xs
xsm
sm
md
lg

สนง.ศาลยุติธรรม เผยแพร่ ภาพ Infographic ให้ความรู้ “การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องต่อศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม เผยแพร่ ภาพ Infographic ความรู้ข้อกฎหมาย “การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ที่อาจเป็นผู้เสียหายในอรรถคดี ชั้นพนักงานสอบสวน หรือ ชั้นพนักงานอัยการ

การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องต่อศาล  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ชั้นพนักงานสอบสวน
- เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่า การสอบสวนเสร็จแล้ว และรู้ตัวผู้กระทำผิด โดยผู้กระทำความผิดนั้นถูกควบคุมหรือขังอยู่ ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นตามท้องสำนวนการสอบสวนว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมสำนวน (มาตรา 140, 142)

ชั้นพนักงานอัยการ
- เมื่อได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวน ให้พนักงานอัยการปฏิบัติดังนี้ (มาตรา 143)

o ในกรณีที่มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าเห็นชอบด้วยก็ให้สั่งฟ้องและแจ้งพนักงานสอบสวนส่งผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องต่อไป

o ในกรณีมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ออกคำสั่งฟ้องและฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งไม่ฟ้อง

- ในกรณีที่คำสั่งไม่ฟ้องไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด อาจมีกระบวนการทำความเห็นแย้งในคำสั่งไม่ฟ้องนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณารความอาญาหรือกฎหมายพิเศษอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยมีเกร็ดความรู้เพิ่มเติม ดังนี้

- เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ (มาตรา 147)

- คำสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการไม่ตัดสิทธิผู้เสียหาย ที่จะฟ้องคดีด้วยตนเอง

- คำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามมาตรา 46 ศาลในคดีส่วนแพ่งไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3351/2538, 6035-6038/2561)
กำลังโหลดความคิดเห็น