaitimes.co


กำลังโหลดความคิดเห็น