สืบเนื่อง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้อนุมัติรับเป็นเลขสืบสวน สส.20/2568 ให้ดำเนินการสืบสวนคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม เนื่องด้วยมีผู้ร้องขอให้สืบสวนสอบสวนและขอให้รับเป็นคดีพิเศษ “โดยผู้ร้องเห็นว่า” กระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา มีพฤติการณ์เป็นเงื่อนงำต้องสงสัย มีเหตุให้เชื่อได้ว่าอาจมีกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญาหรือรับโทษน้อยลง เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา
วันนี้ (24 ม.ค.) เวลา 13.30 น. ชั้น 2 ห้องประชุมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าทีมสืบสวนข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม เปิดเผยก่อนการประชุม ว่า วันนี้จะมีการแบ่งหน้าที่ทำงานภายในคณะสืบสวน เพื่อตรวจสอบข้อมูลตามที่ได้มีการสืบข้อมูลมา โดยจะเน้นไปที่การตรวจสอบตามหลักนิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ เรื่องตำแหน่ง GPS บนเรือ เพื่อหาความเกี่ยวข้องของบุคคลอื่น รวมทั้งจะกำหนดกลุ่มพยานเพื่อสอบสวนปากคำ เช่น พยานผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช เป็นต้น
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ ตนและคณะทำงานจะมีการเดินทางไปยังต่างประเทศในหลายๆ ประเทศอีกด้วย เพื่อไปเอาข้อมูลภายในโทรศัพท์ของแตงโม และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในคดี ไม่ว่าจะอยู่บนเรือหรือนอกเรือก็ตาม เนื่องด้วยพบว่าข้อมูลหลายอย่างถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ระบบ Cloud หรือคลาวด์ ของผู้ให้บริการนั้นๆ โดยเราจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 หรือ MLAT เพื่อให้ได้ข้อมูลมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้
พ.ต.ต.ณฐพล เผยอีกว่า ยังมีวาระการประชุมเรื่องการคุ้มครองพยานด้วย เพราะบุคคลใดที่รู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ แล้วต้องมาให้ปากคำกับดีเอสไอในฐานะพยานรายสำคัญ เราจะมีมาตรการคุ้มครองพยานด้วย อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้ร้องได้แจ้งว่าจะมีการนำพยานอีกหลายกลุ่มเข้ามาให้คณะสืบสวนได้ทำการสอบปากคำ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ อีกหลายประเด็น ดังนั้น การที่ดีเอสไอจะลงพื้นที่ไปบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาสถานที่เกิดเหตุ ก็เป็นเหมือนการไปตรวจที่เกิดเหตุเพื่อมาประกอบกับการให้ถ้อยคำของพยานแต่ละราย โดยจะมีการล่องเรือในส่วนของดีเอสไอเองและจะมีการใช้เครื่องมือพิเศษด้วย และเราจะประสานไปยังภาคเอกชนที่มีเครื่องมือที่จะมาตรวจสอบความถูกต้องด้วย เพราะเราต้องให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ข้อมูลทุกอย่างต้องได้มาอย่างถูกต้อง
"ยืนยันดีเอสไอจะไม่เป็นการไปยุ่งหรือเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในสำนวนหลักซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการชั้นศาล เพราะจะมุ่งเน้นสืบสวนไปที่มีการร้องขอว่ามีกลุ่มที่บิดเบือนในการกระทำครั้งนี้ หรือมีการสร้างพยานหลักฐานเท็จหรือไม่ และเน้นไปที่กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์"
ขณะที่ นายไกรศรี สว่างศรี ผอ.ส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ในส่วนของเลเซอร์สแกนนั้น เป็นเครื่องมือสแกนภูมิประเทศแบบ 3 มิติ ซึ่งสามารถเก็บภูมิประเทศและจำลองออกมาได้ภาพเสมือนจริง ก่อนนำมาวิเคราะห์ในระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นพิกัดเดียวกับเรือ โดยเราจะสแกนตามลำน้ำทั้งหมด เพื่อนำมาผ่านกระบวนการคอมพิวเตอร์เพื่อหาพิกัดแบบภูมิศาสตร์ และจะนำมาตรวจสอบกับพยานหลักฐานต่างๆ เช่น คลิปวิดีโอ ภาพถ่าย ซึ่งเป็นเทคนิคที่ดีเอสไอนำมาใช้ในการตรวจสอบ
ทั้งนี้ สำหรับการใช้เลเซอร์สแกน เราจะเริ่มตรวจสอบพิกัดตั้งแต่ร้านอาหารบ้านตานิดไปจนถึงจุดสะพานพระราม 8 โดยทั้งสองฝั่งแม่น้ำเราจะเก็บข้อมูลทั้งหมด และจะทำงานร่วมกับการบินโดรน อย่างไรก็ตาม การใช้เลเซอร์สแกน 3 มิติ มีความแม่นยำสูงในระดับเซนติเมตรหรือน้อยกว่านั้น คือระดับมิลลิเมตร เพราะเป็นการสแกนทุกจุดของวัตถุต่างๆ โดยละเอียด