MGR Online - อธิบดีดีเอสไอ เผย "แม่สามารถ" ยื่นจดหมายให้นักข่าวมีจุดประสงค์อะไร ช่วงสอบสวนเปิดโอกาสแก้ข้อกล่าวหาแต่ไม่ชี้แจง ส่วน "สามารถ" อำนาจฝากขัง 7 ผัด 84 วัน
จากกรณี นางวิลาวัลย์ พุทธสัมฤทธิ์ มารดาของนายสามารถ เจนชัยจิตรวณิช ได้ยื่นกระดาษ "บันทึกแจ้งคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว" โดยด้านหลังเขียนด้วยลายมือตัวเองขอความเป็นธรรม 8 ข้อ ให้ผู้สื่อข่าวตรงทางลงบันไดอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระหว่างถูกพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ควบคุมตัวส่งฝากขังศาลอาญา รัชดา ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน "ดิไอคอน" เมื่อช่วงเที่ยง วานนี้ (26 พ.ย.)
วันนี้ (27 พ.ย.) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยกรณีดังกล่าว ว่า สำหรับใบบันทึกแจ้งคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ให้แม่นายสามารถ เซ็นชื่อท้ายเอกสาร ระบุวันที่ 25 พ.ย.67 เวลา 10.56 น. ก่อนนำตัวไปส่งศาลฝากขังศาล วันที่ 26 พ.ย. ส่วนจะมีเวลาเขียน 8 ข้อด้านหลังได้อย่างไรนั้น อยู่ระหว่างตรวจสอบ ซึ่งปากกาและใบบันทึกคำสั่งฯ ที่แม่นายสามารถเขียนส่งให้นักข่าวนั้น พนักงานสอบสวนไม่ได้มีระเบียบเคร่งครัดในการยึดอุปกรณ์ใดๆ เพียงแค่มีความผิดปกติ ทำไมไม่ให้การในขณะที่มีการสอบสวน หรือต้องการจะจุดประเด็นอะไรหรือไม่ และดีเอสไอให้สิทธิ์ขอพบปรึกษาทนายความได้หรือเจ็บป่วยก็รักษาพยาบาลได้เช่นกัน
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยว่า กรณีประเด็น 8 ข้อดังกล่าวที่แม่นายสามารถเขียนลงในกระดาษนั้น เจ้าตัวก็ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ และบอกว่าตนเองไม่ได้กระทำผิด ในช่วงสอบสวนก็เปิดโอกาสให้แก้ข้อกล่าวหาและแสดงข้อเท็จจริง หรืออยากจะถามประเด็นใดก็เปิดโอกาสให้เต็มที่แล้ว แต่การไปยื่นกระดาษให้นักข่าวในขณะควบคุมตัวส่งศาล ดีเอสไอก็ไม่ได้มีการห้ามหรือไปบังคับติดต่อพูดคุยกับใคร เพราะตามรัฐธรรมนูญก็ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ เพียงควบคุมดูแลให้ได้รับความปลอดภัยตามขั้นตอนกฎหมาย และจากพิจารณาก็ไม่มีความผิดหรือข้อห้ามใดๆ
"ส่วน นายสามารถ จะชี้แจงเป็นเอกสารแก้ข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 15 วัน ให้ยื่นผ่านทนายความส่งมายังพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน มีอำนาจฝากขังทั้งหมด 7 ผัด รวม 84 วัน อย่างไรก็ตาม การแจ้งข้อกล่าวหาบอสพอลเพิ่มเติม ยังต้องประชุมพิจารณาวันแจ้งข้อหาอีกครั้ง" อธิบดีดีเอสไอ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับใบ "บันทึกแจ้งคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว" โดยด้านหลังเขียนด้วยลายมือตัวเองขอความเป็นธรรม 8 ข้อ ระบุว่า " 1.เรื่องเกิดปี 64 ตอนนั้นดิไอคนกรุ๊ปยังไม่มีปัญหาธุรกิจ เงินที่ได้มา ทำบุญกับกู้ยืม พอลก็ได้เซ็นชื่อ ไว้เป็นหลักฐานว่าได้คืนหมดแล้ว ได้ทำหนังสือออกมาให้แล้ว 2.ใครคือผู้เสียหาย 3.จะฟอกเงินได้อย่างไร 4.ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดนกลั่นแกล้ง 5.ไม่มีส่วนรู้เห็นในธุรกิจดิไอคอน เพราะไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยว 6.จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้อย่างไร 7.จะขอต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม จนกว่าชีวิตจะหาไม่ 8.ถ้าต้องโทษจนถึงตายก็ถือว่าประเทศไทยไม่มีความยุติธรรม"