xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอเรียก "โปรแกรมเมอร์" ให้ข้อมูล GPS ตำแหน่งเรือ "แตงโม" วิเคราะห์หาข้อพิรุธ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - พ.ต.ต.ณฐพล เผยเรียก "โปรแกรมเมอร์" วิเคราะห์ตำแหน่งเส้นทางเดินเรือ "แตงโม" วันเกิดเหตุ ให้ข้อมูลนำมาประมวลพิสูจน์ข้อเท็จจริง ก่อนรับเป็นเลขสืบสวน



วันนี้ (22 ม.ค.) เวลา 11.30 น. ห้องส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ราชการฯ อาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายเอกราช นามโภคิน โปรแกรมเมอร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และวิเคราะห์ระบบ GPS เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งเเวดล้อม ในฐานะหัวหน้าทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม เพื่อวิเคราะห์แผนที่ของเรือสปีดโบ๊ตวันเกิดเหตุ ประกอบสำนวนคดี

พ.ต.ต.ณฐพล เผยว่า วันนี้นายเอกราชเดินทางเพื่อบันทึกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพราะมีความเชี่ยวชาญด้าน GPS ตำแหน่งเรือ ซึ่งเป็นข้อมูล GPS ที่อยู่ติดกับเรือลำเกิดเหตุ โดย นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ เคยร้องขอมาจากศาล และคณะทำงานจะได้ดูว่าเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงสำหรับใช้รายงานตามลำดับชั้นต่อไป โดยในส่วน ดีเอสไอ มีระบบเเผนที่ "DSI Crime Map" เพื่อทดสอบเส้นทางการเดินเรือ รวมทั้งตรวจสอบกับข้อมูลที่ปรากฏทางสื่อมวลชนและภาพถ่ายต่างๆ ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เพื่อสรุปข้อเท็จจริงในสำนวน

พ.ต.ต.ณฐพล เผยอีกว่า สำหรับระบบ DSI Crime Map นั้นจะมีข้อมูลการเดินเรือทั้งความเร็วในแต่ละช่วง ความลึกของเรือ ซึ่งเป็นข้อมูลทางเทคนิค โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่มีความเชี่ยวชาญทาง GPS , เชี่ยวชาญด้านโทรศัพท์มือถือและระบบแผนที่ มาร่วมประชุมด้วย หลังจากนี้จะต้องมีการประชุมว่าจะมีการประสานเชิญบุคคลใดเพิ่มเติมบ้าง

"ส่วนการเรียกร้องรับเป็นเลขสืบสวน ทราบว่าขณะนี้เรื่องอยู่ที่กองบริหารคดีพิเศษ และรับเรื่องไว้วันที่ 17 ม.ค.68 อยู่ระหว่างประมวลเรื่องเพื่อเสนอ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องการรับเป็นเลขสืบสวนจะสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดำเนินการสืบสวนสอบสวน"

ด้าน นายเอกราช กล่าวว่า วันนี้มาพบดีเอสไอเป็นครั้งที่ 2 เพราะครั้งแรกมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะมาก ซึ่งพบข้อพิรุธ GPS ที่วิเคราะห์และรวบรวมมาเป็นระยะเวลา 3 ปี พร้อมนำข้อมูลมาให้ดีเอสไอเพื่อใช้โปรแกรมของดีเอสไอวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยตนเองไม่ใช่เพียงคนเดียวที่เห็นข้อพิรุธ 20-30 จุดดังกล่าว แต่ดีเอสไอก็พบเช่นกัน ทั้งนี้ ถ้าโฟกัสจริงๆ จะพบประมาณ 7-8 จุด ส่วนที่เหลือจะนำมาประกอบส่วนที่เราสงสัยให้มีน้ำหนัก เช่น วัดค้างคาว เพราะจุดนี้มีคำถามว่าใครเป็นคนขับเรือและขับมาทำไม ซึ่งยังมีพิรุธอีกว่าจากการให้สัมภาษณ์คนบนเรือไม่สอดคล้องกับตำแหน่งรูปถ่าย 2-3 รูป และกล้องวงจรปิดเวลามีการเปลี่ยนไปด้วย ยืนยันว่า GPS ไม่ได้ถูกแก้ไขแต่สิ่งที่มาประกอบกับ GPS มีการแก้ไขและไม่ตรงกัน

นายเอกราช กล่าวอีกว่า ถ้า ดีเอสไอ ออกเป็นเลขคดีสืบสวนก็จะสามารถนำไปดำเนินการต่อได้เลยจากสิ่งที่เราวิเคราะห์ไว้ได้ว่าเป็นข้อพิรุธ และหน้าที่ตนคงหมดแล้วเพราะวิเคราะห์ GPS ส่งมอบให้ดีเอสไอเรียบร้อยแล้ว

นายเอกราช กล่าวต่อว่า สำหรับ GPS ของตนกับดีเอสไอ แตกต่างกันแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ไฟล์ Raw Data หรือไฟล์ดิบที่ดึงมาจาก GPS บนเรือลำเกิดเหตุ ซึ่งเป็นไฟล์เดียวกันที่ส่งให้กับทางตำรวจ เราก็ได้ชุดนั้นมาเพราะ นายอัจฉริยะ เป็นคนขอมาในคดีหมิ่นประมาท และของดีเอสไอก็เป็นชุดเดียวกัน ส่วนที่แตกต่างกันเป็นซอฟแวร์ที่จะนำข้อมูลมาใส่ดูว่าเส้นทางเดินเรือไปทางไหนอย่างไร ดังนั้น ซอฟแวร์ดีเอสไอจะดูข้อมูลได้ลึกกว่านั้น หากนำมาประกอบกับทั้งหมดจะได้ข้อเท็จจริงแบบ 100% แบบที่ไม่ต้องมาโต้แย้งกันว่าอันไหนถูกอันไหนผิด

"สำหรับระบบซอฟท์แวร์ ของผมจะเน้นการดูเวลา สถานที่ ความลึกเรือ ส่วนของดีเอสไอจะเน้นการดูภูมิประเทศที่ได้มากกว่านั้น อาจเป็นจุดที่ลึกกว่า แต่เราโฟกัสที่ตำแหน่งกับเวลาเป็นหลัก โดยโฟกัสตั้งแต่ต้นยันจบ คือ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. จนถึง 03.03 น. ณ วันเกิดเหตุ แต่ในตอนแถลงข่าวเหมือนจะสิ้นสุดแค่ตอนเอาเรือไปเก็บประมาณเวลา 01.00 น. แต่เมื่อเราได้ข้อมูลจริงมาจึงเห็นว่ามันมีการเดินเรือหลังเวลา 01.00 น. ไปยังสถานที่แห่งหนึ่งด้วยความเร็วเรือ 38 นอต แล้วก็ยังไปที่วัดศาลาลี วัดค้างคาวอีก 1 ชม. ก่อนจะเอาเรือเข้าเก็บ แล้วสิ้นสุดการเดินเรือ ดังนั้น มันน่าสงสัยตั้งแต่มีการให้ข่าวว่าหลังจากเก็บเรือไปแล้ว ไม่มีใครเอาเรือออกมาอีกเลย มันผิดสังเกต เราเลยอยากรู้ว่ามันมีอะไรหลังจากนั้นหรือไม่"


กำลังโหลดความคิดเห็น