xs
xsm
sm
md
lg

สถาปนา 25 ปี ปปง. ดำเนินการกับทรัพย์สินในรอบปี มูลค่ากว่า 25,631 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - เลขาธิการ ปปง. ยกระดับมุ่งมั่นพัฒนาป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน ตัดท่อน้ำเลี้ยงกลุ่มก่อการร้าย สกัดกั้นวรจรอาชญากรรมบัญชีม้าเกือบ 500,000 บัญชี

วันนี้ (19 ส.ค.) ณ แมนดาริน แกรนด์ บอลรูม โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จัดงานครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา 25 ปี สำนักงาน ปปง. โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน คณะผู้บริหารและข้าราชการสำนักงาน ปปง. เข้าร่วมงานฯ

นายเทพสุ กล่าวว่า ในปีที่ 25 นี้สำนักงาน ปปง. ได้ยกระดับการขับเคลื่อนภารกิจงานโดยใช้กระบวนการบริหารงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ที่เชื่อมโยงและส่งต่อกันอย่างเป็นระบบในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการฟอกเงินที่เปรียบเสมือนภัยร้าย กัดกร่อนทำลายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และปัญหาบัญชีม้าที่ปัจจุบันสร้างความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนในวงกว้าง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายแรง รวมทั้งยกระดับการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT ด้วย

โดยมีผลการดำเนินงานสำคัญดังนี้ 1. การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินมูลค่ากว่า 25,631 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ต.ค.66 – ก.ค.67) สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มูลค่ากว่า 25,631 ล้านบาท จำแนกได้ (1) ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดกว่า 7,878 ล้านบาท (2) ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินกว่า 9,067 ล้านบาท (3) ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานรวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 5,288 ล้านบาท และ (4) ส่งทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินไปยังกระทรวงการคลัง รวมมูลค่ากว่า 3,398 ล้านบาท

ผลงานที่เป็นรายคดีสำคัญ เช่น รายคดีฉ้อโกงประชาชนหลอกลงทุนเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 597 ล้านบาท) , รายคดีหุ้น STARK (ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่าทั้งสิ้น ประมาณ 3,245 ล้านบาท) , รายคดี อั้ม PSV 
กับพวก (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 747 ล้านบาท) , รายคดีกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ กับพวก (กรณีปฏิบัติการ SAHELL GAME) (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 10 ล้านบาท) , รายคดีกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมไฮบริดสแกมข้ามชาติ (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 80 ล้านบาท) , รายคดี ห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานีหลักสี่ กับพวก (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 136 ล้านบาท) , รายคดี แก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ กับพวก (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 1,017 ล้านบาท) เป็นต้น

และในปีนี้สำนักงาน ปปง. สามารถติดตามเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดยาเสพติดกลับคืนมาจากสวิสเซอร์แลนด์เป็นเงินกว่า 76 ล้านบาท  ซึ่งนับเป็นคดีแรกของไทยที่ยึดและอายัดทรัพย์ในต่างประเทศโดยใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และได้เงินกลับคืนมาสู่ประเทศไทยได้สำเร็จตามกระบวนการ Asset Recovery

2. ดำเนินมาตรการตัดท่อน้ำเลี้ยงทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 6 (UN Sanction List) จำนวน 345 รายชื่อ รายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 7 (Thailand Sanction List) จำนวน 49 ราย อันเป็นการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 เพื่อตัดเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยยังคงมุ่งมั่นดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทั้งมาตรทางแพ่งและทางอาญาอย่างต่อเนื่องเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศชาติและประชาชน

3. การประกาศรายชื่อบุคคลเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังเพื่อจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาบัญชีม้าและอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. ได้ประกาศรายชื่อบุคคลเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังเพื่อจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 52,269 รายชื่อ ส่งผลให้สามารถจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบัญชีที่เกี่ยวข้อง 484,856 บัญชีสามารถป้องกันการนำบัญชีดังกล่าวไปใช้หลอกลวงหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนต่อไป ปัจจุบันมีเงินคงเหลือในบัญชีที่ถูกจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งสิ้น 1,307,977,981.22 บาท

4. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน และรองรับมาตรฐานสากล โดยดำเนินการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจนนำมาสู่การออกกฎกระทรวงการคืนหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ. 2567 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การนำเงินหรือทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้แก่ผู้เสียหายให้มีความชัดเจน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

นอกจากนี้ เพื่อให้กระบวนการคืนเงินแก่ผู้เสียหายรวดเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันสำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อกำหนดกลไกให้ฝ่ายบริหารสามารถนำเงินไปคืนแก่ผู้เสียหายให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย ตลอดจนได้เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว รองรับการเข้ารับการประเมินมาตรฐานสากลในปี พ.ศ. 2570 ขณะนี้ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา พร้อมได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติต่างๆ ของผู้มีหน้าที่รายงานให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการการกำกับดูแลผู้มีหน้าที่รายงานธุรกรรมอันเป็นการยกระดับมาตรการป้องกันระบบการเงินของประเทศไทยไม่ให้ถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือก่ออาชญากรรมด้านอื่นๆ ด้วย

5. ปรับปรุงการบริหารงานของสำนักงาน ปปง. และบูรณาการในการทำงานกับภาคีเครือข่ายเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ได้นำระบบเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน การจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานทั้งด้านกำกับตรวจสอบผู้มีหน้าที่รายงาน ด้านการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพยสินและการดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงิน ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพย์สิน เพื่อกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีทักษะที่เหมาะสมโดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น การกำหนดช่องทางการยื่นคำร้องเพื่อขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการติดต่อกับสำนักงาน ปปง. เป็นต้น

อีกทั้ง ยังได้ร่วมจัดทำ MOU กับสำนักงาน ป.ป.ท. และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ เพื่อประสานการดำเนินคดี และช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้จะมีการลงนามเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ ระหว่างสำนักงาน ปปง. ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ได้จัดทำMOU กับต่างประเทศ เช่น กัวเตมาลา ติมอร์เลสเต และมัลดีฟ เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองทางการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการฟอกเงิน ตลอดจนประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่เป็นผู้มีหน้าที่รายงานธุรกรรมและภาคประชาชน เพื่อสร้างเครือข่ายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การเผยแพร่ความรู้ สร้างความตระหนักไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงและการฟอกเงิน  

นายเทพสุฯ เลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน ปปง. ในปี 2567 ที่ผ่านมา และยืนยันว่าทุกภารกิจสำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม และในปีที่ 26 สำนักงาน ปปง. จะยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินงานทุกด้านอย่างแข็งขันและทุ่มเท เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม สร้างความมั่นคงปลอดภัยแก่ระบบการเงิน เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติและประชาชนสืบไป


กำลังโหลดความคิดเห็น