30 กันยายน นี้ จะเป็นวันสุดท้ายในการทำงานของ "บิ๊กต่อ" พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)
แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งแม่ทัพสีกากีคนใหม่ ขึ้นมารับไม้ต่อ ทั้งที่โดยปกติหากในปีใดที่ผบ.ตร.เกษียณอายุราชการ ภายในเดือนกรกฎาคมก็จะรู้ตัวผบ.ตร.คนใหม่แล้ว เพื่อเตรียมจัดโผนายพลสีกากีที่ต้องแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม เช่นเดียวกัน
แต่ทว่าการแต่งตั้งทั้ง 2 ระดับ ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้หลายคนจึงเกิดข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับองค์กรสีกากี?
อย่างที่ทราบกันดีว่าพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งถือเป็นกฎหมายตำรวจฉบับใหม่ล่าสุด มีผลบังคับใช้ ซึ่งตามกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ต้องมีกฎ.ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อใช้ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) และจเรตำรวจแห่งชาติ(จตช.) ลงไป
และแม้ว่ากฎ.ก.ตร.ที่ว่านี้ จะร่างแล้วเสร็จ และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 แต่มีเงื่อนไขว่าให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ดังนั้นกระบวนการแต่งตั้งตำรวจตั้งแต่ระดับรอง ผบ.ตร.และจตช.ลงไป จะเริ่มต้นวันที่ 3 ตุลาคม นี้ เป็นต้นไป
นอกจากนี้แม้กฎก.ตร.ฉบับนี้จะใช้ในการแต่งตั้งระดับรองผบ.ตร.และจตช. ลงไปถึงผู้บังคับหมู่ แต่มีข้อบังคับบางข้อ ที่ใช้ในการพิจารณาแต่งตั้งผบ.ตร.ด้วย นั่น คือ เรื่องระยะเวลาในการแต่งตั้งตามข้อ 7. อนุ 1 (ก) และการนับอาวุโสตามข้อ 9 ฉะนั้นการคัดเลือกแต่งตั้งผบ.ตร.คนที่ 15 จึงต้องล่าช้าออกไป
ย้อนกลับมาที่การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 77 ระบุว่า "ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ"
ขณะที่มาตรา 78 ระบุว่า "ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 71 (1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน" โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ข้างต้นมีผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการเสนอชื่อเพียง 3 ราย ไล่เรียงตามอาวุโส ดังนี้
1.พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 41 เกษียณอายุราชการในปี 2569
2.พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จตช. นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 39 เกษียณอายุราชการ ในปี 2568
3.พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. นักเรียนนายร้อยตำรวจ 42 เกษียณอายุราชการในปี 2569
***สำหรับประวัติ 3 แคนดิเดต***
พล.ต.อ.กิตติรัฐ ชื่อเล่น "ต่าย" เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2508 จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ราชบุรี เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 รุ่นเดียวกับร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 41 รุ่นเดียวกับ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร.
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เริ่มต้นรับราชการตำรวจ ในตำแหน่ง รองสารวัตรสอบสวน สภ.อ.เมืองระยอง และค่อยๆ เติบโตในหน้าที่การงาน โดยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้กำกับการ 6และ8 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ ผู้กำกับการ 3 ตำรวจท่องเที่ยว ก่อนขยับเป็นรองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ก้าวติดยศ พล.ต.ต.ในตำแหน่งเลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนโยกเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 1 ขยับขึ้นรองจเรตำรวจ (สบ7) ก่อนโยกเป็น รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล จากนั้นขยับติดยศ พล.ต.ท.ในตำแหน่ง ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ก่อนโยกเป็น ผบช.ภ.8 จากนั้นขยับขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร. และขยับติดยศพล.ต.อ.ครั้งแรก ในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบงานบริหาร ควบตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ปัจจุบัน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปทส.ตร.) และศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.)
นอกจากนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เคยเป็นนายเวร พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้ สมัยดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. และเป็นหัวหน้าสำนักงานของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข สมัยดำรงตำแหน่งผบ.ตร. นอกจากนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยังขึ้นมารักษาราชการแทนตำแหน่ง ผบ.ตร. ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี หลังพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ถูกย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เป็นคนอัธยาศัยดี เป็นที่รักของเพื่อนร่วมรุ่นและผู้ใต้บังคับบัญชา เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังก้าวขึ้นมารักษาราชการแทนผบ.ตร. สามารถทำงานตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จนได้รับคำชมจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ขณะที่พล.ต.อ.ไกรบุญ ชื่อเล่น "บึก" เกิดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2507 เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 23 นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 39 รุ่นเดียวกับพล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน รอง ผบ.ตร. ด้านมั่นคงและกิจการพิเศษ
เริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่ง ผู้บังคับหมวดกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้ช่วยนายเวร รองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ กองแผนงาน1 ผู้กำกับการ สังกัดกองบังคับการอำนวยการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง รองผู้บังคับการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. รองผู้บังคับการกองทะเบียนพล ขยับติดยศพล.ต.ต.ในตำแหน่ง ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม ก่อนขยับเป็นรองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ขยับติดยศพล.ต.ท.ในตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ จากนั้นขยับขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร. และจตช. ตามลำดับ นอกจากนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง และศูนย์บังคับและต่อต้านอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (โดรน)
พล.ต.อ.ไกรบุญ มีบุคลิกดุ จึงเป็นที่ยำเกรงของผู้ใต้บังคับบัญชา ขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยปรากฏตัวออกสื่อมากนัก ล่าสุดออกมาให้ข่าวและเร่งรัดคดีเรือบรรทุกน้ำมันเถื่อน จำนวน 3 ลำซึ่งเป็นของกลางในคดีสูญหายไปจากท่าเรือ ใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จนสามารถติดตามเรือของกลางกลับมาได้ รวมทั้งออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมดในคดีนี้
ส่วนพล.ต.อ.ธนา ชื่อเล่น "นา" เกิดวันที่ 22 ตุลาคม 2508 เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 26 นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 42
รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สภ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ก่อนย้ายเป็นรองสารวัตรปราบปราม สภ.เมืองสมุทรปราการ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้กำกับการ สภ.เมืองสมุทรปราการ ขยับขึ้นรองผู้บังคับการในตำแหน่งนายเวร พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ขณะดำรงตำแหน่งผบ.ตร. ก่อนโยกเป็นรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค1 และรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ ติดยศพล.ต.ต.ครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับการกองสารนิเทศ ก่อนโยกเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก จากนั้นขยับเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ขยับติดยศพล.ต.ท.ในตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค7 ก่อนเลื่อนเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. และ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน ควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.ธนา แม้จะเป็นคนอัธยาศัยดี แต่มีบุคลิกเก็บตัวไม่ค่อยชอบปรากฏตัวออกสื่อ เริ่มเป็นที่รู้จักหลังเข้ามารับผิดชอบคดีเครือข่ายเว็บพนันบีเอ็นเค ที่มีพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. กับพวกเป็นผู้ต้องหา และถูกพ.ต.อ.เขมรินทร์ พิศมัย หนึ่งในผู้ต้องหายื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง แต่ต่อมาศาลได้พิพากษายกฟ้อง
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาคุณสมบัติเรื่องความอาวุโส พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้เปรียบแคนดิเดตอีกสองราย เพราะครองตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ถึง 2 ปี ขณะที่พล.ต.อ.ไกรบุญ และพล.ต.อ.ธนา เพิ่งดำรงตำแหน่งได้เพียงปีเดียวเท่านั้น
ส่วนเรื่องความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม พิจารณาจากประวัติการรับราชการจะเห็นได้ว่าพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ และพล.ต.อ.ธนา ก็มีความโดดเด่นกว่าพล.ต.อ.ไกรบุญ ที่ส่วนใหญ่เติบโตมาจากสายงานอำนวยการ
แต่การคัดเลือกผบ.ตร.มักมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องเสมอ โดยเฉพาะแรงหนุนจากผู้มีอำนาจในบ้านเมือง รวมทั้งในบางครั้งโชควาสนาก็มีส่วนช่วยผลักดัน ฉะนั้นการพลิกแฟ้มส่องโปรไฟล์เพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถการันตีได้ว่าใครที่จะก้าวขึ้นมาครองเก้าอี้ "พิทักษ์1" ณ วินาที คงมีเพียงน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนเดียวเท่านั้นที่จะเป็นผู้ให้คำตอบสุดท้าย ส่วนจะเป็นใครต้องติดตาม