xs
xsm
sm
md
lg

ศึกขึ้นค่าแรง 400 บทสรุปออกหน้าไหน ประชาชนก็เดือดร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2567 นำเสนอรายงานพิเศษ ศึกขึ้นค่าแรง 400 บทสรุปออกหน้าไหน ประชาชนก็เดือดร้อน



หากจะบอกว่าสถานการณ์ทางการเมืองเป็นความหนักหน่วงที่รัฐบาลต้องเผชิญแล้ว สถานการณ์ปัญหาทางเศรษฐกิจยังคงถือเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญที่รัฐบาลภายใต้การนำของ 'แพทองธาร ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี ยังคงแก้ไขปัญหาแบบตาบอดคลำช้างอยู่ เพราะจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรดี

แม้ว่าจะเริ่มคิกออฟโครงการการเงินหมื่นจากเดิมที่ใช้ชื่อเงินดิจิทัล หรือ มาตรการแก้หนี้ให้กับประชาชน แต่ก็ยังดูเหมือนว่ามีคำถามตามมาว่าถูกทางแล้วใช่หรือไม่ โดยเฉพาะกับมาตรการอุ้มลูกหนี้ที่เริ่มมีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลกำลังหมางเมินลูกหนี้ที่มีระเบียบวินัยในการชำระหนี้ แต่กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างที่สมควรได้รับ

อีกหนึ่งปัญหาเศรษฐกิจที่น่าจะเป็นโจทย์ยากที่สุดสำหรับรัฐบาล คือ ปัญหาค่าครองชีพ ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน สวนทางกลับค่าแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างล่าช้า ไม่ทันกับภาวะค่าครองชีพ เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง จนต้องเข้าสู่วงจรการเป็นหนี้นอกระบบอย่างไม่หลีกเลี่ยงได้

นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้แตะระดับ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด ทันทีที่พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลและส่งให้ 'เศรษฐา ทวีสิน' เป็นนายกรัฐมนตรี พอได้เห็นการขึ้นค่าแรงอยู่บ้าง แต่ยังไม่แตะระดับตามที่หาเสียงแล้ว และยังเป็นลักษณะของฝนตกไม่ทั่วฟ้าอีกด้วย ถึงขนาดที่นายกฯเศรษฐาในเวลานั้นต้องขอให้คณะกรรมการไตรภาคีไปทบทวนใหม่อีกครั้ง

พอมาถึงยุคของ 'แพทองธาร' ก็พยายามจะผลักดันเช่นกัน โดยต้องการทำให้เป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อลดข้อครหาที่ว่าด้วยการเลือกที่รักมักที่ชัง แต่ก็มีเหตุที่ทำให้การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างต้องล่มหลายครั้ง เนื่ององค์ประชุมไม่ครบ

อีกทั้งท่าทีของเอกชนล่าสุดผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ยืนยันชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ

"นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศของรัฐบาล ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้เกิดการเลิกจ้างงาน ผู้ประกอบการลดจำนวนพนักงานลง หรือชะลอการจ้างงานใหม่เพื่อลดต้นทุน ไปจนกระทั่งถึงการปิดกิจการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสมดุลของอัตราการว่างงานของประเทศด้วย" ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน

สถานการณ์ว่าด้วยค่าแรง 400 บาท เหมือนเป็นภาวะที่รัฐบาลจะเดินหน้าก็ทำได้ไม่เต็มตัว ครั้นจะถอยหลังก็ทำไม่ได้ โดยความลำบากของการผลักดันในเรื่องนี้ คือ การที่รัฐบาลไม่ได้เป็นฝ่ายเสียงข้างมากเด็ดขาดในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง จะผลักดันเรื่องสำคัญใดๆ ก็ต้องอาศัยเสียงจากภาคส่วนอื่นๆด้วย หรือถ้าจะถอยเรื่องนี้ออกมา ก็ยิ่งทำไม่ได้เพราะได้หาเสียงเอาไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม การขึ้นหรือไม่ขึ้นค่าแรงและไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าแรงแบบฝนตกทั่วฟ้าหรือตกเป็นหย่อมๆ ผลกระทบรุนแรงที่สุดยังคงตกอยู่กับประชาชนผู้ใช้แรงงานเข้าอย่างจัง กล่าวคือ เมื่อมีการขึ้นค่าแรงแน่นอนว่าราคาสินค้า อุปโภค บริโภค ย่อมเพิ่มต้องเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อมาถัวเฉลี่ยกับนโยบายเพิ่มค่าแรง หรือ ผู้ใช้แรงงานเองก็อาจขาดความมั่นคงในการทำงาน โดยไม่รู้ว่าผู้ประกอบการจะแบกรับต้นทุนค่าแรงไปได้อีกนานแค่ไหน

ไม่ต่างกับกรณีที่ยังคงค่าแรงไว้ในอัตราเดิม หรือ เพิ่มขึ้นแบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า ย่อมกระทบต่อผู้ใช้แรงงานอีกทางหนึ่งด้วย เพราะค่าตอบแทนในการทำงานไม่เพียงพอกับการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และจำเป็นต้องเข้าสู่วงจรของการเป็นหนี้ที่ไม่มีวันจบสิ้นอีก

ดังนั้น หากรัฐบาลจะมีใจแก้ไขปัญหาค่าแรงจริงๆ ก็ควรมองรอบด้านเพื่อให้ความสมดุล เพราะการขึ้นค่าแรงจะไม่มีประโยชน์เลย หากไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตได้

--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android

**ขอแนะนำ ThaiTimes โซเชียลมีเดียของคนไทย
ไม่ปิดกั้นเนื้อหา - แชร์รูปภาพและวิดีโอ - ติดตามข่าวสารล่าสุด ได้อย่างอิสระ
มีให้ Download ได้แล้วทั้งในระบบ iOS และใน Android
iOS :https://apps.apple.com/th/app/thaitimes-social/id6502225132
Android :https://play.google.com/store/apps/details...
และhttps://thaitimes.co


กำลังโหลดความคิดเห็น