xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส. สรุปผลปราบยาเสพติด 25 จังหวัดนำร่อง สอบผ่าน เว้น “นครศรี” ประชาชนยังไม่พอใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "บิ๊กหลวง" เผย ผลการปราบปรามยาเสพติด ระยะ 3 เดือน 25 จังหวัดนำร่อง บรรลุเป้าหมาย เตรียมขยายสู่ 77 จังหวัด พร้อมล่าเครือข่ายยาข้ามชาติกลุ่มชาติพันธุ์

วันนี้ (27 ส.ค.) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิต อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด ระยะเวลา 3 เดือน (1 มิ.ย. – 31 ส.ค.67) แก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 25 จังหวัดนำร่องฯ ที่ประสบปัญหารุนแรง โดยจะมีการประเมินผลการดำเนินงานตลอด 90 วัน เพื่อรายงานผลต่อนายกรัฐมนตรี

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ในพื้นที่ 25 จังหวัดนำร่อง มีกำหนดตัวชี้วัดหลักที่ 1 (31 ตัวชี้วัดย่อย) อาทิ ความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด การจับกุมรายย่อย สมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือ การตรวจยึดทรัพย์ และตัวชี้วัดหลักที่ 2-4 คือ สถานการณ์ ความเชื่อมั่น และ ความพึงพอใจของประชาชน โดยมี 24 จังหวัดสอบผ่าน จังหวัดที่มีคะแนนสูงสุด คือ ชลบุรี ปัตตานี ขอนแก่น และมี 1 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช พบว่าความพึงพอใจของประชาชนต่อสถานการณ์ยาเสพติด ยังไม่ผ่าน อาจยังกังวลต่อคนคุ้มคลั่งที่ต้องนำไปบำบัดรักษา แต่การจับกุมผู้ค้ารายย่อยทุกจังหวัดนำร่องบรรลุเป้าหมายครอบคลุมทุกด้าน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น ส่วนนายทุนรายใหญ่นั้นจะอยู่ในแหล่งผลิตยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านก่อนลำเลียงผ่านเครือข่ายมาสู่รายย่อยในชุมชน

"ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส. เข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ตึกชินวัตร ทาวเวอร์ ชั้น 33 เพื่อบรรยายสรุปนโยบายด้านยาเสพติดที่ได้ดำเนินการในห้วงที่ผ่านมา และวางแผนการดำเนินงานในห้วงถัดไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในปีงบประมาณ 2568 อาทิ ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด และ อ.ท่าวังผา จ.น่าน พยายามให้เป็นจังหวัดสีขาว ภายใน 30 ก.ย.67 , ยกระดับการปราบปรามให้มีความเด็ดขาด จริงจังยิ่งขึ้น ทั้งผู้ค้ารายใหญ่ รายย่อย และตัวยาเสพติด , เร่งรัดการจ่ายเงินสินบนรางวัลนำจับ ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยเฉพาะทหาร เพื่อสร้างแรงจูงใจการปฏิบัติให้เพิ่มสูงขึ้น , บูรณาการการปฏิบัติและกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยึดทรัพย์คดียาเสพติดให้เพิ่มสูงขึ้น , ทบทวนการปฏิบัติ และประเมินผลการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้กลไก ครส. และ ศปก.ครส. เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งแต่งตั้งใหม่อีกครั้ง , ให้พัฒนาระบบการประมวลผลข้อมูล Dash Board การแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้เสมือนกับการรายงานสถานการณ์ COVID-19 เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานการณ์ การวางแผน และเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจให้กับผู้บริหารระดับสูง และเชื่อมต่อไปสู่ระบบศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) และ ให้ขยายปฏิบัติการเร่งรัดฯ ในพื้นที่ 25 จังหวัด ขยายสู่ 77 จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568"

นอกจากนี้ ได้ออกหมายจับ 6 ราย เครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ เป็นคนไทยที่หลบหนีอยู่ในประเทศ 4 ราย ส่วนคนไทย 1 ราย และ รอง ผบ.กองกำลัง ยศพันเอก กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวมูเซอ ในรัฐฉาน อีก 1 ราย หลบหนีอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดย ป.ป.ส. ตรวจพบทรัพย์สินอยู่ทางภาคเหนือ ในประเทศไทย อาทิ ที่ดิน 14 แปลง อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ ซึ่งต้องใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และ สนธิสัญญา MLAT ช่วยติดตามจับกุม เพราะยังเคลื่อนไหวทางการเงินและการเดินทางไปยังต่างประเทศ แต่กลับตั้งฐานผลิตยาเสพติดทำลายลูกหลานในประเทศไทย และวันที่ 31 ส.ค. ป.ป.ส. เตรียมลงพื้นที่ปฏิบัติการดังกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น