xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : กฎหมายมีช่องโหว่ คนสีเทายึดสภา เป็นแหล่งหากิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567 ตอน กฎหมายมีช่องโหว่ คนสีเทายึดสภา เป็นแหล่งหากิน



ใครจะไปคิดว่าภายใต้อาคารรัฐสภาริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยหรู จะกลายแหล่งทำมาหากินของนักการเมืองสีเทาบางคนโดยอาศัยสถานะที่ชื่ออยู่ในคณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกรับประโยชน์ ซึ่งกรณีล่าสุดได้มีการเผยแพร่คลิปเสียงนักการเมืองบางรายที่อ้างความเป็นกรรมาธิการในการเรียกรับประโยชน์จากการทำธุรกิจของบริษัท ดิ ไอคอน

กลายเป็นเรื่องร้อนถึงขนาดที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ต้องสั่งการให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบในเรื่องนี้อย่าเร่งด่วน โดยระบุว่า "เราคงต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการ การมาแอบอ้างหาผลประโยชน์ต้องมีบทลงโทษ กฎหมายอาญาก็มีอยู่แล้ว ก็ขอให้ได้หลักฐานที่ชัดเจน"

การแก้ไขปัญหาของประธานสภาฯ จะว่าไปแล้วเหมือนกับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุของเรื่องนี้ที่เป็นปัจจัยสร้างปัญหามาเป็นเวลานาน คือ ช่องโหว่ของกฎหมายในการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับการดำรงตำแหน่งกรรมาธิการฯของส.ส.ส่วนหนึ่งได้ผ่านการกลั่นกรองของที่ประชุมสภาฯมาก่อนแล้ว แต่ตำแหน่งอื่นๆ เช่น อนุกรรมาธิการ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นการดำเนินการภายในกันเองของคณะกรรมาธิการแทบทั้งสิ้น

บุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ได้มีสถานะความเป็นส.ส. ทำให้สำนึกในเรื่องการทำงานเพื่อประโยชน์ของคณะกรรมการธิการในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนไม่ได้มีมากนัก โดยส่วนมากจะเป็นพวกหัวคะแนน ลูกหลาน ญาติโกโหติกา หรือคนที่สนับสนุนการทำงานในพื้นที่ของส.ส.

ขณะที่ ข้อบังคับการประชุมสภาฯหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาทำงานในคณะกรรมาธิการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานที่คณะกรรมาธิการศึกษาอยู่นั้นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ทว่าเจตนารมณ์ที่ดีนั้นกลับถูกบิดเบือนไป กลายเป็นเพียงการผลประโยชน์ต่างตอบแทนเท่านั้น ด้วยช่องโหว่ที่เกิดขึ้นจึงไม่แปลกที่จะมีคนจำพวกนี้เดินกันให้เกะกะเต็มสภาไปหมด

สภาพแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาเรื้อรังมาเป็นเวลานาน เพราะกลุ่มคนที่ถูกเรียกรับผลประโยชน์นั้นไม่ได้เข้าใจถึงกลไกการทำงานของคณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญ จึงทำให้มองว่าบุคคลในคณะกรรมาธิการฯสามารถให้คุณให้โทษแก่บุคคลได้ ทั้งๆที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะคณะกรรมาธิการมีภาระหน้าที่ในลักษณะการเป็นตัวกลางในเรียกคู่กรณีทั้งฝ่ายภาครัฐและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาเจอกัน เพื่อหาทางออกร่วมกันแค่นั้น จึงเป็นช่องทางทำมาหารับประทานของคนกลุ่มนี้ไปโดยปริยาย

การจะไปหวังให้สภาฯลุกขึ้นมาตรวจสอบกันเองนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละพรรคการเมืองที่มีบุคคลเข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมาธิการตามสัดส่วน ก็ต่างต้องการให้คนของตัวเองเข้ามาทำงานแทบทั้งสิ้น ซึ่งจะว่าไปก็เหมือนการต่างตอบแทนของพรรคการเมืองด้วยกันในคณะกรรมาธิการ

อีกทั้งในทางปฏิบัติประธานสภาฯเองก็ไม่อาจเข้าไปล้วงลูกในคณะกรรมาธิการได้มากนัก เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ชัดเจน ทำให้ทิศทางการทำงานของคณะกรรมาธิการจึงขึ้นอยู่กับประธานกรรมาธิการเป็นหลัก

ดังนั้น หากประธานสภาฯอยากให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ก็ควรให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคเฉือนเนื้อตัวเองด้วยการกำหนดกติกาในการตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการ ซึ่งอาจจะไม่ได้แก้ได้อย่างเด็ดขาด แต่อย่างน้อยก็เป็นการสร้างกระบวนการในการตรวจสอบ เรื่องนี้หากจะทำให้เป็นรูปธรรมไม่ได้ยากมากนัก เพราะขึ้นอยู่กับความตั้งใจของนักการเมืองเป็นสำคัญ

------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android

**ขอแนะนำ ThaiTimes โซเชียลมีเดียของคนไทย
ไม่ปิดกั้นเนื้อหา - แชร์รูปภาพและวิดีโอ - ติดตามข่าวสารล่าสุด ได้อย่างอิสระ
มีให้ Download ได้แล้วทั้งในระบบ iOS และใน Android
iOS :https://apps.apple.com/th/app/thaitimes-social/id6502225132
Android :https://play.google.com/store/apps/details...
และhttps://thaitimes.co


กำลังโหลดความคิดเห็น