xs
xsm
sm
md
lg

ก.ต.โยกย้ายตุลาการ ‘อดิศักดิ์’ขึ้นปธ.ศาลอุธรณ์‘สุชาติ’นั่ง อธ.ศาลอาญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายอุเทน ศิริสมรรถการ อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 1 ไปนั่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง
ก.ต.โยกย้ายตุลาการ 299 ตำเเหน่ง ‘อดิศักดิ์’ขึ้นปธ.ศาลอุทธรณ์ ‘ ‘สุชาติ’นั่งอธ.ศาลอาญา ‘ธานี’เลขาศาลยุติธรรม โอนไปเป็นอธิบดีศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อินทิรา’นั่งรอง ปธ.อุทธรณ์ ‘สุรินทร์’ขึ้นปธ.อุทธรณ์ ภ.4ส่วน’บิ๊กศาล’ลวนลามเจ้าหน้าที่สาวยังต้องรอผลสอบให้เสร็จสิ้น

นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศายุติธรรม(ก.ต.) ครั้งที่ 20/2567 มีวาระการพิจารณาเเต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาตามบัญชีรายชื่อของสำนักงานศาลยุติธรรมโดย ก.ต.เห็นชอบเเต่งตั้งโยกย้าย ระดับชั้น4 สับเปลี่ยนตำเเหน่งบัญชี 3 (ผู้พิพากษาศาลฎีกา-อธิบดีผู้พิพากษา-ประธานเเผนกในศาลอุทธรณ์-ประธานศาลอุทธรณ์ภาค-หัวหน้าอุทธรณ์-ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์) 230 ตำเเหน่ง เเละบัญชี 3 เพิ่มเติมอีก 8 ตำเเหน่งเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา

โดยแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาเเละ ตำเเหน่งสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

1.นายอุเทน ศิริสมรรถการ อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 1 ไปนั่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคดีที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจ เช่น คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามป.อาญา ความผิดทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรือความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ, คดีอาญาที่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดฐานฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นในการป้องกันปราบปรามการทุจริตฯ, คดีเรียก รับ ทรัพย์หรือประโยชน์ ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้อิทธิพล จูงใจหรือข่มขืนใจ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ หรือไม่กระทำการ ตามกฎหมายอาญา, คดีฟ้องลงโทษบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ, คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ อันเป็นเท็จ

2. ให้นายตุลยวัต พรหมพันธ์ใจ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ไปนั่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

นายสุชาติ สุนทรีเกษม ผู้พิพากษาศาลฎีกาไปนั่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
3. ให้นายสุชาติ สุนทรีเกษม ผู้พิพากษาศาลฎีกาไปนั่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งถือว่าได้รับความไว้วางใจให้ไปนั่งบริหารศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นใหญ่ที่สุดของประเทศ มีเขตอำนาจครอบคลุมคดีอาญาที่มีอัตราโทษเกิน 3 ปี ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร 16 เขต รวมถึงคดีจากกองกองปราบปรามที่มีอำนาจจับกุมได้ทั่วประเทศ เเละศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงแต่คดีที่เกิดขึ้นนอกเขตศาลอาญา ที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาก็ได้ นอกจากนี้คดีดังเเละคดีอุกฉกรรจ์หลายคดีในต่างจังหวัดก็โอนมาพิจารณาที่ศาลอาญาหลายคดีนอกจากนี้ศาลอาญา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทยด้วย

นายอดิศักดิ์ ตันติวงศ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา ไปเป็นประธานศาลอุทธรณ์
4. นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไปเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา นายจีระพัฒน์ เป็นอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม สมัยน.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม เป็นประธานศาลฎีกา มีผลงานช่วยขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกาในการช่วยเหลือประชาชนในส่วนคดีที่ถูกฉ้อโกงเเละยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงการบริโภควิถีใหม่โดยการตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย จากการซื้อขายสินค้าบริการทางออนไลน์ ซึ่งประชาชนสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านระบบ e-Filing

นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม โอนไปเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้
5.นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม โอนกลับไปเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นายธานี เป็นผู้พิพากษานักวิชาการมีลูกศิษย์ในวงการกฎหมายให้ความเคารพนับถือ เเต่งตำรากฎหมายขายดีมีคุณภาพหลายเล่ม โดยศาลอาญากรุงเทพใต้มีอำนาจศาลครอบคลุมพื้นที่ 7 เขตในกรุงเทพซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ

6. น.ส.อินทิรา ฉิวรัมย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 1 ไปนั่งรองประธานศาลอุทธรณ์
ขณะที่เป็นอธิบดีศาลเเรงงานภาค1 มีผลงานเดินสายลงพื้นที่จัดกิจกรรมอมรมเพิ่มศักยภาพบุคลากรของศาลแรงงานในการบริการประชาชน เป็นเจ้าภาพประชุมสัมมนาผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานทั่วประเทศ ครั้งที่ 9 เปิดมหกรรมไกล่เกลี่ยทั่วไทยยุติข้อพิพาทแรงงาน สู่กระบวนการยุติธรรมทางเลือก จัดศาลเเรงงานเคลื่อนที่อำนวยความยุติธรรมประชาชน ผ่านหลักสูตรระดับสูง ทั้ง วปอ.55 และ บยส.24 

7.นายเอื้อน ขุนเเก้ว หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ไปเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1นายเอื้อน เป็นผู้พิพากษา สายวิชาการชื่อดังในเนติฯสอบได้อันดับ 1 ทั้งเนติฯ และผู้ช่วยฯ รุ่น 32 มีผลงานเขียนตำราหลายเล่ม โดดเด่นในกฎหมายล้มละลาย ลูกศิษย์ให้ความชื่นชอบ

8.นายเจริญวิทย์ เกื้อทิพย์ หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ไปเป็น ประธานเเผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.)มีผลงานโดดเด่นสมัยเป็นรองอธิบดีศาลอาญา ในการประสานงานกับสื่อมวลชนอธิบายระเบียบกฎเกณฑ์ได้ชัดเจน

นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไปเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา
9.นายนาวี สกุลวงศ์ธนา หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ(เเรงงาน) ไปเป็น อธิบดีผู้พิพากษาศาลเเรงงานภาค 4 นายนาวีมีบทบาทเกี่ยวกับนโยบายเรื่องความยุติธรรมไม่มีวันหยุดที่มีการชูสิทธิการประกันตัว ของผู้ที่ไม่มีเงินประกันเเละเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม 

10.นายเจริญ ดวงสุวรรณ์ หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปเป็น ประธานเเผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 9

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบัญชีโยกย้ายเเต่งตั้ง ที่ ก.ต.พิจารณาเห็นชอบในวันนี้ไม่ปรากฎมีรายชื่อของ อธิบดีผู้พิพากษาศาลที่ถูกกล่าวหาลวนลามเจ้าหน้าที่สาว

มีรายงานว่าอธิบดีผู้พิพากษาคนดังกล่าวถูกเเขวนไว้ ยังไม่พิจารณาอนุญาตให้ไปดำรงตำเเหน่งใดจนกว่าผลการสอบสวนจะเสร็จสิ้น

ความคืบหน้าการสอบสวนข้อเท็จจริง รายงานข่าวเเจ้งว่า อยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริง ยังไม่มีการเรียกอธิบดีผู้พิพากษาไปเเจ้งข้อกล่าวหาทางวินัยเเต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมก.ต. ครั้งที่ 19 /2567 มีวาระการพิจารณาเเต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาตามบัญชีรายชื่อของสำนักงานศาลยุติธรรมโดย ก.ต.เห็นชอบเเต่งตั้งโยกย้าย ระดับชั้น4 บัญชี 2 จำนวน 61 ตำเเหน่ง

โดยมีผู้พิพากษาเเละตำเเหน่งสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

1.นายอดิศักดิ์ ตันติวงศ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา ไปเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นตำเเหน่งอาวุโสเบอร์ 2 รองจากประธานศาลฎีกา ถือเป็นศาลสูงถัดจากศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อยู่ในเขตอำนาจในเขตกรุงเทพ 20 ศาล กับมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอื่นในเขตท้องที่ที่มิได้อยู่ในเขตศาลอุทธรณ์ภาค เว้นแต่คดีที่อยู่นอกเขตศาลอุทธรณ์จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้ แต่คดีต้องได้โอนมาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

นางมัณทรี อุชชิน ประธานเเผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา คนที่ 1
2.นางมัณทรี อุชชิน ประธานเเผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 เป็นรองประธานศาลฎีกา คนที่ 1

3.นายวิชาญ ศิริเศรษฐ์ ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 2

4.นายวิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 3

5.นายเศกสิทธิ์ สุขใจ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 4

6.นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษไปเป็น รองประธานศาลฎีกาคนที่ 5

7.นายรังสรรค์ โรจน์ชีวิน ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไปเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่ 6

8.นายศุภมิตร บุญประสงค์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไปเป็น ประธานเเผนกคดีเลือกตั้งฯในศาลฎีกา

น.ส.อินทิรา ฉิวรัมย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 1 ไปนั่งรองประธานศาลอุทธรณ์
9. นายอรพงษ์ ศิริกานต์นนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ไปเป็นประธานเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็นศาลที่มีบทบาทสำคัญ พิจารณาพิพากษาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งกรณีบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนด้วย โดยการพิจารณาคดีจะเป็นระบบไต่สวน ต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไป โดยมีองค์คณะในคดี 9 คนมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

10 นาย สุรินทร์ ชลพัฒนา หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ไปเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในสมัยเป็นเลขาธิการประธานศาลฎีกา ในยุคนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ได้ขับเคลื่อน นโยบายที่เกี่ยวกับสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาจำเลย เรียกว่าความยุติธรรมไม่มีวันหยุด ที่ส่งผลให้สามารถมีการยื่นขอประกันตัวได้ทุกวันทุกเวลา มีความสามารถการบริหารจนเป็นที่ไว้ใจ ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นช่วงอีสานตอนบนครอบคลุมพื้นที่ 18 ศาล 12 จังหวัด ถือว่าได้กลับถิ่นเก่าโดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยมีสำนักงานอยู่ที่ขอนแก่นเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน
กำลังโหลดความคิดเห็น