xs
xsm
sm
md
lg

"อัจฉริยะ" แจงทีมงานซอฟแวร์ พบข้อพิรุธ 30 จุด เส้นทาง GPS เรือแตงโม วันเกิดเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "อัจฉริยะ" พร้อมผู้พัฒนาซอฟแวร์ เผย พบข้อสงสัย 30 จุด เส้นทางเรือ GPS แตงโมเสียชีวิต พร้อมพิสูจน์ความเร็ว 8 น็อท ตกเรือโดนใบพัดหรือไม่

สืบเนื่องเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ พร้อม นายแพทย์ธวัชชัย กาญจนรินทร์ อดีตศัลยแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎ , นายธนวัฒน์ สุหัตถาพร ผู้เชี่ยวชาญด้านขับเรือ และ นายเอกราช นามโภคิน ผู้พัฒนาซอฟแวร์ วิเคราะห์ GPS เข้าพบ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดี "แตงโม" นิดา พัชรวีระพงษ์ เสียชีวิต

วันนี้ (14 ม.ค.) เวลา 13.00 น. ห้องประชุม ชั้น 2 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อาคารเอ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายเอกราช นามโภคิน ผู้พัฒนาซอฟแวร์ วิเคราะห์ GPS คดีแตงโม เปิดเผยหลังเข้าพบ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ว่า ขอย้อนความเมื่อ 3 ปีที่แล้วก่อนได้ GPS ของจริงมา เราได้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการแถลงข่าว รวมทั้ง มีการลงเรือเพื่อนำทุกอย่างมาประกอบกัน ทั้งเรื่องของเวลาและตำแหน่ง จนกระทั่งได้ GPS ของจริงมาแต่ไม่ได้ตัวซอฟแวร์ จึงต้องพัฒนาซอฟแวร์ขึ้นมาใช้โปรแกรมดูดข่าวทั้งหมดที่มีในโซเชียลเพื่อพิสูจน์ไทม์ไลน์ ลักษณะตัวเรือและหัวเรือไปทางไหน เวลา ความเร็วเท่าไหร่ ซึ่งจะไล่ตั้งแต่วินาทีแรกตั้งแต่เรือออกจากอู่ จนถึงวินาทีเก็บเรือ และมีการนำเรือออกมาอีกครั้งจนถึงตี 4 กว่า

นายเอกราช กล่าวอีกว่า ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ มีการเปิดข้อมูลจะได้เห็นข้อสังเกต ข้อพิรุธ คาดน่าจะประมาณ 20-30 จุด ในเส้นทางของ GPS ทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ตำรวจเคยแถลงข่าวพบว่ามีหลายจุดไม่ตรงกัน อย่างน้อย 4-5 จุด เช่น จากที่ปรากฏภาพถ่ายบริเวณสะพานพระราม 8 ก็พบว่าไม่ตรงกับ GPS ส่วนอีก 20 กว่าจุดที่เหลือนั้น เป็นจุดพิรุธที่ไม่เคยเปิดเผยกับสื่อมวลชนมาก่อน

นายเอกราช กล่าวต่อว่า สำหรับการวิเคราะห์เหตุการณ์ไม่ใช่เพียงแค่ตรวจสอบบางจุดแต่ต้องดูทั้งก่อนและท้าย ซึ่งซอฟแวร์จะวิเคราะห์มาให้ว่าจุดไหนผิดปกติบ้างและไล่เรียงทีละจุด จึงพบว่ามีบางจุดไม่เคยอยู่บนสื่อ รวมถึงจุดวัดค้างคาว

"คดีดังกล่าวซอฟต์แวร์ GPS ตรวจสอบพบเรือลำเกิดเหตุใช้ความเร็ว สูงสุด 36 น็อต ทั้งขาไปและกลับจากอู่เรือไปยังโรงแรม จ.นนทบุรี ซึ่งใครเป็นผู้ขับเรือและไม่เคยอยู่ในการแถลงข่าวที่ผ่านมา แต่ขณะเกิดเหตุ ความเร็ว 8 น็อท ประมาณ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง คนตกเรือจะกระเด็นออกแต่ถ้าเรือถอยหลังกลับมาจะดูดเข้าแต่ GPS ระบุไม่มีการถอยเรือ"

ด้าน นายอัจฉริยะ เผยว่า ส่วนกระแสน้ำหรือระดับน้ำขึ้นน้ำลงไม่มีผลต่อการจำลองเหตุการณ์ แต่สำคัญคือ GPS เรือมากกว่า ความเร็ว 8 น็อท ซึ่งแตงโมนั่งท้ายเรือและตกเรือโดนใบพัดหรือไม่ นอกจากนี้ บริเวณจุดวัดค้างคาว จับได้ว่าเรือจอด 1-2 ชั่วโมง พบว่ามีโคลนและทราย ใบไม้ตรงกับลักษณะบนร่างแตงโม ซึ่งต่างจากตอนนำส่งขึ้นมาที่ท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ที่มีแต่ทราย รวมทั้ง จะเปิดภาพจากกล้องวงจรปิดว่า แซน วิศาพัช ไม่ได้นั่งท้ายเรือ และ แตงโม หายไปตั้งแต่ก่อนเวลา 22.32 น.

นายอัจฉริยะ เผยอีกว่า ส่วนภาพกระติก ก็พบว่ามีการแก้ไขเวลาชัดเจน อ้างว่าเรือจอดนิ่งไม่ใช่แต่วิ่งด้วยความเร็ว 7 น็อท อย่างไรก็ตาม ตนจะเปิดหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในสำนวนมาก่อน และจะตามต่อใครขับเรือไปวัดค้างคาว เพราะตอนนั้นตี 3 กว่า คนบนเรือไม่อยู่ที่เรือแล้ว


ส่วนทาง พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า วันนี้คณะตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สอบปากคำพยานสำคัญ 4 ราย เพื่อขอรับทราบข้อมูลว่าเหตุใดจึงมาพบดีเอสไอเพื่อให้รายละเอียดข้อมูลข้อเท็จจริง ในส่วนของ พ.อ.นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ หรือ อาจารย์หมอธวัชชัย ได้ให้การเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมอุบัติ ซึ่งแต่เดิมคุณหมอเคยเป็นโจทก์ร่วมในคดีการเสียชีวิตของคุณแตงโม เมื่อครั้งศาลจังหวัดนนทบุรี แต่ต่อมารายชื่อของคุณหมอได้ถูกโจทก์ร่วมตัดชื่อออก จึงทำให้คุณหมอต้องนำข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่เคยมีไว้ในสมัยเป็นโจทก์ร่วม ที่ไม่ได้ถูกนำเข้าสู่สำนวนคดีหลักมาให้กับดีเอสไอ

พ.ต.ต.ณฐพล ระบุต่อว่า ส่วนพยานปากที่ 2 คือ นายธนวัฒน์ สุหัตถาพร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขับเรือ มากว่า 20 ปี และเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรือสปีดโบ๊ทชนิดเดียวกับที่คุณแตงโมตก ซึ่งพยานรายที่ 2 ให้การว่าเขาขับเรือมา 20 กว่าปี ถ้าจะมีคนตกท้ายเรือในขณะที่เรือแล่นด้วยความเร็ว 8 น็อต ไม่มีทางที่บุคคลจะถูกดูดกลับมาที่เรือ เว้นแต่ว่าเรือต้องถอยหลังจึงจะมีความเป็นไปได้ที่จะถูกใบพัดเรือ ส่วนพยานปากที่ 3 คือ นายเอกราช นามโภคิน โปรแกรมเมอร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และวิเคราะห์ระบบ GPS ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง GPS TRACKING โดยได้ให้ข้อมูลเรื่องเรือว่ามีการแล่นจากจุดไหนไปจุดไหนบ้าง และเเล่นด้วยความเร็วเท่าใด ทิศทางอย่างไร เพื่อนำไปประกอบกับรูปถ่ายตามหน้าสื่อว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง และตรงหรือไม่

"ทั้งนี้ ดีเอสไอยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเนื่องด้วยมีเอกสารจำนวนมาก จึงทำให้ในประเด็นของ GPS TRACKING เราจะต้องนัดมาสอบถามข้อมูลภายหลังอีกครั้ง และในส่วนของภาคประชาชนก็จะได้มีการนำพยานหลักฐานอื่นๆ มาให้คณะทำงานดีเอสไอได้ทำการตรวจสอบต่อไป นอกจากนี้ เรื่องของบาดแผล หากตกเรือแล้วถูกดูดเข้าไปโดนใบพัดเรือจริงๆ แผลจะต้องมีลักษณะฉีกกระจุย"

พ.ต.ต.ณฐพล เผยอีกว่า สำหรับในวันที่ 16 ม.ค.นี้ ที่ภาคประชาชนจะมีการจำลองสถานการณ์การตกเรือของคุณแตงโมนั้น บทบาทของดีเอสไอ คือ จะไปร่วมสังเกตการณ์ บันทึกภาพนิ่ง บันทึกภาพวิดีโอโดยการบินโดรน เพื่อจะได้เก็บข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ส่วนหลังจากนั้น ภาคประชาชนจะได้จัดทำรายงานข้อมูลที่ได้จากการจำลองสถานการณ์ และรายงานวิชาการมามอบให้ดีเอสไอไปพิจารณาตรวจสอบต่อไป ส่วนจะเรียกว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่หรือไม่นั้น ตนขอย้ำว่าจะต้องรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ที่ได้จากภาคประชาชนให้เรียบร้อยก่อน เพราะอาจมีทั้งส่วนที่เหมือนข้อเท็จจริง หรือเป็นข้อเท็จจริง เราต้องนำมาเทียบเคียงเพื่อพิจารณาทั้งหมดให้รอบด้าน

พ.ต.ต.ณฐพล เผยต่อว่า ส่วนข้อมูลที่ได้จากการสอบปากคำ 4 พยาน และการจำลองสถานการณ์ในวันที่ 16 ม.ค. จะเป็นการนำไปสู่การที่ดีเอสไอจะสามารถรื้อคดีได้หรือไม่นั้น ขอเรียนว่าต้องใช้เวลา สักระยะ เพราะมันต้องดูให้แน่ชัดว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่เข้ามาหรือไม่ และดูข้อเท็จจริง พยานหลักฐานทั้งหมด ตอนนี้คงตอบไม่ได้ และการจะรับหรือไม่รับคดีใดไว้เป็นคดีพิเศษนั้น ตอนนี้คณะทำงานได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่กองปฏิบัติการพิเศษ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย เจ้าหน้าที่ส่วนระบบ GPS และส่วนของการข่าวมาช่วยระดมตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อกระจายบทบาทว่าต้องไปรวบรวมเอกสารจากบุคคลอื่นใดบ้าง เพื่อที่เมื่อดำเนินการแล้วจะทำให้เห็นภาพทิศทางว่าดีเอสไอสามารถทำในทิศทาง แนวทางใด จึงหมายความว่าดีเอสไแจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีการเสียชีวิตของคุณแตงโมทั้งหมด

พ.ต.ต.ณฐพล ย้ำว่า ไม่มีความกังวลใจที่ต้องรับภารกิจแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เพราะการทำงานของเราทำตามกรอบกฎหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้านก่อน เนื่องจากคดีหลักยังอยู่ในชั้นศาล ทั้งนี้ การจะพิจารณารับหรือไม่รับไว้เป็นคดีพิเศษนั้น ถ้าหากประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ความผิดตามบัญชีท้ายของ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 จะต้องมีการเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อขอมติในที่ประชุมพิจารณาว่าจะรับดำเนินการไว้เป็นคดีพิเศษ แต่ถ้าหากเรื่องดังกล่าว เป็นการกระทำ เป็นพฤติกรรมที่อยู่ในบัญชีท้ายของ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ก็จะเหมือนกับทุก ๆ คดีที่สามารถใช้อำนาจของอธิบดีดีเอสไอ ในการพิจารณารับเป็นคดีพิเศษได้


กำลังโหลดความคิดเห็น