“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 3 กันยายน 2567 ตอน ฝนตก 'ราชบุรี' หนาวถึง 'พิษณุโลก' ส้มแพ้แล้ว แพ้อีก แพ้ต่อ
ความพ่ายแพ้อย่างขาดลอยในสนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรีของพรรคประชาชนที่อวตารมาจากพรรคก้าวไกล ถือว่ามีนัยสำคัญทางการเมืองพอสมควร เพราะเป็นอีกครั้งที่ค่ายการเมืองสีส้มยังไม่สามารถปักธงเพื่อเข้ามาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นได้เลยแม้แต่คนเดียว
การปราชัยที่เกิดขึ้นซ้ำๆที่เกิดขึ้นเริ่มไม่ใช่เรื่องล้อเล่นและจะมองโลกในแง่ดีได้อีกต่อไป เพราะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่พรรคประชาชนหรือแม้แต่คณะก้าวหน้า ต้องปรับแนวทางการทำงานกันใหม่ หากยังเลือกที่จะทำงานการเมืองท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระดับประเทศ
ปัญหาใหญ่ที่ผู้นำค่ายส้มยังแก้ไม่ตก คือ การต่อสู้กับการเมืองระบบบ้านใหญ่ โดยระบบบ้านใหญ่ในการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับประเทศ ล้วนมีมิติที่แตกต่างกัน อีกทั้งรสนิยมในการลงคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นกับส.ส.ของประชาชนก็ไม่เหมือนกันอีก
การเลือกตั้งส.ส.ระดับประเทศนั้นโดยธรรมชาติจะมีกระแสสังคม ณ ช่วงเวลานั้นมาเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงคะแนนของประชาชนด้วย ต่างกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเน้นบริบทการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเชิงพื้นที่เป็นสำคัญ เช่น น้ำไหล ไฟสว่าง ถนนลาดยาง สุขอนามัย เป็นต้น
ดังนั้น การหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคประชาชนที่ยังเน้นในเชิงปรัชญาในทำนองว่าต้องมีการกระจายอำนาจลงท้องถิ่นโดยสมบูรณ์นั้นอาจจะเป็นกระบวนท่าที่ยากเกินไป จนประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง ผิดกับแนวทางของบ้านใหญ่ ' นิติกาญจนา' ที่เน้นการหาเสียงแบบตรงไปตรงมาเข้าใจง่าย และอาศัยความได้เปรียบที่อยู่กับชาวบ้านมานานในพื้นที่มานาน ทำให้ยังสามารถได้ใจประชาชนและรักษาเก้าอี้ไว้ได้
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นของพรรคประชาชนนั้นก็ยังพอมีข้อดีที่มองเห็นอยู่บ้าง คือ การได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปี 2563 พอสมควร แต่มุมหนึ่งคู่แข่งเองคะแนนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น แม่ทัพค่ายส้มต้องมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้รอบด้าน
สนามเลือกตั้งท้องถิ่นจังหวัดราชบุรีที่เพิ่งผ่านไป ผลกระทบในทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะภายในจังหวัดราชบุรีเท่านั้น แต่อาจลามไปถึงสนามเลือกตั้งระดับประเทศอย่างการเลือกตั้งซ่อมส.ส.จังหวัดพิษณุโลก เขต 1 แทนนายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตส.ส.พรรคก้าวไกลที่ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุคดียุบพรรคก้าวไกลด้วยเช่นกัน
โดยสนามนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่าง ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือ โฟล์ค ผู้สมัครจากพรรคประชาชน กับ จเด็ศ จันทรา ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ทั้งสองฝ่ายต่างได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันไป
กล่าวคือ พรรคประชาชนได้เปรียบตรงที่เป็นแชมป์เก่าถึงสองสมัยมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคเพื่อไทย มีข้อได้เปรียบในฐานะเป็นรัฐบาล แน่นอนว่าการหาเสียงในฐานะพรรครัฐบาลย่อมทำได้ง่ายกว่า โดยสามารถบอกได้ว่าถ้าได้รับเลือกเข้าไปแล้วจะช่วยผลักดันนโยบายของรัฐบาลในเรื่องใดบ้าง ผิดกับพรรคประชาชนที่ต้องหาเสียงที่เน้นการนำเสนอจุดยืนในการตรวจสอบรัฐบาลเท่านั้น
ขณะเดียวกัน สถิติเวลาการลงสนามเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาของพรรคส้มตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกลนั้นชนะการเลือกตั้งซ่อมเพียงครั้งเดียว คือ จังหวัดระยอง เขต 3 เพียงสนามเดียวเท่านั้น
ธรรมชาติการเลือกตั้งซ่อมกับการเลือกตั้งใหญ่นั้นต้องยอมรับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องกระแสสังคม ซึ่งตามปกติแล้วการเลือกตั้งใหญ่จะมีกระแสมากกว่าการเลือกตั้งซ่อม อีกทั้งปัจจุบันพรรคประชาชนลงสนามในนามฝ่ายค้านที่ต้องต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาลด้วยแล้ว ยิ่งเป็นโจทย์ยากขึ้นเท่าทวีคูณ
ดังนั้น ความพ่ายแพ้ที่ราชบุรี พรรคประชาชนอาจยักไหล่แล้วไปต่อ เพื่อลงสนามสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งสนามนี้ต่างหากที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพรรคประชาชน
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
**ขอแนะนำ ThaiTimes โซเชียลมีเดียของคนไทย
ไม่ปิดกั้นเนื้อหา - แชร์รูปภาพและวิดีโอ - ติดตามข่าวสารล่าสุด ได้อย่างอิสระ
มีให้ Download ได้แล้วทั้งในระบบ iOS และใน Android
iOS :https://apps.apple.com/th/app/thaitimes-social/id6502225132
Android :https://play.google.com/store/apps/details...
และhttps://thaitimes.co