MGROnline–“อ.ปานเทพ – ณวัฒน์” นำทีมมิสแกรนด์77จังหวัด ทวงคืนความยุติธรรมให้ “แตงโม นิดา”จี้ดีเอสไอรับคดีเป็นคดีพิเศษภายใน1เดือน ด้านหัวหน้าชุดสอบสวนเตรียมออกเลขสำนวนสิ้น ม.ค.นี้ ขณะ “ทวี สอดส่อง” ย้ำพร้อมคืนความยุติธรรมในทุกเรื่องที่ประชาชนเรียกร้อง
วันนี้ (20 ม.ค.) เวลา 16.30 น. ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ รับเรื่องจาก นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต , พ.อ.นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ หรือ อาจารย์หมอธวัชชัย อดีตอาจารย์และแพทย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า , นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และ นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยมีสาวงามจากเวทีกองประกวด MISS GRAND THAILAND 2025 ทั้ง 77 จังหวัด เดินทางมาร่วมเรียกร้องให้ ดีเอสไอ ตรวจสอบการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม เพื่อขอให้รับเป็นคดีพิเศษ
นายณวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากอุบัติเหตุคดีแตงโมตกเรือ ซึ่งเป็นคดีที่สนใจของประชาชนทั้งประเทศ พบข้อสงสัยหลายประการ ไม่สอดคล้องกับคำให้การและหลักฐานที่ปรากฏ มีทั้งพฤติกรรมบุคคลแวดล้อมปราศจากหลักฐานอ้างสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุ รวมถึงสภาพศพยังมีข้อพิรุธ มิได้อยู่ในสำนวน และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญหลายคนถูกตัดจากการเป็นพยาน นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยอีกมากมายจากการสำรวจทางโพลล์ไม่น้อยกว่า 90% เชื่อว่าเป็นฆาตรกรรมอำพราง
"ในสังคมไทย ต้องยอมรับว่ามีการใช้อำนาจบารมีและเงินบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยวันนี้ตัวแทนมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 77 จังหวัดและภาคประชาชนให้ ดีเอสไอ ช่วยรับเรื่องเป็นเลขสืบสวน เพื่อให้สังคมไทยได้ข้อสรุปที่แท้จริง และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต ตนยังเชื่อมั่นในดีเอสไอในกระบวนการยุติธรรม"
ด้าน นายอัจฉริยะ เปิดเผยว่า ตนร้องมายังกระทรวงยุติธรรม 2 ส่วน 1.ร้องเรียนไปยัง รมว.ยุติธรรม เรื่องการแก้ไขคำฟ้อง ตามกฎหมาย สามารถทำได้ หากศาลยังไม่มีคำพิพากษาชั้นต้น 2.ร้องเรียนดีเอสไอ เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ส่อไม่สุจริต มีคนบนเรือด้วย โดยตนจะทำคดีแตงโมเป็นคดีสุดท้าย เพราะเบื่อความยุติธรรมของประเทศไทย ตำรวจไม่รับใช้ประชาชนและคดีอัปยศที่สุดเพราะตำรวจตั้งธงตั้งแต่แรก ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าการรับเลขสืบสวนของดีเอสไอใช้เวลาไม่นานเพราะมีหลักฐานหมดแล้วเพื่อจะดำเนินการสืบสวนตามอำนาจหน้าที่
ส่วนทาง นายแพทย์ธวัชชัย เผยว่า คดีแตงโม อย่างน้อยสุดก็ต้องเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การนำข้อมูลอันเป็นเท็จฯ สู่ระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้ง ขอบคุณมิสแกรนด์ที่ช่วยจำลองเหตุการณ์ว่าการปัสสาวะท้ายเรือไม่สามารถทำได้ รวมถึง การถ่ายภาพท้ายเรือของแตงโมไม่สามารถทำได้ทางเทคนิคกายภาพ และต้องมีคนรับผิดชอบในคดี
นายสมบูรณ์ เผยว่า กระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอ ยินดีดำเนินการตามกระบวนการ โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้น 2-3 ปีมาแล้ว มีการฟ้องร้องตามขั้นตอนถึงชั้นศาล มีจำเลย 2 คนยอมรับสารภาพแล้ว อีก 4 คนจะสืบพยานครั้งสุดท้าย 29 ม.ค.68 และศาลจะนัดฟังคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม การมาร้องขอความเป็นธรรมภาคประชาชนยังคงสามารถทำได้ หากเข้าข่ายคดีพิเศษในข้อหาอื่น ส่วนการรับเป็นคดีพิเศษมี 3 ขั้นตอน 1.รวบรวมข้อเท็จจริง 2.การสืบสวนคดี และ 3.หากมีหลักฐานชัดเจนก็รับเป็นคดีพิเศษ แต่ถ้าเป็นคดีประชาชนสนใจหรือกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม อธิบดีดีเอสไอ เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการพิจารณาคดีพิเศษได้เช่นกัน ทั้งนี้ คดีดังกล่าวยังอยู่ในขั้นต้นเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานข้อเท็จจริง
พ.ต.ต.ยุทธนา ระบุว่า การดำเนินการต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน และภายใต้กรอบกฎหมายอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ ส่วนการรื้อฟื้นคดีจะทำได้หรือไม่ ต้องพิจารณาก่อนว่าจำเลยหรือแพะเป็นผู้ร้องขอว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องมีกระบวนการ เช่น พยานหลักฐานเท็จหรือเบิกความเท็จ ซึ่งเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติงานเต็มที่และคาดว่าภายในสิ้นเดือน ม.ค.68 พร้อมรับเป็นเลขสืบสวนคดี
พ.ต.ต.ณัฐพล ระบุว่า ตนรับผิดชอบสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีแตงโม จะเน้นนิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยดีเอสไอมีมาตรการในการทำงาน และวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นหลังได้ร่วมสังเกตการณ์ จากนี้จะรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด
ต่อมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังกลับจากภารกิจ ว่า กระบวนการพิจารณารับเป็นเลขสืบสวนนั้น กระทรวงยุติธรรม มีหน่วยงานดีเอสไอรับผิดชอบดูแลคดีที่สลับซับซ้อน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขกฎหมาย แต่มีส่วนหนึ่งอยู่ในขั้นตอนพิจารณาศาลแล้ว สำหรับ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 คดีต้องเป็นคดีเด็ดขาดแล้ว ส่วนหากเป็นคดีระหว่างพิจารณาของศาล ถ้ายังมีประเด็นก็อยู่ในอำนาจของอัยการ หรือ การกล่าวหาบุคคลใหม่ที่ไม่อยู่ในสำนวนมาก่อนตรงนี้ก็จะมีอำนาจสืบสวนเป็นคดีใหม่ได้
"ทั้งนี้ ในคดีที่มีผู้เสียชีวิต มี 3 หลัก ประกอบด้วย หลักที่ 1 หลักเทคนิคในการสืบสวนสอบสวน ขึ้นอยู่กับผู้รวบรวมหลักฐาน 2.หลักการตรวจพิสูจน์ และ 3.หลักโดยชอบด้วยกฎหมาย ในการตรวจพิสูจน์เคสแบบนี้ ถ้าดีเอสไอจะตรวจสอบ ก็อยากให้มีผู้เชี่ยวชาญที่ขึ้นบัญชีไว้กับศาล ซึ่งจะมีแพทย์นิติเวชบ้าง จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบ พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้ไม่มีใครเสียหน้า เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ และหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม คือ ต้องทำความจริงให้ปรากฏ อย่างไรก็ตาม กรณีการจะรับไว้เป็นคดีพิเศษ หรือเพื่อสอบสวนใหม่นั้น ถ้ามีคนกระทำผิดใหม่ อันนี้สอบสวนได้ แต่ต้องมีการกล่าวหา พร้อมยืนยันว่า หลักการสอบสวนอยู่ที่พยานหลักฐาน เจ้าพนักงานต้องมีความกล้าหาญ ไม่มีอคติ หากพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงใครก็ทำตามพยานหลักฐาน"