xs
xsm
sm
md
lg

คุมประพฤติ จับมือภาคีสร้างอาชีพ “ปั้นเชฟมือทอง-ช่างตัดผมเสริมสวย” มอบโอกาสผู้ก้าวพลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รมว.ยุติธรรม ร่วมงาน "คุมประพฤติ MOU สมาคมช่างผมเสริมสวย-สมาคมเดอะเชฟ" พัฒนาทักษะอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ก้าวพลาดมีงานที่มั่นคง

วันนี้ (26 ก.ย.) ณ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติ โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อม นายอดิศร เชื้อคำเพ็ง นายกสมาคมช่างผมเสริมสวยแห่งประเทศไทย และ นายทองเลี่ยม พุกทอง นายกสมาคมเดอะเชฟประเทศไทย ร่วมลงนามความตกลง ระหว่าง กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กับสมาคมช่างผมเสริมสวยแห่งประเทศไทย และสมาคมเดอะเชพประเทศไทย

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ผู้อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติจะได้รับโอกาสทางด้านการประกอบอาชีพ และเพื่อให้บุคคลเหล่านี้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ตลอดจนไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก นโยบายสำคัญ คือ กรมคุมประพฤติเร่งหาแนวทางวิธีการหรือกิจกรรมในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาทักษะโอกาสทางอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต กลับตัวกลับใจในการทำความดี ได้มีอาชีพที่มั่นคง

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ 3 ด้านสำคัญ คือ 1. เพื่อสนับสนุนการ
ฝึกทักษะวิชาชีพ ช่างทำผมสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีและวิชาชีพการประกอบอาหาร ให้แก่ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติ ให้มีอาชีพที่สุจริต มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว 2. เพื่อส่งเสริมพัฒนาทางอาชีพช่างทำผมสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี อาชีพการประกอบอาหารและขายอาหารให้เป็นอาชีพทางเลือกในการสร้างโอกาส และ 3.ความเสมอภาคทางสังคมและบูรณาการภารกิจร่วมกันในการสร้างงานสร้างอาชีพระหว่างสมาคมช่างผมเสริมสวยแห่งประเทศไทยและสมาคมเดอะเชฟประเทศไทยกับกรมคุมประพฤติ

นอกจากนี้ กรมคุมประพฤติได้นำเสนอผลงานในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งนับเป็นผลงานในด้านการพัฒนาพฤตินิสัยที่โดดเด่น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหายาเสพติดในมิติของการป้องกันและแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การบูรณาการคัดกรองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด ภายใต้โครงการ DRIP MODEL สามารถเสนอศาลเพิ่มเงื่อนไขให้เข้ารับการบำบัดรักษา จูงใจให้เข้ารับการบำบัดรักษา และติดตามหลังออกจากค่ายทุก 5 วัน จำนวน 18 ครั้ง , พัฒนากระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดแบบครบวงจรในรูปแบบค่าย 5 วัน 15 วัน และ 60 วัน ผลเป็นที่ประจักษ์สามารถลดการเสพซ้ำได้ต่ำกว่าสถิติสากลกว่าครึ่งหนึ่ง

นำเสนอปัจจัยความสำเร็จรวมถึงกลยุทธ์ในกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด อาทิ ทุกค่ายต้องไม่ม่วง เตรียมคนจัด คัดคนเข้า การติดตามหลังออกจากค่ายโดยอาสาสมัครคุมประพฤติ เพื่อนำมาปรับใช้ในค่ายที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 , การมีส่วนร่วมของ “อาสาสมัครคุมประพฤติ” ในการติดตามป้องกันการเสพซ้ำ ช่วยจูงใจไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการรับรายงานตัวผ่านจอภาพ โดยมีการสรรหาและแต่งตั้งอาสาสมัครคุมประพฤติที่เป็นกลุ่มผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อช่วยเหลืองาน วางเป้าหมายให้ได้ 75,322 ราย ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน

และที่นับเป็นก้าวสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เตรียมดำเนินการอันจะเป็นการนำความยุติธรรมเข้าถึงประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำ คือ “การรับรายงานตัวผ่านจอภาพ” กับผู้ถูกคุมความประพฤติทุกฐานความผิด ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ห่างไกลจากสำนักงานคุมประพฤติ การเดินทางลำบาก เช่น เกิดอุทกภัยในพื้นที่ ไม่สามารถลางานเพื่อมารายงานตัว ณ ที่ตั้งสำนักงานคุมประพฤติได้ ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เกิดความสะดวกลดเวลาการเดินทาง และที่สำคัญเป็นการเพิ่มช่องทางการรับรายงานตัว ช่วยให้ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติได้รับการแก้ไขฟื้นฟูรายบุคคลกับพนักงานคุมประพฤติ เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้กระทำผิดและนำไปสู่การผิดเงื่อนไขที่ลดลง




กำลังโหลดความคิดเห็น