“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ตอน ศึกชิง 'ประธานบอร์ด ธปท.' เกมซ่อนกลล้วง 'แบงก์ชาติ'
ปีพันวันที่สังคมหรือแม้แต่ภาคประชาสังคมจะให้ความสนใจกับการสรรหาบุคคลมาดำรงประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงขนาดที่มีการยื่นหนังสือขอให้ทบทวนการสรรหาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเดิมเป็นวันที่จะมีบทสรุปว่าใครจะได้ตำแหน่งดังกล่าว แต่ปรากฎว่าต้องเลื่อนชี้ขาดไปเป็นวันที่ 11 พฤศจิกายน แทน ซึ่งไม่ได้มีหลักประกันว่าวันนั้นจะได้ประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่หรือไม่ด้วย
สำหรับสาเหตุที่คณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ดที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป เนื่องจากต้องการทบทวนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ให้รอบคอบอีกครั้ง ภายหลังคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.มีมติให้อุทธรณ์คดีขายข้าวอินโดนีเซียหรือคดี BULOG อินโดนีเซีย ที่นายกิตติรัตน์เคยตกเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุดในฐานะโจทก์ฟ้องคดีว่าจะเห็นด้วยกับป.ป.ช.หรือไม่
รวมไปถึงการที่นายกุลิศ สมบัติศิริ แคนดิเดทประธานบอร์ดธปท.อีกราย ซึ่งเคยเป็นอดีตทีปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) จะถือเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งหรือไม่ด้วย
ส่วนปัจจัยหนึ่งสำคัญที่ทำให้การสรรหาประธานบอร์ดธปท.ครั้งนี้กลายเป็นกระแสหลักของสังคม คือ ความขัดแย้งในเรื่องนโยบายการเงินการคลังระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลัง โดยเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท. มักจะออกมาแสดงความคิดเห็นสวนทางหรือย้อนศรในทำนองไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ
แต่นั่นเป็นเพียงแค่เปลือก เพราะใจกลางความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายอยู่ที่การเห็นต่างในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งรัฐบาลพยายามกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงินลดดอกเบี้ยเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องมาเจอกับก้างขวางคอชิ้นโตอย่างผู้ว่าฯธปท.ที่แสดงความคิดเห็นสวนทางว่าการลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นเครื่องมือเดียวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกับเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นหลัก
แม้ในเวลาต่อมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน จะลดดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งทำให้คาดหมายว่าความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายจะเบาบางลง แต่ทุกอย่างกลับตรงข้ามเมื่อมีชื่อ 'กิตติรัตน์ ณ ระนอง' อดีตรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาอยู่ในแคนดิเดทประธานบอร์ดธปท. ส่งผลให้ถ่านไฟเก่าแห่งความขัดแย้งที่เกือบจะดับลงแล้วได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ทำให้ธปท.กลายเป็นเขตปลอดการเมืองประมาณ 99.99 % เพราะแม้มาตรา 28/19 จะกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมติให้ผู้ว่าฯธปท.ออกจากตำแหน่งตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือคณะกรรมการธปท.เสนอ แต่ก็ต้องถึงขนาดที่ผู้ว่าฯธปท.มีความประพฤติเสื่อมเสียรายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ บกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ และการจะมีมติดังกล่าวก็ต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกจากตำแหน่งอย่างชัดแจ้ง
จากบทบัญญัติของกฎหมายตรงนี้ทำให้การเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯธปท.ถึงรัฐบาลอยากจะทำแทบใจจะขาด แต่ก็ไม่อาจทำได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขจากกฎหมายดังกล่าว
เมื่อการเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯธปท.โดยตรงทำไม่ได้ ดังนั้น การแซะผู้ว่าฯธปท.ทางอ้อมผ่านตำแหน่งประธานบอร์ดธปท. จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ธปท.เกิดแรงกดดันได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ชื่อของกิตติรัตน์ ณ ระนอง ถึงได้อยู่ในโผตัวเต็งที่ถูกเสนอโดยกระทรวงการคลัง เหนือคู่แข่งอีกสองคนอย่าง นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยธปท.
จริงอยู่ที่ตำแหน่งประธานบอร์ดไม่ได้ให้คุณให้โทษโดยตรงกับผู้ว่าฯธปท.เนื่องจากเป็นการทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งลำพังประธานบอร์ดธปท.เพียงคนเดียวไม่อาจตัดสินใจได้เพียงลำพัง อีกทั้งกฎหมายของธปท.ก็ได้ให้คณะกรรมการธปท.ทำหน้าที่กำกับดูแลธปท.ในภาพรวมเท่านั้น ดังเช่นที่กำหนดในมาตรา 24 (1) ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินกิจการและการดำเนินการของธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าฯธปท.
แต่การมีชื่อ 'กิตติรัตน์ ณ ระนอง' ซึ่งมีสถานะความเป็นนักการเมืองติดตัวมาด้วย จึงเป็นการขัดกับม่านประเพณีและจริตของธปท.ที่ต้องการให้ธปท.เป็นเขตปลอดนักการเมืองอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดปรากฏการณ์อดีตผู้ว่าฯธปท.ถึง 4 คน ประกอบด้วย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, วิรไท สันติประภพ, ธาริษา วัฒนเกส ร่วมลงชื่อกับกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้ธปท.ถูกแทรกแซงโดยกลุ่มการเมือง
ดังนั้น สงครามระหว่างรัฐบาลกับธปท.คงไม่อาจจบลงได้ง่ายๆ ตราบใดที่ฝ่ายการเมืองยังพยายามล้ำเส้นเข้าไปในวังบางขุนพรหมโดยไม่ได้รับเชิญอยู่แบบนี้
------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
**ขอแนะนำ ThaiTimes โซเชียลมีเดียของคนไทย
ไม่ปิดกั้นเนื้อหา - แชร์รูปภาพและวิดีโอ - ติดตามข่าวสารล่าสุด ได้อย่างอิสระ
มีให้ Download ได้แล้วทั้งในระบบ iOS และใน Android
iOS :https://apps.apple.com/th/app/thaitimes-social/id6502225132
Android :https://play.google.com/store/apps/details...
และhttps://thaitimes.co