xs
xsm
sm
md
lg

นายกสภาทนาย เผยยื่นฟ้องบริษัทเอกชนนำเข้า "ปลาหมอคางดำ" เรียกค่าเสียหาย เฉียด 2,500 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ชาวประมง จ.สมุทรสงครามพร้อมทนายความ มายื่นฟ้อง
นายกสภาทนาย เผยยื่นฟ้องบริษัทเอกชนนำเข้า "ปลาหมอคางดำ" ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เรียกค่าเสียหายให้กับชาวบ้านจ.สมุทรสงคราม เฉียด 2,500 ล้าน



วันนี้ (5 ก.ย.) นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คณะทำงานให้ความช่วยเหลือ กรณีปลาหมอคางดำแพร่ระบาด นำนายปัญญา โตกทอง กับพวกรวม 10 คน เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและตัวแทนประมงพื้นบ้านในเขตอำเภออัมพวา อำเภอบางคนที และอำเภอเมือง จ.สมุทรสงคราม จำนวนกว่า 1,400 คน ยื่นฟ้องบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง กับกรรมการบริหารรวม 9 คน ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีสิ่งแวดล้อมและขออนุญาตฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงมีคำขอบังคับให้บริษัทฯ แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”


สืบเนื่องจากการที่บริษัทฯ เป็นผู้ขออนุญาตและนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นจากประเทศกานาคือ ปลาหมอคางดำ (Sarotherodonmelanotheron) ซึ่งเป็นสัตว์น้ำอันตรายต่อระบบนิเวศน์และสัตว์น้ำท้องถิ่น เข้ามาทดลองพัฒนาสายพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบริษัทฯที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์น้ำอันตราย ทำให้เกิดการหลุดรอดของปลาหมอคางดำ (Sarotherodonmelanotheron) จากแหล่งเพาะเลี้ยงออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ แพร่พันธุ์และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเกิดการแพร่ระบาดเข้าสู่บ่อเพาะเลี้ยงของชาวประมงและกระจายไปหลายจังหวัดของประเทศ ขอบเขตและลักษณะเฉพาะของกลุ่มในการฟ้องคดี คือ เป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและ/หรือประมงพื้นบ้านโดยมีภูมิลำนักอาศัยและทำมาหากินอยู่ในเขตพื้นที่อำเภออัมพวา อำเภอบางคนที และอำเภอเมือง จ.สมุทรสงคราม และได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ (Sarotherodonmelanotheron)
จำนวนค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเรียกร้อง
คือ กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงในอัตราไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ์การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีจำนวนสมาชิกกว่า1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 1,982,000,000 บาท

อีกกลุ่ม คือ ประมงพื้นบ้าน เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนวันในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีจำนวนสมาชิกกว่า 380 ราย ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 19,000,000 บาท

รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและกลุ่มประมงพื้นบ้านในเขตจังหวัดสมุทรสงครามเรียกร้องเป็นเงินกว่า 2,486,450,000 บาท

ทั้งนี้เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ สว 1/2567 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้

ภายหลังมีการยื่นฟ้องบริษัทเอกชนแล้ว ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดี สภาทนายความ กล่าวว่า ศาลนัดไต่สวนคำร้องอีกครั้งหนึ่งคือวันที่ 4 พ.ย. เวลา 09.00 น.วันนี้ได้รับไต่สวนคำร้องฟ้องคดีแบบกลุ่ม ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยจะสามารถยื่นคัดค้านคำร้องเข้ามาได้ และในการไต่สวนคำร้องคดีแบบกลุ่มนั้น เราจะต้องแสดงให้เห็นว่า สมาชิกกลุ่ม มีขอบเขตอย่างไรให้ชัดเจนในกรณีที่จะ เลือกใช้ขอบเขต ของจังหวัดแต่ละจังหวัด โดยจะใช้จ.สมุทรสงครามเป็นขอบเขตในจังหวัดแรก และใช้อาชีพของชาวประมง ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยง โดยในจ.สมุทรสงครามมีสมาชิก ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยงทั้งสิ้น 1,400 คน และเวลาในการไต่สวนจะต้องทำให้เห็นว่าสมาชิกแต่ละคนมีความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

เมื่อถามถึงแนวทางการต่อสู้คดี ว่าที่ร้อยตรีสมชาย เปิดเผยว่า เรามีหลักฐานที่ค่อนข้างมั่นใจว่าสามารถที่จะ เอาผิดผู้ประกอบการ และมีหลักฐานที่บอกว่าใครเป็นผู้นำเข้ามาและเพาะเลี้ยงเป็นที่แรก ทั้งยังมีความเชื่อมโยง จากกรณีที่ก่อนหน้าประเทศไทยไม่เคยมีปลาหมอคางดำมาก่อน ซึ่งเป็นเอกสารทางราชการ โดยในเบื้องต้นตนมั่นใจ ว่าหลักฐานเหล่านี้สามารถพิสูจน์คดีความรับผิดทางแพ่งได้

ส่วนของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนว่าที่ร้อยตรีสมชาย เปิดเผยว่า เราจะเรียกร้องค่าสินไหม ในส่วนที่ประชาชน ค้างขาดรายได้ของกลุ่มพี่น้องชาวประมงซึ่งเดิมก่อนมีการแพร่ระบาดสามารถทำรายได้ได้แต่หลังมีการแพร่ระบาดทำให้รายได้ของพวกเขาลดลง และจะมีการฟ้องค่าละเมิดสิทธิ์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพราะชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ จากพื้นที่ของตนแต่ละจุดได้แบบเดิมเนื่องจากมีการระบาดของปลาหมอคางนำ ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศเดิมที่เคยมีอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น