xs
xsm
sm
md
lg

ก.ร.ตร. เรียกสอบ “รองฟาง” ปมเอี่ยวส่วย 18 ธุรกิจ-เว็บพนัน หากไม่มาอาจถูกออกจากราชการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ก.ร.ตร. เรียก พ.ต.ท.สุรกุล หรือรองฟาง เข้าให้ข้อมูลคดีเส้นทางการเงินพัวพันส่วย 18 ธุรกิจ และเอี่ยวเว็บพนันออนไลน์ เผยหากไม่ให้ถ้อยคำกับคณะกรรมการ อาจถูกพิจารณาไล่ออกจากราชการไว้ก่อน



วันนี้ (19 ก.ย.) ที่สำนักงานจเรตำรวจ พล.ต.ท.สรศักดิ์ เย็นเปรม ประธานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีต ผบช.ปส.และคณะกรรมการ ก.ร.ตร. กล่าวถึงกรณีการเรียก พ.ต.ท.สุรกุล ธัญสิริดำรง หรือ รองฟาง รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.2 เข้ามาให้ปากคำต่อคณะกรรมการ ก.ร.ตร. หลัง ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ยื่นเรื่องร้องเรียนว่ามีเส้นทางการเงินพัวพันส่วย 18 ธุรกิจ และเอี่ยวเว็บพนันออนไลน์

พล.ต.ท.สรศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้มีการเชิญผู้ที่ถูกร้องเรียนอีก 1 คนเข้ามาให้ข้อมูลในสำนวนดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบยืนยันว่าจะมาตามนัดหมายหรือไม่ หากมาก็จะมีการไต่สวน ขอยืนยันว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ จะทำเรื่องนี้อย่างสุดความสามารถ เพื่อความเป็นธรรม

สำหรับกระบวนการในการทำงาน ในกรณีนี้พยานบุคคลหรือพยานเอกสาร ค่อนข้างมีจำนวนมาก แล้วต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถร่วมกันวินิจฉัย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารการไต่สวน รวมถึงติดต่อไปยัง บุคคลที่ถูกกล่าวหา ว่าติดขัดประการใดหรือไม่ แต่เบื้องต้นมีการชี้แจงเป็นเอกสาร และไม่มีการยืนยันว่าจะไม่มาพบคณะกรรมการ

แต่หากไม่มาวันนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องเชิญครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นกระบวนการที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้น ว่ากรณีดังกล่าวมีมูลหรือไม่ ทั้งนี้ก็อยู่ที่มติของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจว่าจะมีมติว่าอย่างไรต่อไป

ขณะที่ พล.ต.ท.เรวัช เปิดเผยว่า ข้าราชการที่ถูกร้องเรียนรายนี้ถือเป็นคนสำคัญของขบวนการ ถ้าไม่มาให้ถ้อยคำกับคณะกรรมการ ก.ร.ตร. ในวันนี้ ถือว่าเป็นผลเสียกับตัวผู้ถูกร้องเรียนเอง เพราะคณะกรรมการจะพิจารณาโทษได้ง่ายขึ้น อาจจะมีการพิจารณาไล่ออกจากราชการไว้ก่อนเลยก็ได้ เพราะถือว่าเป็นอุปสรรคในการไต่สวน

ส่วนกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำงานสองมาตรฐานระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล นั้น พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า เป็นการทำงานคนละส่วนกัน ในกรณีของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงและให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งถือเป็นการลงโทษกันเอง

แต่กรณีของ พล.ต.อ.ต่อศักดินั้นเป็นระบบไต่สวนที่มีกระบวนการ ซึ่งคณะกรรมมีมติเป็นเอกฉันท์แล้วว่าจะรับพิจารณาไต่สวน โดยต้องตั้งผู้ช่วยไต่สวน ซึ่งต้องส่งหนังสือทางผู้ถูกร้องเรียนด้วยว่าจะคัดค้านผู้ช่วยไต่สวนคนนี้ว่าเป็นอริหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกันหรือไม่ โดยใช้ระยะเวลากรอบ 30 วัน ทำให้ล่าช้ากว่าจะได้ผู้ช่วยไต่สวน ยืนยันว่า หลังจากนี้จะเร่งการพิจารณาให้เร็วที่สุด แต่ก็เชื่อว่าคงไม่ทันเดือนกันยายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น