“มูลนิธิรณรงค์- ทนายเดชา" พาเหยื่อแชร์ลูกโซ่ "ไอคอน"แจ้งความดำเนินคดีบอสขายฝัน ยอมลงทุนจนหมดตัว เชื่องานนี้มีดารา-พิธีกรติดคุกแน่!
วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายรภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รอง ประธานมูลนิธิรณรงค์ฯ พาตัวแทนผู้เสียหายกว่า 20 คน จาก 500 คน เข้าให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวน บก.ปคบ. หลังร่วมลงทุนเปิดบิลกับบริษัทเครือข่ายชื่อดัง ”ไอคอน“ ที่มีดาราเป็นผู้บริหาร ปรากฎว่าของขายไม่ออก แต่ยังต้องหาลูกทีมเพิ่มลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ ผู้เสียหายบางรายยังถูกให้เซ็นเอกสารปิดปากห้ามแจ้งความด้วย
นางเอ (นามสมมติ) หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยว่า ตนเริ่มจากการเห็นโฆษณาทางทีวีหรือผ่านโซเชียล ว่าบริษัทดังกล่าวมีการเปิดสอนการทำธุรกิจออนไลน์ฟรี 50 -100 ท่านแรก หรือมีค่าเรียนแค่ 98-99 บาท ตนเกิดความสนใจสมัครเรียน จนมาวันที่ 3 ของการเรียนก็จะมีระดับแม่ทีมลงมาสอนแนะนำให้ทำธุรกิจ อ้างว่าสามารถสร้างรายรายได้อีกกระเป๋า แต่ต้องเสียค่าสมัครเพื่อร่วมธุรกิจ จำนวน 2,500 บาท ก็จะได้สินค้า และมีระบบหลังบ้านให้ทั้งหมด การตลาดก็มีดารานักแสดงชื่อดังร่วมงานซึ่งจะพบเจอได้ในเฉพาะงานอีเวนท์ แต่จะมีค่าบัตรเข้าร่วมงาน จำนวน 1,500 บาท เท่าที่เห็นจะมีจำนวน 3 คนด้วยกัน ซึ่ง 3 คนนี้ เท่าที่ได้ยินมาไม่ใช่แค่เป็นพรีเซนเตอร์ แต่เป็นถึงระดับผู้บริหารที่คนจะเรียกกันว่า “บอส”
นางเอ กล่าวต่อว่า พอตนเริ่มสนใจลงทุนธุรกิจ ช่วงแรกเงินมีไม่พอ บัตรเครดิตก็มีไม่พอ จนมีแม่ทีมเป็นคนแนะนำให้ขยายวงเงินในบัตรเครดิต พร้อมแนะนำให้โทรไปหาธนาคารเพื่อขยายวงเงิน ประกอบตอนนั้นแม่ทีมขายฝันว่าส่วนแบ่งและผลกำไรจะได้เยอะอย่างไรบ้าง จึงทำให้ตัดสินใจหาเงินเข้าไปลงทุน โดยใช้เงินเก็บทุกบาทในชีวิตพร้อมกับเงินจากบัตรเครดิตจนตอนนั้นไม่เหลือแม้แต่เงินจะกินข้าว
นางเอ กล่าวต่อว่า พอหลังจากลงทุนไปแล้วกลับกลายเป็นว่า ไม่ใช่การขายของเหมือนกับการที่ถูกขายฝันเอาไว้ แต่เป็นให้เราไปโฆษณาในโซเชียลเหมือนกับที่เคยเจอตอนแรก ด้วยการยิงแอดโฆษณาลงในเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นการขายสินค้าเหมือนกับที่ตัวเองนั้นได้ซื้อมา ซึ่งการโฆษณาทางบริษัทก็จะมีสคริปให้พูดทุกอย่าง หากสามารถหาดีลเลอร์ หรือลูกค้ามาได้ ก็จะได้เปอร์เซ็นต์จากการหาคนมาสมัครต่อหัว ซึ่งเปอร์เซ็นต์แล้วแต่สินค้าตัวนั้น ๆ
"หลังจากที่เริ่มเรียนไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกได้ว่าไม่ชอบมาพากล เพราะก็ไม่ได้สอนให้ขายสินค้า แต่สอนให้หาคนมากระจายสินค้าด้วยการยิงแอดโฆษณา หาดีลเลอร์มาลงทุนแบบตัวเอง ตอนนั้นแม้จะไม่มีเงินยิงแอดโฆษณา แม่ทีมมีการแนะนำให้เอารถไปรีไฟแนนซ์เพื่อนำเงินมายิงแอดโฆษณาหาลูกค้าคนอื่นๆ หรือหานักเรียนคนอื่นเข้ามาเรียน ทั้งแนะนำให้มีการชวนเพื่อน มีเบอร์คนไหนก็ให้โทรชวนคนนั้น จนตอนนี้ต้องเป็นหนี้บัตรเครดิต เงินที่ใช้ไปลงทุนก็ไม่เคยเห็นผล สินค้าก็ขายไม่ออก ไปขายให้ใครก็ไม่มีใครซื้อ" นางเอ กล่าว
ส่วนนายบี (นามสมมติ) หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ตน เคยตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย เนื่องจากได้ลงทุนไปจำนวนเงินกว่า 200,000 บาท เครียดเนื่องจากมีการกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน แต่สินค้าที่นำมาสต๊อกกลับขายไม่ได้ ขณะนี้สินค้ากองอยู่ที่บ้านจนหมดอายุ โดยตัวบอสใหญ่มักใช้วลี “ ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” มาชักจูงจนทำให้ให้คนหลงเชื่อ
ขณะที่ นายรภัสสิทธิ์ เปิดเผยว่า วันนี้พาผู้ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 20 คน จาก 500 คนในกลุ่มที่เข้าไปร่วมธุรกิจกับบริษัทนี้ เข้ามาแจ้งความและให้ข้อมูลกับตำรวจในประเด็นที่เกิดขึ้น ว่าเหตุใดธุรกิจขายตรงเครือข่ายนี้ถึงทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก และในเรื่องของกฎหมายทางตำรวจต้องตรวจสอบว่าบริษัทนี้ จะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน หรือความผิดในเรื่องของแชร์ลูกโซ่ ตาม พรก.กู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค หรือไม่ เพราะพบมีการโฆษณาเกินจริงหรือเป็นเท็จ
นายรภัสสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้มีผู้เสียหายบางส่วนเคยมาแจ้งความไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินคดี เพราะผู้เสียหายบางรายได้ไปขอความช่วยเหลือกับบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่มีการไปตกลงกับทางบริษัทดังกล่าว ให้จ่ายคืนผู้เสียหาย จำนวน 50% แต่ต้องให้ผู้เสียหายเซ็นเอกสารสัญญาปิดปากไม่ให้แจ้งความ อย่างไรก็ตามอยากเรียนผู้เสียหายว่าคดีนี้เป็นอาญาแผ่นดิน แม้จะมีบันทึกข้อตกลงยอมความ ก็ไม่สามารถยอมความได้ ดังนั้นไม่ต้องกลัวขอให้เข้าแจ้งความได้เลย
นายรภัสสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนก่อนหน้านี้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีการพิจารณา ว่าบริษัทดังกล่าวไม่เข้าข่าย กระทำความผิดกฎหมาย ตนมองว่าเรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากการทำธุรกิจของบริษัทดังกล่าว มีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นการตีความข้อกฎหมาย มีทั้งส่วนที่เสียผลประโยชน์และได้ประโยชน์ และอาจมีการเลี่ยงบาลีในการตีความ จึงอยากให้ผู้เสียหายเข้ามาให้ข้อมูลให้ได้มากที่สุดด้วย
ขณะเดียวกัน ทนายเดชา เดชา กิตติวิทยานันท์ พร้อมด้วย ต้นอ้อ มูลนิธิเป็นหนึ่ง และนายแทนคุณ จิตต์อิสระ พาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบบางส่วนจากการลงทุนกับ บริษัท The icon group กว่า 10 ราย เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) โดยให้ความสำคัญกับกรณีแชร์ลูกโซ่มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่คดีการฟอกเงิน และหากพยานหลักฐานเพียงพอก็จะขอให้ดำเนินการยึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
นายแทนคุณ ระบุว่า พฤติการณ์ของบริษัทนี้ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและโฆษณาเกินจริง เกี่ยวกับการขายสินค้าออนไลน์ เมื่อมีผู้หลงเชื่อจะชักชวนให้ร่วมลงทุน เปิดคอร์สราคา 97 บาท ก่อนขยับเป็นขั้นบันดัน ไปจนถึง 250,000 บาท เพื่อเป็นดีลเลอร์ และสามารถสร้างทีม และรับผลประโยชน์เพิ่ม และหลังจากน้้นจะมีการโน้มน้าว เชิญชวนให้ยิงแอดโฆษณาหารายได้ เฉลี่ยแล้ว 1 คน จะเสียหายอย่างน้อย 5 แสนกว่าบาท
นายแทนคุณ กล่าวด้วยว่า ข้อมูลล่าสุด มีผู้เสียหายที่มาร้องทนายเดชาแล้วมากกว่า 500 คน ในวันนี้มีตัวแทนมา 10 คน ส่วนผู้เสียหายรายอื่น สามารถเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่บ้านตนเองได้เลย ส่วนกรณีการนำผู้มีชื่อเสียงมาร่วมงาน จากการสอบถามผู้เสียหาย พบว่าดาราที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทนี้มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ได้รับมอบอำนาจในการบริหารโดยตรง มี 5-6 คน กลุ่มสองเป็นกลุ่มพรีเซนเตอร์ที่บริษัทจ้างมา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีจำนวนหลายคน และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ และถูกเชิญเข้าไปร่วมอีเวนท์ของบริษัท โดยผู้เสียหายยืนยันว่าดารากลุ่มแรกเข้ามาบริหารจริง
ด้าน ทนายเดชา เปิดเผยว่า จากการที่เมื่อแซม ยุรนันท์ แถลงข่าวว่าตนเองไม่มีส่วนในการตัดสินใจของบริษัท ตนเองได้พูดคุยกับพนักงานสอบสวนแล้วว่า การจะดำเนินคดีกับใครไม่ได้ดูแค่เพียงคำพูด แต่ต้องดูพฤติกรรมและหลักฐานที่รวบรวมมา ซึ่งดิจิทัลฟุตปริ้นจะเป็นตัวพิสูจน์ คดีนี้หากดูจากพฤติการณ์ มีโอกาสสูงที่ดาราจะถูกดำเนินคดีแน่ ๆ แต่ยังไม่ขอระบุว่าเป็นใคร
“คดีนี้ใครจะฟ้องกลับผมยินดีให้ฟ้อง ถ้าบริสุทธิ์จริงก็ตั้งโต๊ะแถลงตอบคำถามลูกค้าให้กระจ่าง ทั้งนี้ฝากไปถึงแม่ข่าย ขอให้เข้ามาเป็นพยานและแจ้งความทันที หากไม่มาก็จะกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดซึ่งถือเป็นผู้ต้องหาแน่นอน” ทนายเดชา กล่าว
ส่วน น.ส.น้ำ (นามสมมุติ) เปิดเผยว่า เรื่องเกิดขึ้นเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ตนตัดสินใจร่วมลงทุนเพราะอยากจะประสบความสำเร็จเนื่องจากมีการชักชวนและกล่าวอ้างถึงผู้ที่ประสบความสำเร็จ โดยมีวลีหลักของตัวเจ้าของหรือบอสใหญ่ว่า “ ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” จึงตัดสินใจเข้าร่วม และมีการชักชวนให้คนสนิทหรือคนในครอบครัวมาร่วมลงทุนด้วย แต่สินค้ากลับขายไม่ออกเนื่องจากสินค้าไม่ได้คุณภาพทำให้คนไม่กลับมาซื้อ เมื่อถามหาวิธีขายของกลับไม่ได้คำตอบ ทำให้ตนต้องเสียความสัมพันธ์กับคนสนิทและครอบครัว และธุรกิจดังกล่าวไม่ได้เน้นขายของแต่เน้นหาคนให้ร่วมลงทุน