xs
xsm
sm
md
lg

ยกฟ้อง! พรรคก้าวไกลฟ้องหมิ่น "ณฐพร" อดีต ปธ.ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ต้องจ่าย 20 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
ศาลยกฟ้อง พรรคก้าวไกลฟ้อง "ณฐพร" อดีต ปธ.ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้กรณียื่นร้อง กกต.กล่าวหาพรรคก้าวไกลทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง ไม่เป็นการหมิ่นประมาท-ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งเท็จ ไม่ต้องจ่าย 20 ล้านบาท

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (20 พ.ย ) ที่ห้องพิจารณา 814 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาท พร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท

กรณีที่นายณฐพร ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลละเมิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ทำให้พรรคก้าวไกลต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาว่า ก็ยังไม่มีข้อเท็จจริงใฟ้เห็นว่า โจทก์ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด นอกจากนี้ที่โจทก์อ้างว่า คำวินิจฉัยที่ 1/2563 ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เห็นว่า เป็นเรื่องระหว่างจำเลยเป็นผู้ร้องโดยมีพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้ร้อง ซึ่งจำเลยร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จึงฟังได้ว่า เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมร้ายแรงกว่าการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้นการที่จำเลยยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)ขอให้พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย กรณีพรรคก้าวไกล กระทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 45 และมาตรา 92(2)(3) เพื่อพิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา จึงมีเหตุผลเพียงพอสำหรับจำเลยในการยื่นคำร้องเพื่อให้มีการพิจารณาว่า พรรคก้าวไกล กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่

การกระทำของจำเลยมีเจตนาเพื่อให้มีการพิจารณาคำร้องไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และหมิ่นประมาทการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำผิด จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น