’โกศลวัฒน์‘ รับช่วยเหลือปรึกษาด้านกฎหมาย กลุ่มโชห่วย ถูกบริษัทดังดำเนินคดี ปมลงเงิน-บริหารเขาดทุน
เมื่อเวลา 15.00 น.วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด มูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคมพาตัวแทนชาวบ้านจากทั้งหมดกว่า 300 คน ที่ทำร้านค้าโชห่วยดัง เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย กับนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.)
กรณีชาวบ้านกว่า 300 คนถูกบริษัทดังแห่งหนึ่งที่มีการเปิดให้มีการร่วมลงทุนโดยมีการโฆษณายกระดับการลงทุนเเต่มาภายหลังมีการขาดทุนจนเกิดความเสียหายเเละรวมตัวกันไปเเจ้งความที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เเต่ภายหลังบางรายถูกบริษัทแจ้งความดำเนินคดีข้อหา ยักยอกทรัพย์และหลังจากที่เดินทางไปร้องเรียนที่ DSI และนายกรัฐมนตรี บริษัทดังกล่าวได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กับชาวบ้านเพิ่มเเละในส่วนคดีที่ชาวบ้านไปร้องทุกข์ก็ไม่มีความคืบหน้า
นายรภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า มาขอความช่วยเหลือกับอธิบดีอัยการ สคช.ในครั้งนี้เพื่อขอความรู้และแนวทางในการต่อสู้คดีที่ถูกบริษัทเเห่งหนึ่งดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ โดยมีคำวินิจฉัยของอัยการจังหวัดตากที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เพื่อประกอบเป็นแนวทางในการขอความช่วยเหลือของทางอัยการ สคช.เเนบมาด้วย ซึ่งในการพิจารณาคดีที่มีข้อที่พิพาทกันอยู่ว่า สินค้าตรงตามที่สั่งหรือไม่ โดยชาวบ้านยังไม่ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริง เพราะชาวบ้านเชื่อใจบริษัทในการเก็บฐานข้อมูล แต่ในการตรวจสอบสินค้าขาดเกินจะรับรู้เพียงเฉพาะของบริษัทเท่านั้น ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ตรวจสอบได้ ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าบริโภคในร้านโชห่วย ซึ่งมูลค่าความเสียหายที่ถูกดำเนินคดีบางรายมีสูง 2-4 เเสนบาท บางรายหลักหมื่น
นายชาญชัย ฉายบุ ทนายความมูลนิธิ กล่าวว่าชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี บางส่วนถูกดำเนินคดีในเรื่องของยักยอกทรัพย์ บางส่วนก็มีคำพิพากษาถึงชั้นศาลฎีกาแล้วและบางส่วนยังอยู่ในชั้นของพนักงานสอบสวน วันนี้จึงมาขอให้อัยการคุ้มครองสิทธิ์ช่วยลงมาดูในเรื่องนี้เพราะเป็นความทุกข์ร้อนใจของชาวบ้าน
ด้านนายโกศลวัฒน์ อธิบดีอัยการ สคช.กล่าวว่า เราได้รับทราบเรื่องแล้วแนวทางการช่วยเหลือคืออย่างแรกต้องทำตามระเบียบการขอความช่วยเหลือจากอัยการคุ้มครองสิทธิ์โดยชาวบ้านจะต้องยื่นเอกสารเองเพื่อขอตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่ละรายไป ส่วนที่ผู้ร้องนำเอกสารนำเอกสารอัยการเกี่ยวกับการสั่งฟ้องของพนักงานอัยการมาด้วย ก็จะต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วย และจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับความรู้ทางกฎหมาย จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าชาวบ้านที่มาร้องเรียนกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงได้ให้แนวทางการเข้าขอความช่วยเหลือกับอัยการจังหวัด สคช. ในพื้นที่เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้ตนจะประสานไปยังอัยการจังหวัด ทุกพื้นที่เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ของชาวบ้านไว้