xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : “แพทองธาร” ผวาซ้ำรอย ตัดไฟไม่คืนเก้าอี้ “บิ๊ก รมต.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2567 ตอน “แพทองธาร” ผวาซ้ำรอย ตัดไฟไม่คืนเก้าอี้ “บิ๊ก รมต.”



คดีถุงขนมของ 'พิชิต ชื่นบาน' เมื่อครั้งเป็นทนายความให้กับ 'ทักษิณ ชินวัตร' ที่เจ้าตัวก็ได้รับโทษตามคำสั่งศาลฎีกาไปแล้วตั้งแต่ปี 2551 ผ่านอีกร่วม 16 ปีใครจะไปคิดว่าผลของคดีความในครั้งนั้นจะยังมีผลมาถึงปัจจุบัน ถึงขนาดที่ทำให้ 'เศรษฐา ทวีสิน' ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญ ไม่เพียงแต่ทำให้เศรษฐากระเด็นออกจากทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น ปรากฏว่าแม้จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีชื่อ 'แพทองธาร ชินวัตร' แต่การฟอร์มคณะรัฐมนตรีเที่ยวนี้ไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะดูเหมือนว่านายกฯ หญิงก็เกรงจะมีชะตากรรมซ้ำรอยญาติผู้ใหญ่เช่นกัน

“ยืนยันครั้งนี้ต้องดูเรื่องคุณสมบัติเป็นพิเศษ เพราะไม่อยากให้มีอะไรที่ต้องมาผิดพลาด และไม่อยากให้ต้องใช้เวลานานด้วย เพราะฉะนั้นจะรีบทำเรื่องของคณะรัฐมนตรีให้เสร็จ และส่งไปตรวจสอบคุณสมบัติ เพราะทุกคนก็แนะนำมาว่าตรวจสอบคุณสมบัติรอบนี้จะนานขึ้น เนื่องจากทุกคนเป็นห่วงเรื่องนี้” นายกฯ ระบุ

ด้วยความหวาดผวานี่เองทำให้เริ่มมีข่าวออกมาว่ารัฐมนตรีที่มีหรือเคยมีตำหนิในแง่ของคดีความติดตัวอาจไม่ได้ไปต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ในตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ ที่เล็งในตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม

ในมุมหนึ่งหลายคนผ่านการเป็นรัฐมนตรีแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะที่ผ่านมาก็ทำงานในฝ่ายบริหารได้เป็นอย่างดีโดยไม่มีการร้องเรียน แต่เมื่อเกิดคดีบรรทัดฐานจากกรณีของอดีตนายกฯ เศรษฐาขึ้นมาทำให้หลายฝ่ายแม้แต่นายกฯ เองก็ยอมรับถึงข้อกังวลนี้ไม่น้อย ซึ่งประเด็นนี้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ได้ไปต่อก็น่าจะพอเข้าใจกันได้

ข้อห่วงกังวลในประเด็นข้อกฎหมายของเรื่องนี้อยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางหลักการที่ว่าด้วยการรู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ต่างๆ ของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมองว่าไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด คนที่เป็นนายกฯ จะอ้างถึงความไม่รู้ไม่ได้

ไล่เรียงดูคดีความของบรรดารัฐมนตรีที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอชื่อมาที่มีสิทธิไม่ได้ไปต่อนั้นจะพบว่ามีความหนักเบาแตกต่างกัน

อย่างกรณี ร้อยเอก ธรรมนัส แม้ศาลรัฐธรรมนูญของไทยจะเคยมีความเห็นว่าการที่เคยต้องโทษติดคุกในศาลต่างประเทศ ไม่ได้มีผลต่อคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี แต่ใครจะกล้ารับประกันว่าเรื่องนี้จะไม่กลายมาเป็นเรื่องใหญ่อีก

หรือ กรณีของนายสันติ เริ่มมีการออกมาเปิดเผยและโชว์เอกสารกันแล้วว่าในอดีตเคยทำผิดกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยรามคำแหง จนถูกคัดชื่อออกมาแล้ว ส่วนนายชาดาเองก็มีคดีความพอสมควรเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับ 'เอกนัฎ' มีคดีที่เกี่ยวข้องกับเมื่อครั้งมีการชุมนุมในนาม กปปส.เช่นกัน

อีกด้านหนึ่งถ้า 'แพทองธาร' จะเสนอชื่อกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อรักษามารยาททางการเมือง ก็พอมีทางแก้อยู่บ้างผ่านการทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะต้องถามให้ละเอียดมากที่สุด ให้ได้คำตอบในทุกแง่มุมเพื่อป้องกันความผิดพลาด

เพียงแต่ที่ผ่านมาการให้ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเอง มักจะมีเงื่อนไขแนบท้ายเสมอ โดยเฉพาะการระบุว่าความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้เป็นที่สุด

ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงเช่นกัน เพราะนายกฯ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าคำตอบที่ได้กลับมาจะทำให้ตัวเองปลอดภัย

สถานการณ์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน เหลือ 'แพทองธาร' เป็นไพ่ใบสุดท้ายในมือแล้ว แม้จะมี 'ชัยเกษม นิติสิริ' อีกคน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ

ดังนั้น ในภาวะที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ แต่ขยับตัวได้ลำบาก การเน้นความปลอดภัยไว้ก่อน น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอำนาจนอกระบบเข้ามาจัดระเบียบการเมืองอีก

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น