xs
xsm
sm
md
lg

อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ จี้ ยธ. ทบทวนตัดงบ-ต่อสัญญา "ป้ามล" หวั่นกระทบเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รมว.ยุติธรรม รับเรื่อง เครือข่ายเยาวชนบ้านกาญจนาฯ กรณีตัดงบ-ยุติบทบาท "ป้ามล" หลังทำงานช่วยเหลือเด็กกว่า 20 ปี แจงอยู่ระหว่างประเมินผลงาน

วันนี้ (2 ก.ย.) ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เครือข่ายเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ในนามกลุ่มผู้ถูกเจียระไน ฯลฯ เข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อแสดงจุดยืนและข้อเสนอต่อการให้ยุติบทบาท นางทิชา ณ นคร หรือ "ป้ามล" ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า บ้านกาญจนาภิเษก เปิดมา 20 กว่าปีแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เพราะการกระทำผิดซ้ำน้อยมาก และทันสมัยในรูปแบบพิเศษ ตามมาตรา 55 ไม่ใช่หน่วยงานราชการแต่เป็นสถานที่ฝึกอบรมและศูนย์ฝึกสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งรูปแบบของบ้านกาญจนาภิเษกไม่ได้มีแค่แห่งเดียวแต่อาจจะมีในหลายแห่งในอนาคต ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้กฎหมายจะยังคงมีอยู่ ซึ่งทราบว่ากรมพินิจฯ ได้เสนอกฎกระทรวง ผ่านความเห็นชอบของ ครม. อยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและสร้างคนที่มีคุณภาพออกสู่สังคมได้จริง และที่สำคัญจะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเสียก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนได้เสีย

พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินงานทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นระบบราชการ มีกรอบงบประมาณและการประเมินงานจาก ก.พ.ร. ซึ่งตำแหน่งของนางทิชา เป็นพนักงานราชการ ในตำแหน่งต่างๆ จะมีสัญญาจ้าง และเกณฑ์การประเมิน จะไม่มีอคติใดๆ หรือตั้งธงว่าจะไม่เอาใครอย่างแน่นอน

ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า จากกรณีมีการรายงานข่าวระบุว่า กองทรัพยากรบุคคลกรมพินิจฯ แจ้งว่างบประมาณปี 2568 มีการตัดตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชนออก คือ การยุติบทบาทการทำหน้าที่ของ "ป้ามล" ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และมีข้อกังวลว่าในการดำเนินงานของบ้านกาญจนาฯ จะเข้าสู่ระบบราชการ อำนาจนิยมที่ควบคุมสูงหรือไม่ องค์ความรู้จากการทำงาน 20 ปีที่ผ่านมาจะถูกไปดำเนินการต่อหรือไม่

นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า ในปี 2561 มีงานศึกษาในรูป Focus group ในกลุ่มเยาวชนบ้านกาญจนาฯ ปี 2556-2559 พบเยาวชนทำผิดซ้ำเพียง 6% ต่อมาเมื่อปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) ได้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินโครงการการปรับปรุงภารกิจของภาครัฐ แนวทางการขับเคลื่อนการนำร่องถ่ายโอนงานภาครัฐ (sandbox) โดยบ้านกาญจนาภิเษก อยู่ในนิยามกรณีศึกษาที่ดี เนื่องจากมีนวัตกรรมที่หลากหลายที่ช่วยเจียระไนเยาวชนที่หลงผิดสามารถกลับออกมาเป็นคนดีของสังคม ไม่กระทำผิดซ้ำจนเป็นต้นแบบให้กับหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงาน

"แต่จากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมพินิจฯ สะท้อนวิสัยทัศน์ที่น่าเป็นห่วง นอกจากจะไม่ยึดโยงเป้าหมายร่วมระหว่างภาคราชการกับภาคสังคมที่ทำกันมา ไม่สนับสนุนสานต่อแล้วยังด้อยค่า และอาจหมายถึงการเลี้ยวผิดทางอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้สังคมไทยเสียโอกาสอย่างใหญ่หลวง"

ส่วนทาง นางนลินนาถ ไกรนรา รองอธิบดีกรมพินิจฯ เปิดเผยว่า กรมพินิจฯ มีแนวทางในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเยาวชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งคือรูปแบบของบ้านกาญจนาฯ ยืนยันว่าจะรักษาไว้ไม่สามารถตัดทิ้งได้ ส่วนตำแหน่งของนางทิชาจะเป็นการประเมินตามผลงานปกติ จะไม่มีเรื่องการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็นเรื่องระบบราชการมาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ตามหลักการแล้วพนักงานราชการจะมีกรอบสัญญา 4 ปี ซึ่งเมื่อหมดสัญญาจะมีการ จัดสรรกรอบใหม่ ซึ่งจะต้องมีการประเมินผลการทำงาน ตามหลักเกณฑ์ของ ก.พ.ร. และตำแหน่งของนางทิชา ถูกเสนออยู่ในกรอบพนักงานราชการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายฯ ได้ส่งข้อเรียกร้องถึงกระทรวงยุติธรรมและกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 5 ข้อ คือ 1. ขอให้อธิบดีกรมพินิจศึกษาทบทวนที่มาที่ไป รวมถึงเป้าหมายร่วมเพื่อลดการกระทำซ้ำของเยาวชนที่ศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก 2. ขอให้อธิบดีกรมพินิจฯ คนปัจจุบันชี้แจงต่อสังคมถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานและแนวทางการทำงานใหม่ๆ ของบ้านกาญจนาภิเษก ตามมาตรา 55 พระราชบัญญัติศาลเยาวชนพ.ศ 2553 3. ขอให้อธิบดีคนปัจจุบันเร่งเสนอ ไม่มีการรับรองบ้านกาญจนาฯ เป็นศูนย์ฝึกเอกชน ตามมาตรา 55 4. ขอให้มีการขยายผล หรือสนับสนุนแนวทางการดูแลเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เนื่องจาก มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสามารถ ทำให้เด็กกลับใจไม่กระทำผิดซ้ำอีกสูงถึง 90-95 % และ 5. ขอให้ชี้แจงความชัดเจนว่าระบบ กระบวนการต่างๆของบ้านกาญจนา ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเด็กและเยาวชนที่ทำผิดได้จริงจะยังคงอยู่อย่างมีหลักประกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น