MGR Online - รมว.ยุติธรรม เป็นประธานวันสถาปนา 109 ปี กรมราชทัณฑ์ (13 ต.ค.) ขับเคลื่อน 8 มิติ สร้างคนดีคืนสังคม มอบทุนประกอบอาชีพ รางวัลเรือนจำดีเด่น
วันนี้ (11 ต.ค.) ณ อาคารกรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมราชทัณฑ์ ประจำปี 2567 ครบรอบ 109 ปี (13 ต.ค.67) พร้อมด้วย นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ , รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ , ผู้บัญชาการเรือนจำ , ผู้อำนวยการทัณฑสถาน , ผู้บริหารส่วนกลางกรมฯ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมในพิธี โดยมี พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรมราชทัณฑ์ 6 จุดพิธีพราหมณ์ เพื่อบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพิธีมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ย้อนกลับไปในอดีตการราชทัณฑ์ของไทยได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับสังคมการเมือง และสภาพเศรษฐกิจ ตลอดยุคสมัยที่ผ่านมาในยุคก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการเรือนจำได้สังกัดอยู่ตามส่วนราชการต่างๆ สอดคล้องกับการปกครองแบบจตุสดมภ์ ต่อมาได้มีการปรับปรุงระเบียบราชการใหม่ โดยโปรดให้สร้างคุกใหม่ขึ้นเรียกว่า “กองมหันตโทษ” และให้สร้างตะรางใหม่ขึ้น เรียกว่า “กองลหุโทษ” และในปี พ.ศ.2444 (ร.ศ. 120) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตรา “พระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำ” ขึ้น
จนเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมราชทัณฑ์ขึ้น และภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2479 การราชทัณฑ์ได้ยกฐานะเป็น “กรมราชทัณฑ์” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กรมราชทัณฑ์จึงถือเอาวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมราชทัณฑ์
ในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 109 ปี กรมราชทัณฑ์ ภายใต้การบริหารงานของ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คนที่ 37 ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหาร และผู้บัญชาการเรือนจำ/ทัณฑสถาน ทั่วประเทศ ต่อยอดจากนโยบาย 8 มิติ ยกระดับการเปลี่ยนแปลง ไปสู่การขับเคลื่อน 8 มิติ กำลัง 2 ภายใต้แนวคิด “รวมพลัง 8 มิติ สร้างคนดีคืนสังคม” ประกอบด้วย
มิติที่ 1 ขับเคลื่อนโครงการพระราชทาน อาทิ โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ โครงการห้องสมุดพร้อมปัญญา โครงการกำลังใจในพระดำริฯ โครงการ To Be Number One และโครงการคืนคนสุขภาพดีสู่สังคม
มิติที่ 2 พัฒนาสู่ Smart Prison การนำเทคโนโลยี AI มาใช้สนับสนุนในการปฏิบัติงานด้านการควบคุม และพัฒนาผู้ต้องขัง
มิติที่ 3 ยกระดับดัชนีนิติธรรม (Rule of Law) โดยการทบทวนมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อสร้างความปลอดภัยในเรือนจำทั้งกับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง รวมถึงการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง
มิติที่ 4 ปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยผู้ต้องขังโดยแนวทางต่าง ๆ เช่น กำหนดเรือนจำเฉพาะทางในการอบรม แก้ไข การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เพื่อลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ การอ่านหนังสือลดวันต้องโทษ เป็นต้น
มิติที่ 5 นำร่องการศึกษาต้นแบบ และสร้างความเป็นเลิศทางอาชีพ โดยการพัฒนาต่อยอดการศึกษาให้มีคุณภาพ และตรงตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ผู้ต้องที่มีความพร้อม แต่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้สามารถเรียนจบการศึกษาในภาคบังคับ รวมถึงส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ตรงกับความรู้ความสามารถของผู้ต้องขัง โดยให้ได้รับการฝึกอบรมในด้านที่ตนเองถนัด ยกระดับฝีมือแรงงานเฉพาะทาง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าสู่การแข่งขันในตลาดแรงงานได้
มิติที่ 6 ส่งคืนคนคุณภาพสู่สังคมผ่าน CARE Support และ Social Enterprise เป็นการสร้างความพร้อมให้กับผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษให้สามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยมีศูนย์ CARE ช่วยสนับสนุนด้านการมีงานทำให้กับผู้พ้นโทษ ซึ่งเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่ช่วยดูแลผู้พ้นโทษ อาทิ การให้คำปรึกษา การจัดหาแหล่งงาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงการติดตามสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้พ้นโทษภายหลังได้รับการปล่อยตัว
มิติที่ 7 สร้างสรรค์ ภาพลักษณ์ผ่าน Soft Power โดยการส่งเสริมเรือนจำให้มีการฝึกอบรมทางด้านกีฬาเฉพาะทางที่เหมาะกับผู้ต้องขัง การจัดตั้งเรือนจำท่องเที่ยว เพื่อสร้างการยอมรับให้แก่สังคม
มิติที่ 8 มุ่งสู่องค์กรยุคใหม่อย่างยั่งยืนซึ่งต้องมีการพัฒนาองค์กรในด้านต่างๆ เช่น การจัดชั้นประเภทเรือนจำให้เหมาะสม การพัฒนาบุคลากร เพื่อขับเคลื่อนงานราชทัณฑ์ โดยยึดหลักคุณธรรม ในการบริหารงานบุคคล รวมถึงการสร้างขวัญและกำลังใจในด้านสวัสดิการเจ้าหน้าที่ อาทิ ค่าตอบแทน บ้านพักเจ้าหน้าที่ รวมถึงความก้าวหน้าทางอาชีพ
โดยในวันนี้ กรมราชทัณฑ์ ได้จัดกิจกรรมการมอบทุนประกอบอาชีพจากมูลนิธิส่งเสริมพลเมืองดี และมูลนิธิพิบูลสงเคราะห์ ให้แก่ผู้พ้นโทษ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการใช้ชีวิตภายหลังพ้นโทษให้แก่ผู้พ้นโทษที่มีความตั้งใจในการประกอบอาชีพสุจริต และพิธีมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ทำคุณงามความดี เป็นที่ประจักษ์ให้แก่กรมราชทัณฑ์
รวมถึง รางวัลเพื่อสร้างกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งประกอบไปด้วย รางวัลพระยมทองคำ , รางวัลเข็มพะทำมะรง , รางวัลผู้คุมดีเด่น , รางวัลโครงการมาตรฐานความโปร่งใสของเรือนจำ 5 ด้าน , รางวัลโครงการประกวดนวัตกรรมการพัฒนางานราชทัณฑ์ , รางวัลการติดตามประเมินมาตรฐานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เรือนจำ/ทัณฑสถาน , รางวัลนโยบายอธิบดีกรมราชทัณฑ์ “8 มิติ ยกระดับสร้างความเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567”
จากนั้น เป็นการมอบนโยบายการบริหารงานให้แก่เรือนจำและทัณฑสถาน ทั่วประเทศ เพื่อเน้นย้ำว่า กรมราชทัณฑ์ ยังคงมุ่งมั่นแก้ไข พัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง เพื่อให้กลับตนเป็นคนดีคืนสู่สังคม ตามแนวทางการขับเคลื่อน 8 มิติ กำลังสอง “รวมพลัง 8 มิติ สร้างคนดีคืนสังคม” รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมและก้าวเข้าสู่ปีที่ 110 ด้วยความภาคภูมิ