MGR Online - โฆษกศุลกากร เผย เจ้าหน้าที่ตรวจยึดไอซ์ 5.6 กก. เคตามีน 1.3 กก. ลักลอบซ่อนในกล่องพัสดุต้องสงสัย มูลค่ากว่า 14.74 ล้านบาท
วันนี้ (28 ส.ค.) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดำเนินการตรวจสอบใบขนสินค้าเร่งด่วนขาออกที่มีความเสี่ยงมีสิ่งผิดกฎหมาย ระบุปลายทางประเทศออสเตรเลีย สำแดงชนิดสินค้าเป็น ENCLOSURE น้ำหนัก 21 กิโลกรัม จากการตรวจสอบพบ DIGITAL ULTRASONIC CLEANER ซึ่งจากภาพ X-ray และการตรวจสอบทางกายภาพของสินค้า ต้องสงสัยว่ามีสิ่งของซุกซ่อนอยู่ภายใน จึงได้ประสานกองสืบสวนและปราบปราม และชุดปฏิบัติการ AITF เพื่อดำเนินการตรวจสอบร่วมกันโดยละเอียด พบห่อฟอยล์ซึ่งห่อทับถุงชาเขียวจำนวน 6 ห่อ ซุกซ่อนอยู่ภายใน โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเปิดตรวจ พบก้อนเกล็ดใสบรรจุอยู่ภายใน จึงทำการตรวจสอบกับเครื่องทดสอบสารเสพติด (เครื่องรามัน) และชุดทดสอบสารเสพติด
นายพันธ์ทอง เผยว่า ผลปรากฎว่าเป็น เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม ประมาณ 5.6 กิโลกรัม มูลค่า 13.44 ล้านบาท เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงสืบสวนขยายผลเพื่อดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานพยายามลักลอบส่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 244 และ 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
"นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ได้ทำการวิเคราะห์พัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงลักลอบนำเข้ายาเสพติด ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพ พบพัสดุต้องสงสัย 1 หีบห่อ ระบุต้นทางจากประเทศเยอรมนี จึงทำการ X-ray และพบความผิดปกติ จึงร่วมกับ กองสืบสวนและปราบปราม พร้อมชุดปฏิบัติการ AITF และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ทำการตรวจสอบโดยละเอียด เมื่อเปิดกล่องพบอาหารเสริม จำนวน 3 กระปุก ภายในมีผงสีขาวซุกซ่อนอยู่ภายในบรรจุภัณฑ์"
นายพันธ์ทอง เผยอีกว่า หลังจากทดสอบด้วยน้ำยา พบว่า เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เคตามีน (KETAMINE) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 1.307 กิโลกรัม มูลค่า 1.30 ล้านบาท จึงได้ร่วมกันยึดพัสดุดังกล่าวเพื่อส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานนำของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า กรมศุลกากรได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งการนำเข้าส่งออก การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่ายในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค.66 ถึง 27 ส.ค.67) กรมศุลกากร มีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 130 คดี มูลค่ารวม 1,018.47 ล้านบาท