สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ จัดการฝึกซ้อมการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล รับมือเหตุภัยพิบัติ ประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
วันนี้ (5 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจหลักฐานตำรวจ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกซ้อมการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเพื่อรับมือเหตุภัยพิบัติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ ลานสรัลนุช สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สพฐ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.ดิเรก ธนานนท์นิวาส ที่ปรึกษา(สบ 8) สพฐ.ตร. , พล.ต.ต.วิสูตร นาคจู รอง ผบช.สพฐ.ตร. , พล.ต.ต.ทนงค์ ทองประดับเพชร ที่ปรึกษา(สบ 7) สพฐ.ตร., พล.ต.ต.ไกรวิน วัฒนสิน ผบก.อก.สพฐ.ตร., พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผบก.พฐก., พล.ต.ต.หญิง วิรญา พรหมายน ผบก.ทว. และ พล.ต.ต.กัลป์ ทังสุพานิช ผบก.สฝจ. ร่วมพิธีเปิดโครงการ
ผบช.สพฐ.ตร. เปิดเผยว่า ปัจจุบันภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อันส่งผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของผู้คน และภาวะทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การฝึกซ้อมการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเพื่อรับมือเหตุภัยพิบัติ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเสริมสร้างประสบการณ์ ทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ รวมถึงเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ และประสานการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล และเป็นไปตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2567 และระเบียบคำสั่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โครงการฝึกซ้อมการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเพื่อรับมือเหตุภัยพิบัติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จัดขึ้นตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2567 ซึ่งได้แบ่งชุดปฏิบัติงานออกเป็นทีม A-D ซึ่ง สพฐ.ตร. เป็นชุดปฏิบัติการตรวจพิสูจน์ (ทีม D) รับผิดชอบในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในสำนวนการสอบสวน การทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์เพื่อยืนยันตัวบุคคล และส่งกลับคืนศพให้กับญาติผู้เสียชีวิต โดยการการฝึกซ้อมตามโครงการดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ ความคุ้นเคยกับขั้นตอน และวิธีการปฏิบัติในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนทบทวนบทเรียน ปัญหาอุปสรรค และพัฒนาแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบูรณาการทรัพยากรและเครื่องมือที่มีอยู่ให้สามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถปฏิบัติงานและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล