xs
xsm
sm
md
lg

ยังมีอีก! เหยื่อ"หมอบุญ" 12 รายเสียหายรวม 1.9 พันล้าน ปอศ.ส่งสำนวนให้ดีเอสไอแล้วเมื่อวาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ตำรวจ ปอศ.ส่งสำนวนคดี "หมอบุญ" โกงผู้เสียหาย 12 ราย รวมมูลค่า 1.9 พันล้านบาทให้ดีเอสไอแล้วเมื่อวาน (22 พ.ย.) หลังพบมูลค่าความผิดเข้าข่ายคดีพิเศษ

วันนี้ ( 23 พ.ย. ) ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. สั่งการให้ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบก.ปอศ.) พร้อมด้วยพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ส่งสำนวนการสอบสวนคดีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ น.พ.บุญ วนาสิน อายุ 86 ปี ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรี กับพวกในคดีเกี่ยวกับการหลอกลวงชักชวนให้ลงทุน ให้กับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ โดยได้ส่งมอบสำนวนดังกล่าวไปเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังพบว่ามีมูลค่าทรัพย์สินความเสียหายเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เป็นการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาเป็นคดีที่สองหลังจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ออกหมายจับ น.พ.บุญ กับพวกไปแล้ว โดยคดีในส่วนของ บก.ปอศ. นั้น สืบเนื่องจาก วันที่ 1 พ.ย.ที่ผานมา ได้มาผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก 4 บก.ปอศ. ให้ดำเนินคดีกับ น.พ.บุญกับพวก เนื่องจากเมื่อประมาณต้นปี 2565 น.พ.บุญ ได้ทำสัญญากู้ยืมเพื่อให้ตัวแทนนำไปติดต่อกับผู้เสียหายซึ่งมีจำนวนหลายราย ผู้เสียหายหลงเชื่อตามคำชักชวน เนื่องจากเห็นว่าการลงทุนดังกล่าวจะได้ดอกเบี้ยจาก น.พ.บุญ ร้อยละ 8.5 ต่อปี และจะได้หุ้น THG เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินที่ปล่อยกู้ด้วย

นอกจากนี้ยังรวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่จะนำเงินไปลงทุน เพื่อให้ได้ผลกำไรมาจ่ายผลตอบแทน เช่น โครงการ จินเวลล์ บีอิ้ง, โครงการคอนโดที่พระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา, โรงงานถุงมือยาง, ตึกสหไทย, รพ.ธนบุรีบำรุงเมือง โดยการลงทุนดังกล่าว มีหลักทรัพย์เป็นหุ้น THG ค้ำประกันเงินกู้ยืม ภายหลังจากเข้าร่วมลงทุน จึงทราบว่า น.พ.บุญ ปกปิดข้อเท็จจริง อันมีลักษณะเป็นการฉ้อโกง ผู้เสียหายจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ที่ กก.4 บก.ปอศ. โดยมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์จำนวน 12 ราย รวมมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,970 ล้านบาท

ต่อมา บช.ก. ได้ดำเนินการสอบปากคำผูัเสียหาย รวมทั้งพยาน และตรวจสอบเอกสาร พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีดังกล่าวมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์จำนวนหลายราย มีมูลค่าเสียหายเกือบ 2,000 ล้านบาท เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศ กคพ.(ฉบับที่8) พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง 1 แห่ง พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ข้อ 1 คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่สามร้อยคนขึ้นไป หรือมีจำนวนเงินที่กู้ยืมรวมกันตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป กรณีนี้จึงเข้าหลักเกณฑ์ของดีเอสไอ และเป็นไปตามข้อกฎหมายรวมทั้งระเบียบที่เกี่ยวข้อง จึงได้ส่งสำนวนไปตามขั้นตอนของกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น