xs
xsm
sm
md
lg

“กฤษณะพงศ์“ ศัตรูคู่อาฆาต ”บิ๊กโจ๊ก“ งัด 15 ประเด็นร้อง ป.ป.ช. รื้อคดีส่วยคาราโอเกะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันนี้ (16 ธันวาคม 2567) เวลา 15.40 น. พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กัญจน์ชัยกิจ รอง ผบก. กองร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ได้เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนนนทบุรี ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นหนังสือคำร้องขอรื้อฟื้นคดีส่วยคาราโอเกะ ที่ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีต รอง ผบ.ตร. เคยถูกกล่าวหา กรณีเรียกรับส่วยร้านคาราโอเกะ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมัยดำรงตำแหน่ง ผกก.3 บก.ปคม.เมื่อปี 2553 ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง หลังมีมติจาก ทาง ป.ป.ช.ว่าไม่มีมูลความผิดในห้วงเวลานั้น แก่คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้ง 5 ท่าน ประกอบด้วย 1.นายวิทยา อาคมพิทักษ์ 2.นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข 3.นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ 4.นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง และ 5.นางสุวณา สุวรรณจูทะ ตามเลขรับที่ 45479 - 45483

พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กัญจน์ชัยกิจ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มายื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีส่วยคาราโอเกะของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ที่เคยถูกกล่าวหา กรณีเรียกรับส่วยร้านคาราโอเกะ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมัยดำรงตำแหน่ง ผกก.3 บก.ปคม.เมื่อปี 2553 ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะตนเองได้ตรวจสอบสำนวนการไต่สวนคดี จากสองส่วน คือ 1.สำนวนรายงานการสืบสวนแบบ สส.5 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2554 เอกสารจำนวน 28 แผ่น และ 2.สำเนาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีหมายเลขดำที่ 01-2-244/2555 เอกสาร 84 แผ่น จนพบว่า มีการให้เหตุผลที่บกพร่องหลายจุด และอาจเข้าข่ายการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ซึ่งประเด็นที่บกพร่องชัดเจน ตนเองจำแนกแยกออกเป็น 15 ข้อ ดังนี้

1.การที่ นายสุรศักดิ์ ศรีวิเชียร นายยุทธภูมิ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายจรงค์ เกราะเหมาะ นายพิพิธ สุขเกษม และนายนิติ จันทวงษ์ ในฐานะอนุกรรมการไต่สวน ได้มีมติตีตกข้อกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ เมื่อครั้งเป็น ผกก.3 บก.ปคบ. พร้อมพวกรวม 4 คน กรณี นายเขตสยาม เนาวรังสี เจ้าของร้านคาราโอเกะชื่อ "โบว์ลิ่งเบียร์" อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม กล่าวหา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ และกรรโชกทรัพย์ เหตุเกิดเมื่อช่วงเดือน ก.พ.- ต.ค. ปี 53 แต่ในสำนวนการไต่สวน รวมทั้ง รายงานการสืบสวนปรากฏชัด ว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้มีการกระทำความผิด โดยการรับทรัพย์สินที่มีราคาเกินกว่าสามพันบาทอันมิใช่ทรัพย์สิน และประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย ทั้งมิใช่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543

โดยพยานหลักฐานชัดเจน ทั้งในรายงานการสืบสวนของตำรวจ และ สำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง คดีหมายเลขดำที่ 01-2-244/2555 หน้า 25-26 การทำความเห็นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงจากคำรับของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ให้ข้อมูลต่อสาธารณชนว่า “บ้านที่ถูกตรวจค้นเป็นของ “เฮียแต๋ม” ซึ่งเป็นญาติกัน และจ่ายค่าเช่าบ้านให้เดือนละ 50,000 บาท” ข้อมูลจาก https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/206642 ทั้งนี้สำหรับ บ้านทั้ง 5 หลังนี้ แบ่งเป็นจำนวน 3 หลัง คือ บ้านเลขที่ 9/146, 9/157และ 9/158 เจ้าของบ้านตามโฉนด คือ “เฮียแต๋ม” ส่วนอีก 2 หลัง คือ บ้านเลขที่ 9/147 และ 9/148 มีชื่อของ “เฮียแต๋ม”กับ ภรรยาชื่อ นาง ส. เป็นเจ้าของบ้านตามโฉนด ซึ่งทั้งสองหลังนี้เป็นบ้านที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พักอาศัยอยู่นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลการชำระเงินค่าส่วนกลางของบ้านทั้ง 5หลังดังกล่าว ค่าส่วนกลางระหว่างเดือนกรกฎาคม 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2567 ก็เป็น “เฮียแต๋ม” ที่โอนเงินเข้ามาจ่ายให้ โดยบ้านพัก 2 หลังที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พักอาศัยอยู่มีค่าส่วนกลางหลังละ 27,000 บาท รวมสองหลัง เป็นเงิน 54,000 บาท ส่วนบ้านหลังอื่น มีค่าส่วนกลาง 26,000 บาท จำนวน 1 หลัง และอีกสองหลัง หลังละ 31,000 บาท รวมค่าส่วนกลางทั้ง 5 หลัง เป็นเงินกว่า 142,000 บาท และนอกจากนี้จากข้อมูลการขอใช้ไฟฟ้าของบ้านทั้ง 5 หลัง พบว่ามีชื่อของ “เฮียแต๋ม” เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้า ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นข้อพิรุธหลายประการ และเป็นความผิดในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน

2.คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 774/2559 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 59 ที่ผ่านมา ได้มีมติปรับเปลี่ยนอนุกรรมการการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ กับพวก จึงมีข้อสงสัยได้ว่าการเปลี่ยนแปลงอนุกรรมการเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหา

3.คดีดังกล่าว เกิดเมื่อปี 53 แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กลับใช้เวลาในการไต่สวนข้อเท็จจริงล่าช้าเป็นอย่างมาก จนทำให้เสียหายเสียสิทธิและถูกฟ้องร้อง จนกระทั่งไม่อยากดำเนินคดีอีกต่อไป จนเวลาล่วงเลยมาถึง 23 ก.พ. 60 เพิ่งจะมีความเห็น ซึ่งใช้เวลากว่า 7 ปี กว่าคดีจะสิ้นสุด

4.เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว มูลเหตุความเดือดร้อนเกิดจากที่เจ้าหน้าที่ได้เรียกเงินจากผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 1,000 บาท เพิ่มเป็น 3,000 บาท และสุดท้าย 5,000 บาท จนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ร้องทุกข์ จนต้องมีการร้องเรียนและมีการเสนอข่าว

5.แต่ผลที่ตามมา คือการฟ้องปิดปากผู้ร้องเรียน SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งหมายถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน หรือคนที่กล้าออกมาเปิดโปงข้อเท็จจริง เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘คดีปิดปาก’ คือการฟ้องคดีเพื่อมีวัตถุประสงค์กลั่นแกล้ง หรือสร้างภาระให้กับบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หรือออกมามีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งการฟ้องคดีไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย แต่เพื่อใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ‘ปิดปาก’

6.คดีนี้เกี่ยวพันกับคดีอาญาอีกหลายเรื่อง การกรรโชกทรัพย์ ฟอกเงิน ภาษีอากร ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เป็นต้น แต่ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้ทำความเห็นในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกันกับข้อ 1 ที่ไม่ได้กล่าวถึงในรายละเอียด

7.นอกจากนี้แล้วความผิดทางวินัยที่ชัดแจ้ง เช่น มีการกล่าวถ้อยคำว่า “ไอ้เ_ี้ย มึงให้กูแค่นี้ไม่ได้เหรอ ไอ้_ัตว์มึงคอยดู มึงไม่ให้กู กูจะสั่งปิดร้านมึง เพราะอำนาจทุกอย่างที่อยู่ที่กูหมด กูจะสั่งเปิดสั่งปิดร้านไหนก็ได้ในเขตภาคอีสาน” เป็นถ้อยคำที่เห็นได้ชัดว่าผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้มีการดำเนินการ ในเรื่องนี้

8.การที่ ป.ป.ช.ใช้มาตรฐานในการรับฟังพยานหลักฐานโดยใช้หลักรับฟังพยานหลักฐานโดยปราศจากอันควรสงสัย เป็นหลักในการพิจารณาของศาล ซึ่งสามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ แต่ในกรณีเป็นความเห็นชั้นต้น ซึ่งควรใช้หลักพยานหลักฐานตามสมควร ดังนั้น การที่ ป.ป.ช.นำหลักดังกล่าวมาใช้ แล้วยกประโยชน์ให้ผู้ถูกกล่าวหา โดยไม่คำนึงถึงผลเสียของประเทศ สังคมหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติและประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ย่อมเป็นเรื่องไม่ตรงตามหลักการในการรับฟังพยานหลักฐาน และไม่ควรนำมาใช้ในเรื่องทุจริต ความเห็นของ ป.ป.ช. จึงขาดความน่าเชื่อถือ

9.การอ้างเรื่องการกู้ยืมเงินมาเป็นเหตุผลหักล้าง ทั้งที่เมื่อตรวจสอบจากภาษีที่ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ (ยศในขณะนั้น) เสียภาษีในอัตราที่ต่ำมาก เมื่อฟังจากเงินที่เข้ามาในบัญชี แต่ประเด็นนี้ ป.ป.ช. กลับเชื่อเหตุผลของผู้ถูกกล่าวหาแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้สนใจความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรัฐ รวมทั้งรายได้จากการประกอบอาชีพอื่น นอกจากนี้แล้ว ยังไม่ได้พิจารณาว่า “บิ๊กโจ๊ก” ในเวลานั้นผมีฐานะร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ที่มีเงินในบัญชีถึง 10 กว่าล้านบาท ประกอบกับในคดีการกู้ยืมอ้างว่าไม่ได้ทำสัญญา ข้ออ้างดังกล่าวจึงสามารถกระทำภายหลังเกิดเหตุได้ ไม่สามารถยืนยันได้ ว่า มีการกู้ยืมเงินกันจริงหรือเป็นเพียงข้ออ้างลอยๆ ในคดีนี้จึงควรให้มีการพิสูจน์ความผิดกันในชั้นศาลต่อไป

10.จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ป.ป.ช. มีปัญหาสำคัญในการคุ้มครองพยาน เพื่อให้สามารถให้การตรงตามความเป็นจริง เพราะโดยทั่วไปแล้วเป็นการยากที่ชาวบ้าน จะมาร้องเรียนข้าราชการด้วยมูลเหตุเดียวกันเป็นจำนวนมากด้วยข้อเท็จจริงที่ตรงกัน แต่ ป.ป.ช.กลับเลือกเหตุผลที่นำมาประกอบการวินิจฉัยด้วยการใช้เหตุผลที่เป็นข้อเท็จจริงหลังจากเกิดเหตุแล้วกอปรกับความล่าช้าที่เกิดขึ้นทำให้ผล ของการวินิจฉัยแปลกประหลาด ไม่สอดคล้องกับความเห็นของวิญญูชนทั่วไป โดยปรากฏชัดเจนว่าในรายงานการไต่สวนมีข้อความว่า “ เพราะกลัวจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีดังเช่นเดียวกับนายเขตสยามฯ ประกอบกับพยานเป็นคนทำมาหากินสุจริต ” จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการฟ้องเพื่อข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ถูกฟ้องเป็นผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่น่าจะมากเพราะการมาศาลต้องอาศัยมารถตู้ด้วยกัน จึงเป็นข่มเหงรังแกราษฎรที่ต้องประกอบอาชีพอีกโสดหนึ่ง

11.หากพิจารณาถึงพยานหลักฐานที่ผุ้ประกอบการทั้งหลายให้การแล้ว หากพิจารณาจากความเห็นของวิญญูชนทั่วไป จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผุ้ประกอบการต่างๆ ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมีการเรียกเก็บเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถประกอบกิจการได้ หากไม่มีข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการยากที่ราษฎรหรือประชาชนจะมากลั่นแกล้งกล่าวหาข้าราชการตำรวจ โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจที่มีชั้นยศถึงยศพันตำรวจเอก

12.ตามสำนวนการไต่สวน ปรากฏข้อเท็จจริงว่า “ประมาณเดือน กุมภาพันธ์ 2554 ด.ต.สถาพรกับพวก 3- 4 คน ได้แฝงตัวไปร่วมงานเผาศพ ของนายประดิษฐ์ แสนพรม ทั้งไม่ใด้เป็นญาติหรือรู้จักกับนายประดิษฐ์ แต่ไปเพื่อตามหาตัวผู้กล่าวหา ทำให้ หวาดกลัวอย่างมาก” กรณีดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการไปข่มขู่ผู้กล่าวหา

13.กรณีที่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม จเรตำรวจ (สบ 8) (หัวหน้าจเรตำรวจ) ออกคำสั่งตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง แล้วผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าไม่มีอำนาจนั้น พล.ต.ท.สมคิด เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ดังนั้น การใดๆ ที่ได้กระทำไปโดยแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนฯ ซึ่งตรงกับข้อมูลในสำนวนการไต่สวน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งมีหน้าที่ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องการค้ามนุษย์เท่านั้น ยังอ้างว่าไปจับการพนันได้ การให้เหตุผลในส่วนนี้จึงเป็นการให้เหตุผลที่ขัดกันเอง

14.กรณีที่อ้างว่า พ.ต.อ.วิฑูรย์ สัตยเทวา เป็นผู้จัดทำพยานเอกสารบันทึกคำให้การของนายเขตสยาม ผู้กล่าวหาให้กับ พ.ต.ท.บุญวัฒน์ นึกชัยภูมิ พนักงานสอบสวน (สบ 3) สภ.อ.ธาตุพนม นั้น กรณีนี้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 2888/2535 วางหลักไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า

“พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำผู้เสียหายที่ถูกจำเลยทั้งสามฉ้อโกงแตกต่างกับการสอบปากคำในคดีทั่วไป เนื่องจากผู้เสียหายมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผู้เสียหายต่างให้การถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นทำนองเดียวกัน พนักงานสอบสวนจึงทำแบบพิมพ์ในส่วนที่เหมือนกันไว้ เว้นช่องว่างในส่วนที่เกี่ยวกับชื่อของผู้เสียหาย จำนวนเงินและวันเวลา ซึ่งเป็นส่วนรายละเอียดของผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะไว้ เพื่อกรอกรายละเอียดในตอนสอบปากคำผู้เสียหายแต่ละคน เช่นนี้ หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไป

ไม่ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายมาให้ถ้อยคำหลายรายและพนักงานสอบสวนแจกแบบพิมพ์คำให้การดังกล่าวให้แต่ละคนไปอ่านดูก่อนแล้วเรียกเข้ามากรอกข้อความทีละคน พนักงานสอบสวนก็ได้สอบถามผู้เสียหายผู้ให้ถ้อยคำว่า มีอะไรผิดบ้าง ถ้าไม่มีผิดก็ให้ลงชื่อ ถ้าผิดพลาดก็ขีดฆ่าแก้ไขและลงลายมือชื่อกำกับ เช่นนี้เมื่อไม่ปรากฏว่าคำให้การของผู้เสียหายไม่ตรงกับปากคำที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน หรือปากคำนั้นผู้เสียหายไม่ได้ให้การด้วยความสมัครใจหรือด้วยเหตุอันมิชอบอย่างอื่น จะถือว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่”

การไปทำความเห็นว่าเป็นการสอบสวนโดยมิชอบ เป็นความผิดทางอาญาและวินัย จึงเป็นการทำความเห็นขัดกับคำพิพากษาดังกล่าว เชื่อว่าผู้ทำความเห็นไม่มีความรู้เกี่ยวกับคำพิพากษาดังกล่าวประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 12 ให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะกระทำได้

15.หากพิจารณาจากสำนวนการไต่สวนหลายจุด จะพบข้อพิรุธที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ภายในหน้าเดียวกัน มีทั้งใช้ยศย่อ เช่น พ.ต.อ. และยศเต็ม เช่น พลตำรวจเอก ซึ่งเป็นการผิดวิสัยการให้ความเห็นทางกฎหมายทั่วไป หากผู้ให้ความเห็นได้กระทำโดยสุจริตและไม่มีพิรุธ ถ้าหากย่อก็ต้องย่อเหมือนกัน ถ้าหากใช้ยศเต็มก็ต้องเต็มเหมือนกัน เชื่อว่าอาจมีการตัดต่อความเห็นของผู้ถูกกล่าวหาในบางส่วน โดยไม่ได้ทำความเห็นต่อเรื่องนั้น ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องที่สมควรกระทำในการทำความเห็นทางกฎหมาย

ดังนั้น หากวินิจฉัยตามพฤติการณ์หรือการกระทำของ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ต้องออกจากราชการไปตั้งแต่ก่อเหตุในคราวนั้นแล้ว แต่ภายหลังจากที่ ป.ป.ช.ไม่ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายและข้อเท็จจจริงให้ครบถ้วน ทำให้ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ รับราชการต่อมาจนเกิดความเสียหายในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความแตกแยกในองค์กร จน นายกรัฐมนตรีถึง 2 ท่าน ต้องให้ไปปฏิบัติราชการนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความขัดแย้งกับข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายราย โดยไม่สามารถหาทางประนีประนอมระงับข้อพิพาทได้ ให้ความช่วยเหลืออุปการะส่งเสริมทนายความที่ฉ้อโกงเป็นกิจธุระและฟอกเงิน ผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับเว็บพนัน ถูกออกหมายจับในข้อหาฟอกเงิน ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการโจมตีองค์กรตำรวจและข้าราชการตำรวจที่ไม่ใช่ฝ่ายตน จนเกิดความขัดแย้งปรากฎชัดทั้งในและต่างประเทศ โดยหาก ป.ป.ช.ได้ทำหน้าที่ไปตามเหตุผลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อาจไม่ส่งผลกระทบต่อองค์กรตำรวจและประชาชนเช่นนี้

พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กล่าวปิดท้ายว่า สาเหตุที่ขอให้รื้อฟื้นคดีนั้น เพียงแค่ต้องการความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย รวมทั้ง สร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในเรื่องการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติการณ์ทุจริตอย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมายเท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น