MGR Online - ดีเอสไอ รับเรื่องประธานมูลนิธิปวีณา หลังพาผู้เสียหายถูกบริษัทช่วยปิดหนี้ นำเอกสารไปกว้านซื้อคอนโดฯ เสียหายรวม 3,000 ล. พร้อมประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง
วันนี้ (11 ธ.ค.) ณ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พาผู้เสียหาย 70 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากทั้งหมด 200 กว่าคน เดินทางไปยื่นหนังสือกับ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ช่วยตรวจสอบ บริษัทช่วยปิดหนี้แห่งหนึ่ง หลอกให้ซื้อคอนโดฯ คนละ 3-6 ห้อง จนผู้เสียหายต้องเป็นหนี้กันคนละกว่า 10 ล้านบาท และเกิดความเสียหายเป็นหนี้รวมกว่า 3,000 ล้านบาท
นางปวีณา กล่าวว่า หลังรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้เสียหายที่เดินทางมามูลนิธิปวีณา เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ตรวจสอบเอกสารกฎหมายมีความละเอียดมาก สิ่งแรกที่เป็นห่วงคือ หนี้สินที่ต้องแบกหนี้คนละ 10-20 ล้านบาท บางคนมากถึง 40 ล้านบาท ทั้งที่ทุกคนอายุยังน้อยอยู่ในวัยทำงานต้องเลี้ยงดูครอบครัว เลี้ยงดูลูกและพ่อแม่ ทุกคนพะวงว่าถ้าหาเงินมาใช้หนี้ไม่ได้จะถูกเป็นบุคคลล้มละลาย หมายความว่าชีวิตเขาจะอยู่อย่างไร เอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงดูครอบครัว ถูกออกจากงาน ยึดทรัพย์สิน เสียเครดิต วันนี้ตนเองจึงพาผู้เสียหายถูกบริษัทในพื้นที่คลองสอง อ้างช่วยปิดหนี้หลอกซื้อคอนโดเสียหายจนเป็นหนี้ จึงมายื่นหนังสือเพื่อขอให้เป็นหน่วยงานหลักประสานธนาคารทุกแห่งประเทศไทย เพื่อทำการประนอมหนี้ ชะลอการชำระเงินกู้ระหว่างแก้ไขปัญหา เนื่องจากผู้เสียหายไม่มีกำลังส่งค่างวดกู้ซื้อคอนโดพร้อมกันหลายห้องได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ธนาคารมีหนี้เสียและส่งผลกับสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้
ด้าน น.ส.มีน (นามสมมุติ) ผู้เสียหายรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตนเป็นพนักงานบริษัทเงินเดือน 4 หมื่นกว่าบาท ก่อนหน้านี้ตนเป็นหนี้บัตรเครติดอยู่ 9 แสนบาท จู่ๆ มีบริษัทแห่งหนึ่งโทรมาเสนอปิดหนี้บัตรเครดิตให้ แล้วเขาก็จ่ายเงินปิดให้จริง โดยมีเงื่อนไขห้ามไปเป็นหนี้อะไรอีก เพราะต้องการให้ปลอดหนี้ที่แสดงในเครดิตบูโร ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าเขารู้เรื่องหนี้สินตนได้อย่างไร จากนั้นก็ได้มีการไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.คูคต ว่าบริษัทปิดหนี้ให้ และทำสัญญาจะต้องร่วมกับบริษัทในโครงการกู้ซื้อคอนโดฯ ผ่านไป 3-6 เดือน เมื่อบูโรใสสะอาดเขาก็ให้กู้ซื้อคอนโดฯ ทีแรกคิดว่าคงกู้ซื้อห้องเดียว แต่ปรากฎว่าเขาเอาเอกสารไปยื่นทุกธนาคารพร้อมกัน และตนก็กู้คอนโดฯ 4 แห่ง 4 ห้องผ่าน เป็นหนี้ 16 ล้าน โดยบริษัทบอกให้ตนผ่อน 1 ห้อง และบริษัทจะผ่อนอีก 3 ห้อง มีสัญญา 2 ปีจะซื้้อคืน แต่ผ่านไประยะหนึ่ง บริษัทก็ไม่ผ่อนทำให้ตนถูกธนาคารทวงถามและบอกจะฟ้อง
น.ส.มีน (นามสมมุติ) เปิดเผยอีกว่า ผู้เสียหายรายอื่นๆ ก็เช่นเดียวกับตน บางคนมีหนี้บัตรเครดิต 6 แสน บริษัทปิดหนี้ให้ แต่ต้องเป็นหนี้คอนโด 5 ห้อง 15 ล้าน บางคนมีคอนโดฯ ถึง 6 ห้องเป็นหนี้ 25 ล้าน 40 ล้านก็มี ผู้เสียหายได้มีการตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นและมีสมาชิกกว่า 200 คน ทุกคนเครียดมากเพราะบริษัทปล่อยทิ้งมีหนังสือบอกให้ไปประนอมหนี้กับธนาคาร บริษัทปิดดำเนินการแล้ว ซึ่งตนเครียดจัดกำลังจะฆ่าผูกคอตาย พอดีโทรไปมูลนิธิปวีณาฯ ได้พูดคุยกับนางปวีณา จึงได้ขอความช่วยเหลือ และสมิกทุกคนก็รวมตัวกันร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิปวีณา
ส่วนทาง พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า เบื้องต้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเรื่องไว้ตรวจสอบก่อน แนะนำผู้เสียหายให้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เนื่องจากเป็นเรื่องเศรษฐกิจความเสียหายเกิดขึ้นถึง 3,000 ล้าน แต่ขอตรวจสอบแล้วเข้าข่ายก็จะรับเป็นคดีพิเศษ
ต่อมา ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พาผู้เสียหาย 70 ราย เข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทลงทุนอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง ที่เสนอช่วยปิดหนี้ ก่อนหลอกให้ลงทุนซื้อคอนโด เกือบ 200 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท
นายเอ (สงวนชื่อและนามสกุล) หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลหลักหลายแสนบาท จึงต้องการลดภาระหนี้สิน โดยมองหาช่องทางทั้งสถาบันการเงินภาครัฐและเอกชน กระทั่งพบกับบริษัทดังกล่าว ที่เสนอว่าจะช่วยรวมเครดิตบูโรและปิดหนี้ให้ ประกอบกับเห็นว่าบริษัทดังกล่าวมีการจดทะเบียนชัดเจน ด้วยทุนจดทะเบียน 55 ล้านบาท และเปิดมาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว จึงดูน่าเชื่อถือ แต่หลังปิดหนี้ให้แล้ว บริษัทกลับเสนอให้ทำสัญญากู้ซื้อคอนโด 1 ห้อง เมื่อตกลงทำสัญญา บริษัทฯกลับกู้ซื้อตั้งแต่ 3-5 ห้อง โดยกู้เกินราคาจริง เช่น ห้องราคา 2-3 ล้านบาท แต่บริษัทยื่นกู้ 4-5 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทอ้างว่าจะนำห้องไปปล่อยเช่าเพื่อนำเงินมาผ่อนชำระค่างวด โดยที่ผู้เสียหายไม่ต้องจ่ายเงินชำระแต่อย่างใด และเมื่อครบสัญญาทางบริษัทก็จะมาซื้อห้องคืนจากผู้เสียหายกลับไป
นายเอ กล่าวต่อว่า กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ผู้เสียหายหลายคนเริ่มถูกทวงถามค่างวดจากธนาคาร จึงทราบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้มีการชำระค่างวดตามที่ตกลง จึงติดต่อกลับไปทางบริษัท แต่บริษัทอ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงินจึงไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดได้ พร้อมบอกให้ผู้เสียหายไปติดต่อขอปรับโครงสร้างหนี้กับทางธนาคาร แต่เมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้วทางบริษัทก็ยังไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดได้ และบอกให้นำคอนโดกลับไปบริหารจัดการเอง จึงไปติดต่อกับทางคอนโดจนทราบว่าที่ผ่านมาทางบริษัทปล่อยเช่าคอนโดในราคาที่ต่ำกว่าค่างวดที่ต้องผ่อนชำระ เช่น ค่างวด 20,000 บาทแต่บริษัทปล่อยเช่าในราคา 7,500 บาท จนต้องกลายเป็นหนี้หลักหลายล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทใหญ่ จึงไม่กล้าเข้าแจ้งความดำเนินคดี และได้ติดต่อขอความช่วยเหลือกับทางมูลนิธิปวีณาฯ
ด้าน นางปวีณา เผยว่า เมื่อตนทราบเรื่องดังกล่าวได้มีการติดต่อพูดคุยกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมอบหมายให้พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ดำเนินการ ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้พาผู้เสียหายเข้าไปยื่นเรื่องต่อดีเอสไอแล้ว แต่ไม่สามารถแจ้งความได้ จึงต้องเดินทางมาแจ้งความที่ บก.ปอศ. เพื่อให้พนักงานสอบสวนพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวเข้าข่ายความผิดใดบ้าง ก่อนส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป