xs
xsm
sm
md
lg

"เต้น ณัฐวุฒิ" พาญาติคนเสื้อแดง ร้อง "ดีเอสไอ" เหตุเสียชีวิตสลายชุมนุม ปี 53 แต่คดีไม่คืบร่วม 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" พร้อมญาติคนเสื้อแดง ยื่นเรื่อง "ดีเอสไอ" ขอไต่สวนคดีการเสียชีวิต 68 ศพ เหตุสลายการชุมนุม ปี 53 ยันเพื่อทวงความยุติธรรม

วันนี้ (26 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พร้อมด้วย นายธงชัย พรเศรษฐ์ รองนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และญาติผู้สูญเสียบุคคลในครอบครัวจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้ไต่สวนหาผู้กระทำความผิดและคืนความยุติธรรมให้ประชาชน โดยมี ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นผู้แทนรับเรื่อง

นายณัฐวุฒิ เปิดเผยว่า ตนมาในฐานะประชาชนที่เคยได้ร่วมชะตากรรมกับพี่น้องในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ปี 2553 และมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ดีเอสไอช่วยดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ รวม 99 ราย ได้มีการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตในชั้นศาลไปแล้ว 31 ราย แบ่งเป็น 17 ราย ศาลชี้ว่าประชาชนเสียชีวิตจากอาวุธของเจ้าหน้าที่ ส่วนอีก 14 ราย ศาลระบุว่าไม่สามารถจะชี้ชัดว่าเสียชีวิตจากบุคคลกลุ่มใดหรือใครกระทำ นอกจากนี้ ยังผู้เสียชีวิตอีก 68 ราย ไม่มีการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตโดยศาล และเนื่องด้วยการไต่สวนการเสียชีวิต ถูกยุติลง ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 ตรงกับวันรัฐประหารทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตโดยศาลมาอย่างต่อเนื่อง

นายณัฐวุฒิ เผยว่า ขณะนี้เวลาล่วงเข้ามาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ครอบครัวของผู้สูญเสียได้พยายามติดตามประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ดีเอสไอ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จนทราบว่าได้มีการหารือภายในระหว่างสองหน่วยงานไปแล้ว มีข้อยุติว่าขณะนี้สำนวนคดีทั้งหมดมารวมอยู่ที่ดีเอสไอแล้ว และถ้าหากยืนยันความประสงค์ที่จะให้เดินหน้าตามกฎหมายต่อไป จึงต้องมาตั้งต้นที่ดีเอสไอ และขอให้หลังจากนี้ดีเอสไอได้ทำตามขั้นตอนกฎหมาย ส่วนตนจะติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหลังยุติไป 10 ปี

นายณัฐวุฒิ เผยต่อว่า ตนยังได้ประสานสมาคมสภาทนายความแห่งประเทศไทย เพื่อให้มาช่วยดำเนินการทางขั้นตอนกฎหมาย และการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต 68 ราย ทั้งนี้ ขอเรียนว่าไม่ได้ทำเรื่องนี้ให้เป็นกระแสทางการเมือง และไม่ได้ทำเพราะมีเจตนาเคืองแค้นส่วนบุคคลแต่อย่างใด และอยากให้ผู้เสียชีวิตได้รับสิทธิเท่าเทียมผู้สูญเสียในคดีอื่นๆ จึงขอให้เรื่องนี้เป็นกระบวนการของศาลและกลไกรัฐที่จะทำให้ความยุติธรรมเดินหน้า

"แม้เหตุการณ์ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว แต่เราไม่เคยสิ้นหวัง เราอยู่กันด้วยความหวัง จึงหวังว่าในรัฐบาลปัจจุบันจะทำให้เรื่องนี้มีการเดินหน้าก้าวสำคัญไปสู่ความยุติธรรมได้ อย่างไรก็ตาม ผมไม่ขอเรียกว่าเป็นการรื้อคดี เพราะมันไม่ได้ถูกเอาไปเก็บไว้ที่ไหนแต่มันถูกหยุดเรื่องเอาไว้ เราเพียงอยากให้เรื่องมันเดินต่อ ดังนั้น หากใช้คำว่ารื้อคดีจะหมายความว่าที่ผ่านมาเรายอมรับว่ามันจบไปแล้ว แต่สำหรับผมมันไม่เคยจบ เพียงแต่ว่าเรื่องมันหยุดนิ่งโดยไม่มีคำอธิบาย เพราะภายหลังการรัฐประหารก็ไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องการไต่สวนการเสียชีวิต"


นายณัฐวุฒิ เผยต่อว่า ส่วนผู้กระทำผิดจากเหตุสลายการชุมนุม 2553 ในตอนนั้นมีอดีตนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยท่านได้มีการไปฟ้องแย้ง และสู้จนถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้มีการชี้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงทำให้เรื่องต้องไปตั้งต้นที่สำนักงาน ป.ป.ช. แต่ปรากฏว่าไม่มีการชี้มูลความผิดผู้มีอำนาจสั่งการ ตนจึงเสนอแก้กฎหมายว่ากรณีที่มีความผิดถึงแก่ชีวิตหาก ป.ป.ช.ไม่มีการชี้มูลหรือชี้มูลแล้ว แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องก็ให้สิทธิ์ผู้เสียหายหรือญาติโดยตรงของผู้เสียชีวิตฟ้องร้องต่อผู้สั่งการเองได้

ด้าน นายธงชัย ระบุว่า ผู้เสียชีวิตจำนวน 68 ศพ มาจากเหตุสลายการชุมนุม ซึ่งการชุมนุมเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงออกมากระทำได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการเสียชีวิต จึงเป็นเรื่องของกระบวนการที่จะต้องหาเหตุผลและข้อเท็จจริงเพื่อให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตทราบว่าการตายดังกล่าวเกิดขึ้นจากอะไร ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงจะเกิดจากการชุมนุม แต่กระบวนการทางกฎหมายจะต้องมีการตรวจสอบชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุแห่งการตาย เพื่อให้ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย และมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องการชันสูตรพลิกศพ แม้การไต่สวนจะหยุดไปแต่ยังมีข้อสงสัยเพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือแม้กระทั่งญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตได้คืนความเป็นธรรมให้กับผู้สูญเสียอย่างไรได้บ้าง

ขณะที่ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า สำหรับการยื่นเรื่องของครอบครัวผู้เสียชีวิตต่อดีเอสไอเพื่อขอให้ไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตจากการชุมนุมปี 2553 จำนวน 68 ราย ซึ่งในวันนี้ดีเอสไอได้รับเรื่องไว้เรียบร้อย และจากนี้จะให้กองบริหารคดีพิเศษประมวลเรื่องเพื่อนำเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้กองคดีที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวดำเนินการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น