MGR Online - ดีเอสไอ ร่วมภาคีเปิดปฏิบัติการ "ล้มบัญชีม้าดำ" จับกุมชาวไนจีเรียหัวหน้าแก๊งพร้อมเมียคนไทย เอเย่นต์ขายบัญชีม้ากลุ่มอาชญากรรม เงินสะพัด 1,200 ล้านบาท
วันนี้ (8 ต.ค.) ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อม ร.ต.อ.ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผอ.กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ร่วมแถลงผลปฏิบัติการ Black Horse Down (ล้มบัญชีม้าดำ) โดย ดีเอสไอ สนธิกำลัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าทำการจับกุมผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ นายอิเกดิ (สงวนนามสกุล) ชาวไนจีเรีย , น.ส.อรอนงค์ (สงวนนามสกุล) สัญชาติไทย , นายวิโรจน์ (สงวนนามสกุล) , น.ส.อารยา (สงวนนามสกุล) สัญชาติไทย และ น.ส.กรรณิการ์ (สงวนนามสกุล) สัญชาติไทย ได้ที่คอนโด ย่านถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ ความผิดฐาน "ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นฯ และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยเป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน"
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า สืบเนื่องจาก กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ได้ทำการสืบสวนสอบสวน เป็นคดีพิเศษที่ 95/2566 เริ่มต้นจากกรณีมีผู้เสียหายหลายรายถูกหลอกจากแก๊งโรแมนซ์สแกม หลอกให้หลงรักแล้วชวนลงทุน สูญเงินกว่า 50 ล้านบาท เมื่อปี 61 ต่อมาจากการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายอิเกดิ และ น.ส.อรอนงค์ ซึ่งเป็นสามีภรรยากันเป็นหัวหน้าขบวนการดังกล่าว และช่วงปี 64-65 ยังมีพฤติการณ์เป็นเอเย่นต์จัดหาบัญชีม้าจากทั่วประเทศ ส่งขายให้กับกลุ่มองค์กรอาชญากรรมต่างๆ ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โรแมนซ์สแกม ขบวนการฟอกเงิน และผู้ค้ายาเสพติดในต่างประเทศ เช่น กัมพูชา ฮ่องกง เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 10,000 บาทและบวกเพิ่มอีก 3-4 เท่า ประกอบด้วย บัญชีม้า บัตรเอทีเอ็ม ซิมผี โทรศัพท์มือถือ ทั้งยังที่มีความเชื่อมโยงกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติแอฟริกาตะวันตกที่เคลื่อนไหวในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า นายอิเกดิ และ น.ส.อรอนงค์ ยังได้สั่งการให้กลุ่มเครือข่ายทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นนายหน้าติดต่อว่าจ้างหาคนมาเปิดบัญชีม้าและซิมผี ผ่านการโพสต์หางานตามกลุ่มเฟซบุ๊ก ค่าเปิดบัญชีรายละ 10,000 บาท แล้วส่งกลับมาให้เพื่อกระจายส่งต่อไปให้กับกลุ่มองค์กรอาชญากรรมนำไปใช้ในการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยนายหน้าแต่ละคนจะมียอดในการส่งบัญชีม้าให้กับนายอิเกดิ และ น.ส.อรอนงค์ เฉลี่ยประมาณเดือนละกว่า 100 บัญชี และมีความเชื่อมโยงกับบัญชีม้ากว่า 1,000 บัญชี เงินหมุนเวียนกว่า 1,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่บัญชีม้าเป็นคนไทยร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 เป็นคนต่างด้าว ต่อมา คณะพนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญา ออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 8 ราย ซึ่งพบว่ามี 2 ราย ถูกควบคุมตัวในเรือนจำและคดีอื่นจึงได้อายัดตัวไว้แล้ว
“กระทั่ง วันนี้ (8 ต.ค.) ดีเอสไอ ขออนุมัติศาลอาญา ขอหมายค้นเพื่อตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง 5 จุดทั่วกรุงเทพ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและจับกุมผู้ต้องหา ตามหมายจับที่เหลือ 6 ราย ซึ่งเป็นเครือข่ายของนายอิเกดิ และ น.ส.อรอนงค์ สามารถจับกุมได้ จำนวน 5 ราย อีก 1 ราย อยู่ระหว่างหลบหนีซึ่งจะได้ติดตามจับกุมมาดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการตัดวงจรบัญชีม้าป้องกันความเสียหายในวงกว้าง"
ด้าน ร.ต.อ.ทินวุฒิ เผยว่า ผลการตรวจค้น พบสมุดบัญชีธนาคารต่างๆ ที่ใช้เป็นบัญชีม้า 40 เล่ม และพบว่ามีบัญชีเงินฝากของ น.ส.อรอนงค์ ผู้ต้องหาจำนวน 2 บัญชี ในห้วงที่ผ่านมามีเงินหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 23 เครื่อง ซิมการ์ดมือถือ 31 อัน บัตร ATM ธนาคาร 20 ใบ แท็บแล็ต 5 เครื่อง รายการบัญชีธนาคาร (Statement) จำนวนมาก เสื้อผ้าตรงตามภาพที่ปรากฏหน้าตู้ ATM (CCTV) ขณะกดถอนงิน ซองกระดาษพัสดุน้ำตาลใส่ซิมการ์ด 14 อัน กล่องไปรษณีย์ 5 กล่อง และบัญชีรายชื่อบัญชีม้าเป็นจำนวนมาก
ร.ต.อ.ทินวุฒิ เผยอีกว่า ในส่วน นายอิเกดิ ชาวไนจีเรีย หัวหน้าขบวนการ ทราบว่าเดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อปี 59 ใช้วีซ่าประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าโบรกเกอร์บังหน้า นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมยังมีผู้ร่วมขบวนการอีกเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งดีเอสไอจะได้ทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ร่วมกระทำผิดและบูรณาการร่วมกับสำนักงาน ปปง. ในการสืบสวนเส้นทางการเงินและติดตามยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของกลุ่มขบวนการดังกล่าว
"ดีเอสไอ ขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่า การเปิดบัญชีม้าเพื่อให้คนร้ายไปกระทำความผิด ท่านอาจตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ ทุกวัน จะปฏิเสธว่าไม่ทราบข่าวสารไม่ได้" ร.ต.อ.ทินวุฒิ กล่าว